ฟุตบอลโลก “ไทย-อินโดนีเซีย” 25 มี.ค. นี้ จะจัดการแข่งขันอย่างไร ในยุคโควิด-19

หนึ่งคำถามของแฟนฟุตบอลทีมชาติไทย ก็คือ ฟุตบอลโลก 2022 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ จะจัดการแข่งขันได้หรือไม่ หลังจากที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะจัดการแข่งขันได้หรือไม่   

ทีมข่าวไทยรัฐสปอร์ต จะมาวิเคราะห์บนพื้นฐานและหลักการความจริงว่า การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ระหว่างไทยกับ อินโดนีเซีย จะสามารถจัดการแข่งขันได้หรือไม่ และถ้าจะจัดการแข่งขันให้เสร็จสิ้นทันในเดือนมิถุนายน 2564 ตามที่ฟีฟ่าให้เดดไลน์มานั้น จะมีวิธีการดำเนินการอย่างไร 

ฟีฟ่าและเอเอฟซี ณ ปัจจุบัน ยังไม่ยกเลิกหรือเลื่อนโปรแกรมคู่ใดคู่หนึ่งออกไป เนื่องจากกำหนดให้การแข่งขันฟุตบอลโลก แต่ละชาติสามารถตกลงกันเองได้ว่า จะสามารถแข่งขันได้หรือไม่ โดยอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า ทุกกลุ่ม จะต้องเสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายน และในเดือนมิถุนายนจะต้องได้ข้อสรุปว่า 12 ทีมที่ผ่านเข้ารอบในโซนเอเชีย จะมีใครบ้าง 

กรณีของเกมในกลุ่มของทีมชาติไทยก็เช่นเดียวกัน ทางฟีฟ่าได้ให้อำนาจคู่แข่งขันในการตกลงกันว่าทั้งสองทีมพร้อมทำการแข่งขันหรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันต้องดูความพร้อมปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน 

การเดินทาง

ปัจจุบัน ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยจะต้องเข้ารับการกักตัว 14 วันตามมาตรการ หากพิจารณาจากปัจจัยการเดินทาง ต้องดูว่า ทีมชาติอินโดนีเซีย ในฐานะทีมเยือน พร้อมที่จะเข้ารับการกักตัว 14 วันหรือไม่  และโปรแกรมถัดไปที่ทีมชาติอินโดนีเซีย ต้องกลับไปเปิดบ้านเจอ ยูเออี ในอีก 5 วัน หลังวันที่ 25 มีนาคมนี้ นโยบายการเดินทางเข้าประเทศอินโดนีเซีย โดยที่ไม่ต้องกักตัว หรือนโยบายบับเบิล ได้หรือไม่

นโยบายประเทศไทย

ปัจจุบัน ราชมังคลากีฬาสถาน ยังคงปิดการใช้งานตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของรัฐบาล แต่หากสถานการณ์ดีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ จะสามารถเปิดใช้งานได้ตามปกติ 

ขณะที่นโยบายจัดการแข่งขันกีฬา หากสมาคมฯ สามารถจัดการแข่งขันไทยลีกได้ในเดือนกุมภาพันธ์ การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบคัดเลือก ก็สามารถจัดได้เช่นกัน ในมาตรฐานเดียวกัน 

“บับเบิล ควอแรนทีน”

ปัจจุบัน นโยบาย “บับเบิล ควอแรนทีน” ได้นำมาใช้กับการแข่งขันกีฬาแบดมินตัน ที่มีนักกีฬากว่า 20 ชาติทั่วโลก เข้าแข่งขัน โดยใช้รูปแบบคือ ให้นักกีฬาอยู่ภายในที่พักที่กำหนดให้ สามารถดำเนินการฝึกซ้อมได้  แต่ต้องไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงมาตรการอื่นๆ เช่น การตรวจเชื้อในระหว่างเข้าพัก โดย “บับเบิล ควอแรนทีน” ถูกนำมาใช้กับกีฬาฟุตบอลในการแข่งขัน “เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก 2020” ที่ประเทศกาตาร์ และได้รับผลตอบรับที่ดี 

หากมองในมุมประเทศไทย นโยบาย “บับเบิล ควอแรนทีน” หากจะนำมาใช้จัดการแข่งขันครั้งนี้ น่าจะสามารถทำได้ไม่ยาก เพราะผู้ที่เดินทางมานั้น มาจากประเทศเดียว คือ อินโดนีเซีย การควบคุมอาจจะเป็นไปได้ง่ายกว่า โดยนักกีฬาจะต้องอยู่ภายในโรงเเรม และเดินทางไปได้แค่สนามซ้อมเท่านั้น อีกทั้งต้องอยู่ใน “บับเบิล” ตามช่วงเวลาที่ภาครัฐกำหนด (7-14 วัน)  

ส่วนการตรวจเชื้อ จะต้องตรวจเชื้อนักกีฬาตามเงื่อนไขที่ ศบค.กำหนด  อาจจะทุกๆ 3 วัน หรือ 5 วัน จนครบกำหนด แล้วแต่นโยบายในช่วงเวลานั้น   

แฟนบอล 

หากในเดือนมีนาคม สามารถจัดแข่งขันได้ คาดว่าทางสมาคมฯ จะต้องจัดการแข่งขันแบบปิด ไม่ให้แฟนกีฬาเข้าชมตามมาตรการ แต่ถ้าหากสถานการณ์ดีขึ้น ก็อาจจะสามารถเสนอจัดการแข่งขัน โดยให้แฟนฟุตบอลเข้าชมได้ตามสัดส่วนที่ ศบค. กำหนด   

สนามกลาง ทางเลือกสุดท้าย 

สุดท้าย หากไม่สามารถแข่งขันได้จริงๆ ทีมชาติไทย อาจจะต้องเลื่อนโปรแกรมกับอินโดนีเซีย ในเดือนมีนาคม ซึ่งทางเลือกสุดท้าย คือ การแข่งขันในสนามเป็นกลางในเดือนมิถุนายน ซึ่ง ณ เวลานั้นก็มีทางเลือกที่สร้างความได้เปรียบให้ทีมชาติไทย นั่นคือ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพแข่งขันเสียเอง

แต่ทั้งนี้ สำคัญคือ หากเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ภาครัฐจะเห็นด้วยหรือไม่ และตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องกักตัว 14 วัน  แต่ละชาติที่เข้าร่วมแข่งขันจะเห็นว่าอย่างไร    

จากนี้ ต้องจับตานโยบายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น และร่วมลุ้นว่า เกมระหว่างทีมชาติไทย กับ อินโดนีเซีย จะเกิดขึ้นตามกำหนด คือ 25 มกราคมนี้ หรือไม่