A statue of a discus thrower stands opposite the Athens' Panathenaic stadium or Kalimarmaro, where the first modern Olympic Games began, in Athens

ที่มาของภาพ, ฟุตบอล

มีตำนานเล่าขานกันว่า ย้อนไปปี 720 ก่อนคริสต์ศักราช นักกีฬาโอลิมปิกชื่อ ออร์ซิปอุส ทำผ้าเตี่ยวหลุดขณะแข่งวิ่งระยะ 180 เมตร แทนที่จะหยุด นักกีฬาผู้นี้วิ่งต่อแบบเปลือยและชนะการแข่งขันในที่สุด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติยอดนิยม โดยนักกีฬามักชะโลมตัวด้วยน้ำมันมะกอกจนมันไปทั้งตัว โดยมองกันว่าเป็นการบูชาเทพเจ้าซูสด้วย

“มีความคิดกันว่า ออร์ซิปอุส เป็นวีรบุรุษผู้คว้าชัยชนะ และก็เฉลิมฉลองการเปลือยกายของเขา” ซาราห์ บอนด์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยไอโอวาในสหรัฐอเมริกา กล่าว “การที่ชาวกรีกเปลือยกายกลายเป็นการรับรู้ถึงความเป็นกรีกและอารยธรรมของพวกเขา”

แต่ถึงคราวที่มีการรื้อฟื้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกขึ้นมาอีกครั้งในปี 1896 วัฒนธรรมเปลือยกายได้เปลี่ยนไปแล้ว และปัจจุบันนี้ เครื่องแต่งกายก็เป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันของนักกีฬา ไม่ว่าจะเป็นชุดว่ายน้ำที่ทำให้เคลื่อนไหวในน้ำได้รวดเร็วขึ้น หรือชุดแนบตัวของนักกีฬาประเภทต่าง ๆ ที่ทำให้ลู่ลมมากขึ้น

แม้ว่าไม่มีใครคิดจริงจังที่จะย้อนกลับไปให้นักกีฬาแข่งขันแบบเปลือยอีกครั้ง แต่มันก็ทำให้เราครุ่นคิดในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสมรรถภาพของนักกีฬา แบบแผนทางวัฒนธรรม เรื่องเพศ และเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย

หน้าที่ของเสื้อผ้า

ที่มาของภาพ, ฟุตบอล

ชุดที่นักกีฬาสมัยใหม่ใส่แทบจะเหมือนเปลือยอยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ชุดที่ทำจากเส้นใยสแปนเด็กซ์ โดยหลายชิ้นทำหน้าที่พื้นฐานสำคัญ ๆ อย่างการโอบรัดหน้าอกนักกีฬาหญิง หรือรัดกุมบริเวณเป้าของนักกีฬาชายเอาไว้

แต่ในอีกแง่หนึ่ง เครื่องแต่งกายก็ช่วยในเรื่องสมรรถภาพของนักกีฬาด้วย แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าช่วยได้มากเท่าไร

โอลกา ทรอยนิคอฟ ศาสตราจารย์ด้านวัสดุเพื่อการใช้งานและวิศวกรรมเพื่อมนุษย์จากมหาวิทยาลัยอาร์เอ็มไอที ที่เมืองเมลเบิร์นของออสเตรเลีย บอกว่า เครื่องแต่งกายทำให้ร่างกายนักกีฬาเพรียว ปรับทิศทางกล้ามเนื้อให้พร้อมทำงานที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น ยกตักอย่างเช่น เข็มขัดและชุดสแปนเด็กซ์ของนักกีฬายกน้ำหนักที่จะช่วยให้สร้างสมดุลให้กล้ามเนื้อนักกีฬาให้มุ่งพลังงานไปยังงานตรงหน้าได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ชุดที่เรียบและลื่นจะช่วยลดแรงต้านได้ ไม่ว่าจะเป็นจากน้ำ หรือลมเวลาอยู่บนบก ยกตัวอย่างเช่น นักขี่จักรยานที่นอกจากโกนขนหน้าแข้งแล้ว ชุดที่ใส่แนบตัวจะช่วยลดแรงต้านทานของลมได้

ตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงให้เห็นว่าเครื่องแต่งกายมีผลต่อการแข่งขันแค่ไหนน่าจะเป็นจากกีฬาว่ายน้ำ โดย โอลกา บอกว่า เกือบจะเป็นการแข่งขันเชิงวิศวกรรมมากกว่าความสามารถของนักกีฬาเองไปแล้ว

