5 โอลิมปิก ที่เศรษฐกิจชาติเจ้าภาพพังพินาศ จนน่าศึกษาและเป็นบทเรียน – Sanook

เมื่อพูดถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ประเทศเจ้าภาพย่อมกลายเป็นประเด็นและจุดสนใจ ไปตลอดทั้งการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นความประทับใจในพิธีการ หรือสภาพแวดล้อมโดยรวมของชาตินั้น ๆ ที่เปิดมาต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลก

แต่ในเวลาเดียวกัน การรับงานที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ต้องแลกมาด้วยความเสี่ยงที่ใหญ่ยิ่งไม่แพ้กัน หากบริหารงานได้ดี ก็เป็นประโยชน์ที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก แต่ถ้าจัดการได้เละเทะ ก็คงไม่อาจหลีกเลี่ยงแผลเป็นขนาดใหญ่ ที่ย้ำเตือนถึงความพังพินาศดังกล่าวไว้ตราบนานเท่านาน

วันนี้มาไล่ดู 5 ครั้งในประวัติศาสตร์ ที่ชาติเจ้าภาพเจ๊งไม่เป็นท่า จนน่านำมาเป็นบทเรียนว่า ทำไมมันถึงเละได้ขนาดนี้กัน

ริโอ 2016

แม้จะเป็นเจ้าภาพของสองมหกรรมกีฬาระดับโลก อย่าง ฟุตบอลโลก 2014 กับ โอลิมปิกฤดูร้อน 2016 ในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ดูเหมือนบทเรียนที่มีนั้น ก็ไม่ได้ช่วยให้นครริโอ เดอ จาเนโร มีความพร้อมขึ้นมาสักเท่าไหร่เลย

ประเด็นสำคัญที่สุด คือการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขัน ทั้งการสร้างสนามฟุตบอลไว้ในเมืองมาเนาส์ ที่ต้องขนส่งอุปกรณ์ก่อสร้างผ่านแม่น้ำแอมะซอน และแทบไม่ได้ใช้งานอีกเลยหลังจบการแข่งขัน จนเกิดเป็นภาพของเก้าอี้ที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา



Photo : globoesporte.globo.com

เช่นกันกับอีกหลากหลายสนามการแข่งขัน ที่ถูกทิ้งร้างไปตามกาลเวลา รวมทั้งหมู่บ้านนักกีฬา ที่มีผู้เข้าพักอาศัยยังไม่ถึง 1 ใน 10 เลยด้วยซ้ำ

สภาพของเมืองเองก็ไม่ได้ดีขึ้นนัก ทั้งจากการพยายามลบภาพความจนของประชาชน ด้วยการตั้งป้ายบังบนทางด่วน รวมถึงไล่ที่ผู้คนให้ออกไปไกลจากบริเวณสถานที่จัดการแข่งขัน ไปจนถึงความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง ที่ยังคงสกปรกและเต็มไปด้วยขยะมากมาย ราวกับว่ามันไม่เคยได้รับการทำความสะอาดมาก่อนเลย

แม้โอลิมปิกครั้งนี้จะสร้างงานให้กับผู้คนในประเทศได้ แต่ก็ทำให้เมืองริโอนั้นมีหนี้มูลค่าสูงกว่า 690,000 ล้านบาท ที่ก็ยังคงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศมาจนถึงปัจจุบัน เช่นกันกับอัตราการปล้นทรัพย์และฆาตกรรม ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังโอลิมปิกจบลง

เอเธนส์ 2004

เมื่อโอลิมปิกกลับสู่บ้านเกิดที่แท้จริงอีกครั้ง มันก็ควรเป็นภาพที่คลาสสิก และน่าจดจำในสายตาของผู้คนทั้งโลก ทั้งกับมหกรรมกีฬาครั้งสำคัญนี้ และกับตัวของประเทศกรีซเอง

ทว่าในความเป็นจริงนั้น นี่คือความผิดพลาดในเชิงเศรษฐกิจที่ร้ายแรงมาก จนอาจต้องรอการแก้ไขไปอีกหลายทศวรรษเลยด้วยซ้ำ ก่อนที่มหกรรมกีฬาระดับโลกนี้ จะได้เดินทางกลับสู่กรุงเอเธนส์อีกครั้งหนึ่ง



Photo : www.businessinsider.com

นั่นเป็นเพราะกรีซคาดหวังและทุ่มทุนสร้างกับโอลิมปิกครั้งนี้อย่างมหาศาล ทั้งสนามกีฬา สนามบิน ถนนหนทาง และรถไฟฟ้าที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ภายใต้งบประมาณกว่า 350,000 ล้านบาท กับการเร่งทำงานวันละ 3 กะ เพื่อให้ทุกอย่างเสร็จสิ้นทันก่อนพิธีเปิดการแข่งขัน

แต่เมื่อไฟบนกระถางคบเพลิงได้ดับลง เช่นเดียวกับไฟแห่งความหวังจากสนามแข่งขันเหล่านี้ ที่ส่วนมากก็ยังคงถูกทิ้งร้างให้เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา พร้อมกับภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะของกรีซในปี 2010 ที่มีการอ้างถึงโอลิมปิกที่เอเธนส์ ว่ามีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤติดังกล่าวขึ้น ซึ่งในตอนนี้ก็ยังคงไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด ว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่

สิ่งเดียวที่แน่ชัด คือการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในครั้งนั้นมีความเสี่ยงที่สูงมาก โดยเฉพาะกับชาติขนาดเล็กแบบกรีซ ที่ได้รับบทเรียนราคาแพงไปเป็นที่เรียบร้อย

