โลกของฟุตบอลทัวร์นาเมนต์นั้นช่างซับซ้อน เราได้เห็นอะไรแปลกๆ มาพอสมควรจากรายการต่างๆในอดีต
ฝรั่งเศส ที่มีตัวรุกระดับโลกเลือกเล่นเกมสวนกลับ ในเกมกับ เบลเยียม เมื่อฟุตบอลโลก 2018, เดนมาร์ก ที่เป็นมวยแทน กลายเป็นแชมป์ยุโรปในปี 1992, โปรตุเกส กลายเป็นแชมป์ยูโร 2016 ทั้งๆที่รอบแบ่งกลุ่มไม่ชนะใครเลยแม้แต่ทีมเดียว
และในยูโร 2020 สิ่งที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือเรื่อง “การไม่ขอเป็นแชมป์กลุ่ม” เพื่อหลีกหนีทีมแกร่งที่รออยู่ในรอบน็อกเอาต์ หลายคนบอกว่าแม้จะดูเหมือนการเล่นที่ไม่เต็มที่ แต่ก็แลกมาซึ่งโอกาสในการไปถึงแชมป์ได้ง่ายกว่า?
เรื่องนี้จริงหรือไม่? หรือเป็นแค่ทฤษฎีที่แค่คิดกันไปเอง? ติดตามได้ที่ Main Stand..
หนีแชมป์รอบแบ่งกลุ่ม เพื่อโอกาสเป็นแชมป์ทัวร์นาเมนต์
รอบแบ่งกลุ่มถือเป็นศึกที่เหมือนการเปิดโอกาสให้กับทีมต่างๆที่เข้าแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ได้ประเมินศักยภาพของตัวเองในสถานการณ์จริง เพราะนี่คือรอบที่ทุกๆทีมจะมีโอกาสได้ลงแข่งขันเท่ากันหมดคือ 3 นัด (อ้างอิงจากการแข่งขันชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย) พวกเขามีโอกาสแพ้ได้อย่างน้อยๆ 1 เกม เพื่อหาทีมที่ดีที่สุด 2 อันดับแรกเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ต่อไป
สำหรับฟุตบอลทัวร์นาเมนต์ยูโร นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมานั้น มีวิธีการที่ต่างออกไปเล็กน้อย เพราะมีการเพิ่มทีมเข้าแข่งขันจาก 16 เป็น 24 ทีม ซึ่งการเพิ่มจำนวนทีม ทำให้เอื้อต่อการใช้กลยุทธ์ต่างๆในรอบแบ่งกลุ่มมากขึ้นอีก เพราะนอกจากทีมอันดับ 1-2 ที่เข้ารอบแล้ว ยังมีทีมอันดับ 3 ของแต่ละกลุ่มที่มีผลงานดีที่สุด 4 จาก 8 กลุ่ม เข้าสู่รอบน็อกเอาต์เพิ่มเข้าไปด้วย
โดยธรรมชาติแล้วการเป็นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นั้น เราสามารถเห็นความต่างและประเมินได้โดยสัญชาตญาณในทันที อันดับ 1 มักจะเป็นทีมที่แข็งแกร่งที่สุด ซึ่งจะถูกจับจองด้วยชาติมหาอำนาจด้านฟุตบอลทั้งสิ้น ส่วนอันดับ 2 และ 3 ก็จะลดหลั่นความแกร่งกันลงมา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์มันแตกต่างออกไปได้ ภายใต้กลุ่มการแข่งขันที่เรียกว่า “กรุ๊ป ออฟ เดธ” หรือกลุ่มที่เต็มไปด้วยทีมเก่งๆมารวมตัวกัน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ง่ายที่สุดใน ยูโร 2020 คือสถานการณ์ของ กลุ่ม F ที่มีทีมอย่าง ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ โปรตุเกส รวมถึงอีก 1 ทีมที่เล่นในบ้านของตัวเองอย่าง ฮังการี