ที่มาของภาพ, ฟุตบอล

คำบรรยายภาพ,

กีฬาบางชนิด เช่น วอลเลย์บอลชายหาดมีกฎเรื่องการแต่งกายเคร่งครัดมาก

LZR Racer

ย้อนไปเมื่อปี 2008 ชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวที่ทำจากโพลียูรีเทน ซึ่งเรียกกันว่า “LZR Racer” ตกเป็นข่าวดังหลังมีการทำลายสถิติโลกในการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่งถึง 25 สถิติ โดย 23 สถิติจากจำนวนนั้นทำโดยนักว่ายน้ำที่ใส่ชุดว่ายน้ำที่ทำจากเทคโนโลยีนี้

นักวิทยาศาสตร์นาซาซึ่งเป็นผู้ช่วยออกแบบชุดนี้บอกว่าชุดช่วยลดการเสียดทานบริเวณผิวได้ถึง 24% และช่วยรัดตัวนักกีฬาให้กระชับจนทำให้เกิดแรงต้านจากน้ำน้อยลง

ต่อมาในปี 2010 สหพันธ์ว่ายน้ำระหว่างประเทศ (FINA) มีมติสรุปว่าชุด LZR Racer และแบบที่คล้ายกัน ทำให้นักกีฬาได้เปรียบเกินไป และก็ห้ามไม่ให้นักว่ายน้ำใช้ชุดที่จะช่วยเรื่องความเร็ว การลอยตัวในน้ำ และสมรรถภาพด้านต่าง ๆ แล้ว

ที่มาของภาพ, ฟุตบอล

คำบรรยายภาพ,

ชุดว่ายน้ำแบบเต็มตัวที่ทำจากโพลียูรีเทน ซึ่งเรียกกันว่า “the LZR Racer”

เมื่อคิดในมุมนี้แล้ว นอกจากหน้าอกหรืออวัยวะเพศที่จะห้อยออกมาแล้ว การแข่งว่ายน้ำแบบเปลือยก็ไม่น่าจะส่งผลต่อสมรรถภาพของนักกีฬามากมายขนาดนั้น

เมื่อพูดถึงกีฬาฤดูร้อนประเภทอื่น ๆ โอลกาบอกว่าเสื้อผ้าไม่ได้มีผลต่อการแข่งขันอะไรมากนัก ส่วนเสื้อผ้าแบบรัดรูปที่ออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนการหมุนเวียนของเลือดโดยหวังให้ออกซิเจนหมุนเวียนในร่างกายได้ดีขึ้นนั้น โอลกาบอกว่าผลการวิจัยที่มียังออกมากลาง ๆ ไม่มีข้อสรุปเป็นเอกฉันท์ว่าดีจริงหรือเปล่า

รองเท้า

อย่างไรก็ดี รองเท้ามีผลต่อนักกีฬาอย่างชัดเจน นอกจากช่วยเรื่องสมรรถภาพแล้วยังช่วยปกป้องร่างกายด้วย รองเท้าดี ๆ จะช่วยประคองปลายเท้า อุ้งเท้า และก็ส้นเท้า ตอนวิ่งหรือกระโดด และก็ช่วยลดแรงกระแทกอวัยวะส่วนล่าง กระดูก เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อด้วย

และถ้าเป็นบางกีฬาอย่างการแข่งเรือใบก็ต้องใช้รองเท้าที่พิเศษเข้าไปอีกที่จะช่วยกันลื่นและทรงตัวเวลาออกไปห้อยตัวข้าง ๆ เรือ นอกจากช่วยในการแข่งขันแล้วยังช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้ด้วย

พาเมลา แมคคอลีย์ อาจารย์ด้านวิศวกรรมอุตสาหการจากวิทยาลัยสิ่งทอวิลสันจากมหาวิทยาลัยรัฐนอร์ทแคโรไลนา บอกว่า “หากอยากจะกลับไปแข่งโอลิมปิกแบบเปลือยก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องคงเรื่องใส่รองเท้าเอาไว้”

แต่ที่สำคัญ การบังคับเปลือยอาจทำให้หลายคนไม่มาเข้าร่วมการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม

นอกจากนี้ยังมีคำถามเชิงศีลธรรมอีกด้วยว่าจะทำอย่างไรหากนักกีฬาอายุน้อยกว่า 18 ปี เข้าร่วม แม้ว่าในสมัยกรีกโบราณ มีนักกีฬาชายที่อายุแค่ 12 ปีแข่งขันด้วย แต่ซาราห์ บอนด์ จากภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยไอโอวา บอกว่า การมองนักกีฬาในทางเพศเป็นเรื่องต้องห้ามเด็ดขาดในขณะนั้น แต่ก็อาจจะไม่ใช่สำหรับโลกสมัยนี้