มอนทรีออล 1976

กาลครั้งหนี่ง แคนาดาเคยใช้งบประมาณไปมากกว่าที่วางไว้ถึง 720% เพียงเพื่อให้ทุกอย่างเสร็จทันกำหนดการเปิดการแข่งขัน จนทำให้สนามโอลิมปิกที่มีชื่อเล่นว่า “The Big O” โดนเปลี่ยนชื่อเป็น “The Big Owe” หรือการติดหนี้ขนาดมหึมา



Photo : www.thoughtco.com

นั่นเพราะแคนาดาติดหนี้มูลค่ากว่า 25,000 ล้านบาท ที่ต้องใช้เวลานานถึง 30 ปีในการชำระคืน และเกือบทำให้เมืองมอนทรีออลต้องถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว

ทั้งจากการประท้วงหยุดงานของแรงงานก่อสร้าง และมูลค่าของเหล็กที่พุ่งทะยานไปถึง 3 เท่า ประกอบกับประเด็นเงินทอนต่าง ๆ ที่คอยดึงดันกันจนงบประมาณบานปลายไปอย่างที่เห็น

แน่นอนว่าในปัจจุบัน นี่ยังคงเป็นแผลเป็นขนาดใหญ่ในใจของชาวเมืองมอนทรีออล ที่ต่อให้แคนาดาจะจัดโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1988 ที่เมืองคาลการี และในปี 2010 ที่เมืองแวนคูเวอร์ได้อย่างประสบความสำเร็จ (อย่างน้อยก็ดีกว่าในหนนั้น) ก็ยังคงไม่อาจลบล้างภาพทรงจำดังกล่าวไปได้เลย

โซชิ 2014

แม้จะเป็นเพียงโอลิมปิกฤดูหนาว แต่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย ใช้งบประมาณสูงถึง 1.6 ล้านล้านบาท ในปี 2014 ขึ้นไปรั้งอันดับโอลิมปิกที่แพงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ แซงหน้าโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่ง ปี 2008 ที่ใช้งบไปน้อยกว่าถึง 200,000 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่โอลิมปิกฤดูร้อนมีชนิดกีฬาแข่งขันมากกว่าถึง 3 เท่า



Photo : yourtravelitinerary.com

การใช้จ่ายงบที่สูงลิ่วขนาดนี้ ย่อมถูกตั้งคำถามจากสื่อนานาประเทศว่า เป็นการทุ่มทุนที่ฟุ่มเฟือยเกินไปหรือไม่ อีกทั้งการนำโอลิมปิกฤดูหนาวไปจัดในเมืองโซชิ ที่แทบไม่ได้สัมผัสอุณหภูมิติดลบเลยด้วยซ้ำ ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง

แม้เรื่องเศรษฐกิจอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่รัสเซียได้ผลดีหรือร้ายจากการจัดโอลิมปิกในครั้งนั้น แต่ภาพลักษณ์ที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลกนั้น กลับไม่ได้ดีขึ้นไปจากเดิมเลย ทั้งปัญหาด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งกรณีการโด๊ปร่างกายของบรรดานักกีฬา ที่ทำให้ธงรัสเซียถูกแบนจากการเข้าร่วมโอลิมปิกและการแข่งขันกีฬาชิงแชมป์โลกต่าง ๆ ในเวลาต่อมา

มิวนิค 1972

โอลิมปิกที่มิวนิค อาจไม่ได้มีผลกระทบด้านการเงินที่มากนัก โดยพวกเขาใช้งบประมาณไปเพียงแค่ราว 30,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5 เท่าเลยทีเดียว



Photo : www.timesofisrael.com

แต่เหตุการณ์สังหารหมู่ในหมู่บ้านนักกีฬา ที่พรากชีวิต 11 นักกีฬาและผู้ฝึกสอนชาวอิสราเอลไป ก็สร้างรอยด่างพร้อยขนาดใหญ่ให้กับการแข่งขันครั้งนี้ จนทำให้เกิดผลกระทบต่อการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ความสำเร็จของเมือง ลอส แอนเจลิส ในปี 1984 จะพาให้กระแสดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง

แน่นอนว่านี่คือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ฝ่ายจัดให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้นมาอีกครั้งได้

ส่วนด้านเศรษฐกิจของเยอรมนีนั้น ก็ไม่ได้รับผลกระทบที่มากมายนัก และสนามแข่งขันกับสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก ก็ยังคงถูกใช้งานมาอย่างต่อเนื่องจนถึงในปัจจุบัน

กับมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ระดับนี้ แน่นอนว่ามันคือการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง หากประสบความสำเร็จ มันก็เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน แต่หากล้มเหลว ผลกระทบที่ตามมาก็ย่อมสูงตามไปด้วย

และยิ่งกับกรณีศึกษาข้างต้นนี้ ก็ทำให้นานาประเทศเริ่มพิจารณาถึงการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโอลิมปิกกันอีกครั้ง เมื่อการตัดสินใจเช่นนั้นมีความเสี่ยงสูง ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ที่อาจเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ไปตลอดกาลได้ หลายสิ่งอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกเลยหลังจากวันนี้เป็นต้นไป

สุดท้ายนี้ นี่ก็คงเป็นตัวอย่างและบทเรียนสำคัญ ที่อาจถูกนำไปปรับใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ว่าถ้าบริหารจัดการงบประมาณจำนวนมากอย่างไม่เหมาะสม ปลายทางที่รออยู่นั้นจะเป็นอย่างไร