ฟุตบอลโลก 2026 เผย 16 สนาม 3 เจ้าภาพร่วม มีสังเวียน “หัตถ์พระเจ้า-ซูเปอร์โบวล์”

วันที่ 17 มิถุนายน 2565 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประกาศรายชื่อเมืองและสนามแข่งขันที่ สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก และ แคนาดา จะใช้รองรับการเป็นภาพเจ้าร่วม ศึกฟุตบอลโลก 2026 รอบสุดท้าย รวมทั้งสิ้น 16 สังเวียน ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่มีการเพิ่มทีมเป็น 48 ทีม หลังจากที่ฟาดแข้งกัน 32 ทีม มาตั้งแต่ปี 1998 ที่ประเทศฝรั่งเศส และเป็นครั้งแรกที่มีเจ้าภาพร่วม 3 ชาติด้วย

16 เมืองและสนามเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2026 ของ สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก และ แคนาดา

สหรัฐอเมริกา (11 สนาม) *ทุกสนามเป็นรังเหย้าของทีมในศึกอเมริกันฟุตบอล เอ็นเอฟแอล

– ลอสแอนเจลิส : โซไฟ สเตเดียม (สังเวียนศึกซูเปอร์โบวล์ ครั้งที่ 56 ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์)

– นิวยอร์ก/นิวเจอร์ซีย์ : เมตไลฟ์ สเตเดียม

– ดัลลัส : เอทีแอนด์ที สเตเดียม

– แคนซัส ซิตี้ : แอร์โรว์เฮด สเตเดียม

– ฮุสตัน : เอ็นอาร์จี สเตเดียม

– แอตแลนตา : เมอร์เซเดส-เบนซ์ สเตเดียม

– ฟิลาเดลเฟีย : ลินคอล์น ไฟแนนเชียล ฟิลด์

– ซีแอตเทิล : ลูเมน ฟิลด์

– ซานฟรานซิสโก : ลีวายส์ สเตเดียม

– บอสตัน : ยิลเลตต์ สเตเดียม

– ไมอามี : ฮาร์ด ร็อก สเตเดียม

*หมายเหตุ – พาซาเดนา โรส โบวล์ ในนครลอสแอนเจลิส สังเวียนฟุตบอลโลก 1994 รอบชิงชนะเลิศ ไม่อยู่ในรายชื่อ 11 สนามเจ้าภาพของ สหรัฐอเมริกา ในฟุตบอลโลก 2026

เม็กซิโก (3 สนาม)

– เม็กซิโก ซิตี้ : เอสตาดิโอ อัซเตกา (สังเวียนที่เกิดตำนาน “หัตถ์พระเจ้า” ซึ่ง ดีเอโก มาราโดนา ใช้แขนซ้ายทำประตูทีมชาติอังกฤษ ในฟุตบอลโลก 1986 รอบ 8 ทีม ซึ่ง ทีมชาติอาร์เจนตินา ชนะไปได้ 2-1 ก่อนก้าวขึ้นไปคว้าแชมป์ที่สนามแห่งนี้เช่นกัน)

– มอนเตอร์เรย์ : เอสตาดิโอ บีบีวีเอ

– กวาดาลาฮารา : เอสตาดิโอ อาครอน

*หมายเหตุ – เอสตาดิโอ อัซเตกา ถือเป็นสนามแห่งแรกของโลกที่ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 3 สมัย (ปี 1970, 1986 และ 2026)

แคนาดา (2 สนาม)

– แวนคูเวอร์ : บีซี เพลส (สังเวียนฟุตบอลโลกหญิง 2015 รอบชิงชนะเลิศ สหรัฐอเมริกา ชนะ ญี่ปุ่น 5-2)

– โตรอนโต : บีเอ็มโอ ฟิลด์