Goal/Getty
ใช้สัตว์ก็มี ใช้สีก็มา – โกล เผยฉายาแท้จริงของ 32 ทีมชาติที่จะลงดวลกันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย เดือนพฤศจิกายนนี้ที่กาตาร์
เวทีใหญ่ที่สุดของโลกลูกหนังเดินทางมาถึงอีกครั้งในปีนี้ ฟุตบอล, ผู้คน ไปจนถึงศิลปะวัฒนธรรม จะข้ามน้ำข้ามทะเลจากทั่วโลกมาพบกัน ในช่วงเวลาหนึ่งเดือนแสนพิเศษ เมื่อ 32 ทีมชาติจะดวลกันเพื่อไปให้ถึงจุดสูงสุดของโลก
ทีมฟุตบอลเกือบทุกทีมในโลกล้วนมีฉายาที่เผยถึงรากเหง้าและตัวตน ฉายาเหล่านี้มักมีเรื่องราวเบื้องหลังที่เชื่อมโยงหัวใจของทั้งทีมและแฟนบอลเอาไว้ เหล่าผู้บรรยายและสื่อมวลชนต่างรับเอาฉายาเหล่านี้ไปใช้เรียกขาน
โกล รวบรวมฉายาและที่มาของทั้ง 32 ทีมชาติในฟุตบอลโลก 2022 เอาไว้ที่นี่
-
Getty
ออสเตรเลีย – ซ็อคเกอร์รูส์
โทนี ฮอร์สเตด ผู้สื่อข่าวจากซิดนีย์ คือคนแรกที่จับเอาคำว่า soccer และ kangaroo(จิงโจ้) มาผสมกันแล้วใช้เรียกขานทีมชาติออสเตรเลีย ตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และแพร่หลายจนเป็นที่เข้าใจกันทั่วในฟุตบอลโลก 1974 เป็นต้นมา
-
อิหร่าน – ทีม เมลลี
แม้จะพยายามสร้างฉายาใหม่ๆ กันมาหลายรอบ ไม่ว่าจะเป็น “ชีราน เอ อิราน(สิงโตอิหร่าน)”, “ใจสิงห์”, “เจ้าชายเปอร์เซีย” “ชีตาห์” แต่สุดท้าย “ทีม เมลลี” ที่แปลว่า ‘ทีมชาติ’ ในภาษาเปอร์เซีย ก็ยังเป็นชื่อที่คุ้นเคยที่สุดอยู่เหมือนเดิม
-
ญี่ปุ่น – ซามูไร บลู
สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่นเริ่มใช้ชื่อ ซามูไร บลู เป็นฉายาของทีมชาติอย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงปลายปี 2009 ตามสีเสื้อทีมเหย้า ไม่ได้ผูกโยงกับ ‘ยาตะการาสุ’ หรือ กาสามขา สัตว์อัศจรรย์ที่อยู่บนตราสัญลักษณ์
-
Getty
กาตาร์ – อัล อันนาบีย์
เจ้าภาพหน้าใหม่ในครั้งนี้มีฉายา “อัล อันนาบีย์” ที่แปลว่าสีแดงเข้ม, แดงชาด ในภาษาอาหรับ ตามสีธงชาติของพวกเขา แต่สื่อมวลชนทั่วโลกดูจะถนัดใช้ “เดอะ มารูน(The Maroon)” ที่แปลว่าสีแดงเข้มในภาษาอังกฤษเสียมากกว่า
-
ซาอุดิอาระเบีย – อัล อัคดาร
แม้จะชุดเหย้าจะสีขาว แต่ฉายาที่ได้รับความนิยมสูงสุดของทีมชาติซาอุดิอาระเบียนั้นคือ “อัล อัคดาร” ที่แปลว่า ‘สีเขียว’ ตามสีธงชาติแทน นอกจากนี้ยังมี “อัสซุกูร อัล อราบิยาห์(เหยี่ยวอาหรับ)” และ “อัสซุกูร อัล อัคดาร(เหยี่ยวเขียว)” ที่สื่อไทยรับมาแปลงเป็น ‘เหยี่ยวมรกต’ และใช้กันมานาน