เมื่อมีทีมเก่งๆอยู่ในสายถึง 3 ทีม นั่นหมายความว่า ในกลุ่ม F มีโอกาสสูงมากที่ 3 ชาติที่อยู่ในอันดับท็อป 5 ของโลกจะผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาต์ได้ทั้งหมด และนั่นส่งผลกระทบไปยังการแข่งขันในกลุ่ม D (ประกอบด้วย อังกฤษ, สาธารณรัฐเช็ก, โครเอเชีย และ สกอตแลนด์) เพราะหากใครเป็นแชมป์กลุ่มนี้จะต้องเข้าไปเจอกับทีมอันดับของ 2 ของกลุ่ม F ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นได้ทั้ง ฝรั่งเศส, เยอรมัน และ โปรตุเกส
พูดง่ายๆว่า การได้เป็นแชมป์กลุ่มอาจจะทำให้ทีมทีมนั้นต้องเจองานยากในการเข้ารอบเป็นรองแชมป์กลุ่มในรอบน็อกเอาต์ ซึ่งมันผิดจากสถานการณ์ปกติของฟุตบอล ที่ทุกทีมล้วนอยากจะเป็นผู้ชนะในทุกการลงสนาม
ดังนั้น มันจึงเกิดคำถามขึ้น หรือแม้แต่สื่อจากอังกฤษเองอย่าง Daily Mail ก็ยังเขียนบทความวิเคราะห์ไว้ว่า พวกเขาอาจจะไม่จำเป็นต้องชนะในเกมสุดท้าย เพื่อให้ อังกฤษ เข้ารอบเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่ม D แล้วไปเจอกันงานที่ง่ายกว่าในรอบต่อไปนั่นเอง.. แต่นี่คือวิธีที่ดีหรือไม่? และแฟนบอลของพวกเขาจะรับได้จริงหรือ?
สู้หรือหนี? ธรรมชาติกำหนดไว้แล้ว
การลงเล่นแบบไม่เต็มที่นั้น ดูจะเป็นอะไรที่ผิดวัตถุประสงค์ของกีฬาทุกชนิด เพราะปลายทางและความคาดหวังในการแข่งแต่ละครั้งคือชัยชนะ เหตุใดพวกเขาจึงยอมหักหลังแฟนๆที่ตั้งหน้าตั้งตาเชียร์ด้วยการเล่นแบบ “ไม่หวังชนะ” ด้วย? ทั้งๆที่ทุกทีม “ควรจะ” ใส่เต็มที่ทุกเกมเพื่อหวังชัยชนะ
แต่ถ้าหากพวกเขาคิดลึกกว่านั้นล่ะ? การแพ้ หรือ เสมอ อาจจะเป็นผลงานที่น่าผิดหวัง แต่มันอาจเพิ่มโอกาสในการเป็นแชมป์ของทัวร์นาเมนต์ในบั้นปลายได้ มันก็ควรจะเสี่ยงสักครั้งหรือไม่?
เรื่องนี้มีทฤษฎีทางจิตวิทยาที่สามารถอ้างอิงได้อยู่ นั่นคือทฤษฎีที่มีชื่อว่า “สู้หรือหนี” (Fight or Flight) ที่ค้นพบโดย วอลเตอร์ แบรดฟอร์ด แคนนอน จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ทฤษฎีนี้ว่าด้วยธรรมชาติของคนเราหรือแม้แต่สัตว์โลกชนิดต่างๆในยามต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก อาทิ เจอคู่ต่อสู้ที่มีความแข็งแกร่ง หรือเป็นคู่ต่อสู้ที่หากเราเผชิญหน้าด้วยจะมีความเสี่ยงที่เราจะต้องเป็นผู้พ่ายแพ้ ดังนั้น จึงเกิดการประเมินสถานการณ์ว่า จะสู้หรือหนีดี?