“การเปลือยในการแข่งขันโอลิมปิกมีความหมายที่แตกต่างไปในสมัยนั้น” บอนด์ กล่าว “ทุกวันนี้ มันน่าจะทำให้กลายเป็นเรื่องเพศและอนาจาร และก็จะทำให้เกิดการคุกคามเกิดขึ้น”

เปลือยออกทีวีและโซเชียลมีเดีย

ที่มาของภาพ, ฟุตบอล

ในสมัยกรีกโบราณ ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นผู้ชายในชนชั้นระดับสูง และมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมและศาสนาเดียวกัน (มีผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานไม่กี่คนที่ได้รับอนุญาตให้เข้าชมด้วย) แต่มาวันนี้ การแข่งขันถูกถ่ายทอดไปสู่ผู้ชมหลายล้านคนทั่วโลก

รูธ บาร์คัน อาจารย์ด้านเพศศึกษาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ บอกว่า ขณะที่ประเทศที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมน่าจะสั่งห้ามเผยแพร่ภาพ บริษัทด้านสื่อคงจะตื่นเต้นกันมาก

อย่างไรก็ดี บาร์คันบอกว่าผู้ชมคงจะเห็นต่างกัน บ้างอาจมองว่ามีความเป็นศิลปะ และสูงส่ง แต่อีกฝ่ายอาจมองว่าน่าขยะแขยง

โซเชียลมีเดียจะเป็นแรงผลักดันให้ร่างกายของนักกีฬาถูกจับจ้อง บาร์คันบอกว่า จริงอยู่ที่นักกีฬาที่มั่นใจในตัวเองอาจจะชอบอวดเรือนร่างของตัวเอง แต่อาจจะรับกับความสนใจได้ยาก “เพราะไม่สามารถความคุมได้ว่าสื่อและวัฒนธรรมป๊อปจะนำ[ร่างกายคุณ]ไปเผยแพร่แบบไหน”

นอกจากนี้ บาร์คันบอกว่า นักกีฬาหญิงและนักกีฬาที่มีความหลากหลายทางเพศก็จะถูกจับจ้องมากกว่า โดยยกตัวอย่างตอนการแข่งขันฟุตบอลโลกหญิงปี 1999 ที่นักฟุตบอลทีมชาติอเมริกัน แบรนดี แชสเตน ถอดเสื้อและเผยให้เห็นบราแบบนักกีฬาหลังยิงประตูสำคัญได้ ภาพนั้นกลายเป็นที่กล่าวขาน ออกสื่อไปทั่ว แม้ว่าถ้าเป็นนักฟุตบอลชายทำจะเป็นเรื่องปกติ

ที่มาของภาพ, ฟุตบอล

คำบรรยายภาพ,

แบรนดี แชสเตน

“แค่นั้นยังถูกสาธารณชนอเมริกันทำให้กลายเป็นเรื่องทางเพศ” บอนด์ กล่าว “ฉันได้แต่จินตนาการว่ามันจะเป็นอย่างไรกันนะหากนักกีฬาเกิดแข่งขันแบบเปลือยกายทั้งหมดขึ้นมาจริง ๆ”

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผลกระทบทางจิตใจจะมีน้ำหนักมากกว่าผลกระทบในเชิงร่างกายหากวันหนึ่งนักกีฬาไม่ใส่เสื้อผ้าขึ้นมา บาร์คันบอกว่า “ลองจินตนาการดูว่าจะต้องพยายามไม่นึกถึงเสียงเป็นล้าน ๆ เสียงที่กำลังแสดงความคิดเห็นถึงส่วนลับของร่างกายคุณ”

บาร์คันบอกว่า ถึงสังคมจะย้อนกลับไปคิดแบบสมัยกรีกโบราณโดยมองการเปลือยกายในแง่ของการเป็นวีรบุรุษและการเฉลิมฉลอง มันคงไม่เกิดขึ้นภายในชั่วข้ามคืน

ระหว่างนี้ หากมีการจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนแบบให้เปลือยกายขึ้นมาจริง ๆ ผู้ชนะคงไม่ใช่คนที่มีความสามารถด้านกีฬาดีที่สุด แต่น่าจะเป็นคนที่พยายามกลับไปมีทัศนคติแบบชาวกรีกโบราณได้ดีที่สุด