-
Goal
เกาหลีใต้ – นักรบแทกุก
ย้อนกลับไปต้นยุค 90 ชาวเกาหลีใต้เรียกทีมตัวเองว่าปีศาจแดง ตามสีเสื้อทีมเหย้า ก่อนจะมีการปรับเสื้อเหย้าเป็นสีขาวในปี 1994 และเริ่มชูฉายา “แทกุก จอนซา(นักรบแทกุก)” ซึ่งแม้เสื้อเหย้าจะกลับไปใช้สีแดงในปีต่อมา แต่นักรบแทกุกก็กลายเป็นฉายาที่ติดปากตั้งแต่นั้น หมุนมาช่วงต้นยุค 2000 สมาคมฟุตบอลเกาหลีใต้เปลี่ยนมาใช้ตราสัญลักษณ์เสือโคร่งที่กลายเป็นภาพจำจนทุกวันนี้ แต่ถึงอย่างนั้น ฉายา “เอเชีย โฮรังกี(เสือโคร่งเอเชีย)” ก็ยังเบียดความนิยมของ “นักรบแทกุก” ไม่ลง
-
ISSOUF SANOGO/Getty
แคเมอรูน – สิงโตทรหด
ทีมชาติแคเมอรูนใช้ฉายาว่า Les Lions Indomptables เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลว่า ‘สิงโตทรหด’
-
EPA/RUNGROJ YONGRIT
กานา – ดาวดำ
ทีมชาติกานาใช้ดาวดำบนธงชาติของพวกเขามาเป็นฉายาแบบตรง ๆ เข้าใจง่าย
-
Getty
โมร็อคโค – สิงโตแอตลาส
สิงโตแอตลาส มีอีกชื่อว่า สิงโตบาร์บารี เป็นสัตว์ที่ทีมชาติโมร็อคโคใช้เป็นสัญลักษณ์ของทีมมายาวนาน แต่น่าเสียดายที่สิงโตพันธุ์นี้ไม่หลงเหลืออยู่ในธรรมชาติแล้ว มีอยู่ในสวนสัตว์เท่านั้น เพราะถูกล่าอย่างหนักตั้งแต่สมัยยุคอาวุธปืนเฟื่องฟู
-
Getty
เซเนกัล – สิงโตแห่งเตรังก้า
นับตั้งแต่แจ้งเกิดในฟุตบอลโลก 2002 เซเนกัลก็เป็นที่จดจำในระดับนานาชาติทันที แม้หลังจากนั้นจะแทบมาไม่ถึงฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกเลยก็ตาม ส่วนฉายานั้นพวกเขาเลือกใช้สัตว์เจ้าป่าคล้ายชาติแอฟริกันอีกหลายชาติ ส่วน ‘Teranga’ นั้นเป็นภาษาถิ่นที่มีความหมายคร่าวๆ ว่า ‘แดนมิตรภาพ’
-
ตูนิเซีย – อินทรีแห่งคาร์เธจ
คาร์เธจ(Carthage)คือชุมชนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณมากมาย ทีมชาติตูนิเซียเลือกใช้นกอินทรีหัวล้านเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว และฉายาของพวกเขา
-
แคนาดา – เดอะ เรดส์
ทีมชาติแคนาดาเลือกใช้สีแดงของใบเมเปิลในธงชาติมาเป็นทั้งสีเสื้อชุดเหย้า และฉายาของทีม
-
Getty
คอสตา ริก้า – โลส ติโกส