การเลือกที่จะสู้ คือการตอบโต้ เพื่อต้องการกำราบคู่ต่อสู้และเป็นฝ่ายชนะ ส่วนการหนี คือการหลีกเลี่ยงการปะทะ ถอยออกจากปัญหาที่อาจจะสร้างความเสียหาย
แต่ละทางเลือกล้วนมีข้อดีข้อเสียซ่อนอยู่ การสู้ อาจจะนำมาซึ่งชัยชนะและจบปัญหาได้สำเร็จ แต่ถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คาด ก็จะนำมาซึ่งความเสียหายในทันที
ส่วนการหนีนั้น แม้จะเลี่ยงการกระทบกระทั่ง ไม่ต้องเจ็บตัว ไม่ต้องเสียหาย และลดความเสี่ยงได้ แต่มันก็จะนำสู่ความวิตกกังวล เพราะปัญหาที่เราหนีนั้นมันยังไม่ไปไหน เราแค่เลือกที่จะไม่เผชิญหน้ากับมันในเวลาที่เรารู้สึกว่ายังไม่พร้อมเท่านั้น
ทฤษฎีดังกล่าวเปรียบเทียบกับสถานการณ์เรื่องการ “หนีแชมป์กลุ่ม” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งคงต้องอ้างอิงจากสถานการณ์ของทีมชาติอังกฤษเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายที่สุดอีกครั้ง เพราะหากอังกฤษเลือก “สู้” และใส่เต็มที่ในเกมรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้าย โดยไม่สนว่ารอบต่อไปจะต้องเจอใคร พวกเขาจะได้เผชิญกับปัญหาทันที ด้วยการ “น่าจะ” ได้ดวลกับ เยอรมัน, ฝรั่งเศส หรือ โปรตุเกส แบบวัดกันไปเลยว่าจะอยู่หรือไป เจ็บแต่จบ รู้ดำรู้แดงกันไปเลย อะไรประมาณนั้น
แต่ถ้าหากพวกเขาได้ประเมินสถานการณ์ และปัจจัยทั้งภายในและภายนอกแล้วพบว่า ทีมของตัวเองยังไม่พร้อมที่จะเจอกับทีมแกร่งในรอบน็อกเอาต์ (16 ทีมสุดท้าย) พวกเขาก็สามารถเลือกใช้วิธีการหนี เพื่อหลบเลี่ยงการปะทะกับทีมแกร่ง ณ เวลานี้ได้
โดยช่วงเวลาที่พวกเขาหนี จะมีเวลาให้พวกเขาได้ปรับจูนกันอย่างน้อยๆอีก 1 แมตช์ กล่าวคือ อังกฤษ อาจจะได้พบรูปแบบการเล่นที่ดีกว่าเดิม หรืออาจจะสามารถหาผู้เล่น 11 ตัวจริงที่ดีที่สุดได้ หลังจากได้ลองเชิงในรอบ 16 ทีมสุดท้ายกับทีมที่น่าจะอ่อนกว่า ฝรั่งเศส, โปรตุเกส หรือ เยอรมัน ในแง่ของคุณภาพและประสบการณ์
นอกจากนี้การหนี ยังถือว่าเป็นวิธีที่ไม่เลวนัก เพราะอังกฤษยังสามารถ “คาดหวัง” ได้อีกว่า ทีมแกร่งๆที่พวกเขาพยายามหนี อาจจะต้องเป็นฝ่ายตกรอบไปก่อน ด้วยน้ำมือทีมไหนสักทีมในรอบน็อกเอาต์ เรียกได้ว่าเป็นการหนีไปพร้อมๆกับการยืมมือฆ่าจากทีมอื่นๆเลยก็ว่าได้
แต่ที่สุดแล้วต้องไม่ลืมว่า การหนีจากการเป็นแชมป์กลุ่มด้วยการเข้ารอบเป็นอันดับ 2 หรือ 3 เพื่อเจอคู่แข่งที่ง่ายกว่าในรอบน็อกเอาต์นั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณจะเป็นแชมป์ในบั้นปลายอยู่ดี คุณต้องตอบคำถามที่สำคัญที่สุด 1 ข้อให้ได้ก่อน และคำถามนั้นมีอยู่ว่า “อยากแค่เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย หรืออยากไปถึงตำแหน่งแชมป์กันแน่?”