คอสตา ริก้า สามารถเรียกแบบย่อ ๆ ในภาษาสเปนว่า ‘ติโกส’ ซึ่งก็กลายมาเป็นฉายาของทีมชาติไปด้วย นอกจากนี้ยังมี “ลา เซเล(คำย่อของคำว่า ทีมชาติ)” และ “ลา ตริโกลอร์(สามสี)” อีกสองฉายาที่นิยมใช้กัน
-
Getty
เม็กซิโก – เอล ไตร
เม็กซิโกเป็นอีกชาติที่ธงชาติมีสามสี และใช้คำว่า ‘สามสี’ มาเป็นฉายาตรง ๆ
-
Agencia Uno
อาร์เจนตินา – อัลบิเซเลสเต้
Albi แปลว่าสีขาว Celeste แปลว่าสีท้องฟ้า ฉายา ‘ฟ้าขาว’ ของทีมชาติอาร์เจนตินาจึงมาจากสีธงชาติและสีเสื้อชุดเหย้าแบบตรง ๆ นั่นเอง
-
Getty
บราซิล – เซเลเซา
Seleção ในภาษาโปรตุกีส แปลตรง ๆ เทียบกับภาษาอังกฤษได้ว่า ‘ผู้ถูกเลือก’ แต่ในบริบทของชาวบราซิล คำนี้จะแปลว่าทีมฟุตบอล อันที่จริงพวกเขาเรียกทีมฟุตบอลทุกทีมว่า Seleção แต่ถ้าเป็นทีมชาติก็จะเรียกว่า A Seleção ที่เหมือนการเติม The ไปข้างหน้าในภาษาอังกฤษ
-
เอกวาดอร์ – ลา ตริ
เป็นอีกทีมในสมาคมชาวสามสี สำหรับทีมชาติเอกวาดอร์ ฉายา “La Tri” ของพวกเขานั้นก็หมายถึงสามสีนั่นเอง
-
อุรุกวัย – เซเลสเต้
ทีมชาติอุรุกวัยใช้ฉายาตรงไปตรงมาว่า “สีฟ้า” ส่วนสไตล์การเล่นถึงลูกถึงคนของพวกเขาในยุคหนึ่งนั้นทำให้ได้ฉายา ‘จอมโหด’ จากสื่อไทยไปด้วย
-
เบลเยียม – ปีศาจแดง
ย้อนกลับไปในปี 1905 ผู้สื่อขาวเนเธอร์แลนด์เขียนบรรยายถึงผู้เล่นเบลเยียมสามคนว่า “เล่นอย่างกับปีศาจ” บวกกับชุดเหย้าสีแดง คำว่า ‘ปีศาจแดง’ เลยกลายมาเป็นฉายาที่ชาวเบลเยียมใช้เรียกขานทีมชาติของพวกเขาตั้งแต่นั้น ในขณะที่เรียกตัวเองว่า 1985 ซึ่งเป็นปีก่อตั้งของสมาคมฟุตบอลเบลเยียม
-
Sanjin Strukić/Pixsell
โครเอเชีย – ตาหมากรุก
ฉายาของทีมชาติโครเอเชียก็คือ Kockasti หรือ Chequered ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่า ‘ตาหมากรุก’ ซึ่งเป็นลวดลายธงชาติของพวกเขานั่นเอง
-
เดนมาร์ก – เดอ เริด-ฮวีด
ฉายาของทีมชาติเดนมาร์กในภาษาแดนิชคือ De Rød-Hvide(เดอ เริด-ฮวีด) ที่แปลตรง ๆ ว่า แดง-ขาว ตามสีธงชาติของพวกเขา
-
อังกฤษ – ทรีไลออนส์
สิงโตสามตัวบนโลโก้คือที่มาของฉายาทีมชาติอังกฤษ คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับพวกเขาตอนที่คว้าแชมป์โลกในปี 1966 ‘สิงโตคำราม’ จึงกลายมาเป็นฉายาในที่สุด
-
ฝรั่งเศส – เลส์ เบลอส์
ไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว ทีมชาติฝรั่งเศสเรียกตัวเองด้วยฉายาที่แปลว่า ‘สีน้ำเงิน’ มาอย่างยาวนาน
-
FIFA/ฟุตบอล
เยอรมัน – ดี มานน์ชาฟต์
ฟุตบอลเยอรมันคือทีมเวิร์ค ฉายาที่พวกเขาใช้เรียกทีมชาติก็คือคำว่า Die Mannschaft ที่แปลว่าตรง ๆ ว่า ‘ทีมงาน’ นอกจากนี้ยังมี “Nationalelf” ที่แปลเป็นอังกฤษได้ว่า National Eleven เป็นอีกฉายาที่นิยมเรียกกัน
-
PROSHOTS
เนเธอร์แลนด์ส – ออรันเย
นอกจาก Oranje ที่แปลว่าสีส้มแล้ว ทีมชาติเนเธอร์แลนด์สยังมีฉายาอื่นๆ อย่าง The Flying Dutchman หรือ Clockwork Orange อีกด้วย
-
Getty
โปแลนด์ – เบียโว-แชร์โวนี
ฉายาของทีมชาติโปแลนด์คือ Biało-czerwoni(เบียโว-แชร์โวนี) ดูยาว ๆ แต่ที่จริงแค่แปลว่า ‘แดง-ขาว’ นอกจากนี้ยังมีอีกฉายาคือ Orły(ออร์วี)ซึ่งแปลว่า ‘นกอินทรี’ เป็นอันครบทุกส่วนในตราทีมชาติ
-
โปรตุเกส – โอส นาเวกาโดเรส
โปรตุเกสคือชาติที่มีประวัติศาสตร์ของการเดินเรือบุกเบิกแผ่นดินใหม่มานับร้อยปี ทำให้นอกจากฉายา “เซเลเซา” เหมือนชาติอื่นๆ ที่ใช้ภาษาโปรตุกีส พวกเขายังมี Os Navegadores(โอส นาเวกาโดเรส) ที่แปลว่า ‘คนเบิกทาง’ เป็นอีกฉายาหนึ่งด้วย
-
Getty
เซอร์เบีย – ออร์โลวี
ทีมชาติเซอร์เบียเป็นอีกทีมที่นำองค์ประกอบของทีมชาติมาเป็นฉายา โดย Орлови ที่แปลว่า ‘นกอินทรี’ นั้นมีที่มาจากนกอินทรีสองหัวที่อยู่ในธงชาติ
-
Goal
สเปน – ลา โรฆา
แม้ La Roja(ลา โรฆา) จะแปลออกมาตรง ๆ แค่ว่า ‘สีแดง’ ไม่ดุเดือดอย่างฉายาไทยที่เรียกกัน “กระทิงดุ” แต่สเปนยังมีอีกฉายาที่ดุเดือดขึ้นมาอีกนิดว่า La Furia Roja(ลา ฟูริยา โรฆา) ที่พอจะแปลได้ว่า “แดงเดือด”
-
สวิตเซอร์แลนด์ – รอสโซโครชิอาติ
ชาวสวิสเรียกทีมชาติของพวกเขาสั้น ๆ ว่า “นาติ(Nati)” ที่ย่นมาจาก National Team นอกจากนี้ยังมีอีกฉายาว่า “Rossocrociati(รอสโซโครชิอาติ)” ที่แปลว่า “กางเขนแดง” ซึ่งอยู่บนธงชาตินั่นเอง
-
Getty
เวลส์ – เดอะ ดราก้อนส์
เมื่อมีมังกรอยู่บนทั้งธงชาติและตราสัญลักษณ์ทีม ฉายาของเวลส์นั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก The Dragons
-
Getty
สหรัฐอเมริกา – สตาร์ สไตรปส์
แม้จะมีอีกฉายาว่า The Yanks แต่ Star Stripes ซึ่งหมายความถึง “ธงดาวริ้ว” หรือธงชาติสหรัฐอเมริกา ก็ยังเป็นฉายาหลักของทีมลุงแซม