เพราะการเป็นแชมป์มีหนทางเดียว คือคุณต้องห้ามแพ้ใครเลยจนเสียงนกหวีดยาวในนัดชิงชนะเลิศจบลง เมื่อมาถึงตอนสุดท้ายของทัวร์นาเมนต์ คุณจะไม่เหลือที่ให้หนีอีกต่อไป สุดท้ายการเผชิญหน้ากับทีมที่มีโอกาสทำให้คุณเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ก็จะวนกลับมาให้ต้องสู้กันอีกอยู่ดี และเมื่อถึงตอนนั้น คนที่เป็นฝ่ายหนีจะต้องรู้สึกวิตกกังวลกว่า เพราะอุตส่าห์หนีแทบตาย สุดท้ายก็ต้องวนเวียนกลับมาเจอกันอีกจนได้
แกร่งพอหรือไม่? คุณเองที่รู้ดีที่สุด
“อยากเข้าแค่รอบ 8 ทีมสุดท้าย หรือไปถึงตำแหน่งแชมป์กันแน่?” ยิ่งตอบคำถามนี้ได้เร็วเท่าไร ก็จะยิ่งดีต่อสภาพความมั่นใจและการวางแผนได้ดีในการเผชิญหน้ากับคู่แข่งได้มากขึ้นเท่านั้น
“รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” ปรัชญาจากตำราพิชัยสงครามของ ซุนวู ประโยคนี้ที่ไม่เคยตกยุค หากคุณประเมินแล้วว่าคุณจะเป็นฝ่ายแพ้เพราะรู้ว่าตัวเองอ่อนกว่าจริงๆ และคู่แข่งก็เก่งมากๆ จนไม่สามารถเผชิญหน้ากันตรงๆได้ การหนีอาจจะเป็นทางเลือกที่น่าอับอาย โดยเฉพาะสำหรับแฟนบอลชาติมหาอำนาจอย่างอังกฤษ ที่อยากเห็นชาติของตัวเองชนะในทุกๆเกมและเกลียดความพ่ายแพ้เป็นที่สุด
แต่ที่สุดแล้วฟุตบอลนั้นวัดกันที่ผลลัพธ์ หากการหนี นำมาซึ่งความสำเร็จในบั้นปลาย ก็ไม่มีใครกล้าตั้งคำถามกับการหนีครั้งนั้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าหนีคู่แข่งที่แกร่งกว่าและผลลัพธ์กลับแย่กว่าเดิมแล้ว นอกจากจะถูกมองว่าขี้ขลาดแล้ว โอกาสที่จะโดนโจมตีซ้ำจากแฟนบอลก็สูงขึ้นเช่นกัน และในยุคโซเชียลมีเดียนี้ รับรองได้ว่าคงร้อนแรงระดับ “ทัวร์ลง” แน่นอน
เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับเฮดโค้ชแต่ละคนว่าจะเลือกวิธีไหน เพราะ “สู้ หรือ หนี” แทบไม่มีความต่างกันเลยด้วยซ้ำ มันวัดกันที่ว่าคุณประสบความสำเร็จหรือไม่ อาจไม่ใช่วิธีการที่น่าชื่นชม แค่ขอให้เห็นความสำเร็จที่จับต้องได้ก็เพียงพอแล้ว เป็นการจบทุกข้อสงสัย ไม่ว่าจะหนีหรือจะสู้ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
การเลือกสิ่งที่ดีที่สุด คือการเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองที่สุด สำหรับคำถามที่ว่า ใส่เต็มที่ vs หนีทีมแกร่ง วิธีไหนดีกว่ากันเพื่อเป้าหมายแชมป์บอลทัวร์นาเมนต์? คำตอบนี้คงต้องตอบว่า “ขึ้นอยู่กับว่าคุณถามคำถามนี้กับใคร?”
หากถามทีมที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว พวกเขาคงเดินหน้าเต็มกำลังเพื่อเป็นแชมป์ เพราะไม่จำเป็นต้องกลัวใคร.. แต่ถ้าหากถามทีมที่มีศักยภาพน้อยกว่าจนไม่สามารถชนกันตรงๆไหว พวกเขาก็จำเป็นจะต้องใช้กลยุทธ์และแท็คติกเข้ามาช่วยให้พวกเขามีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
เพราะการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการแก้ปัญหาในยามที่เราพร้อมที่สุด.. ถ้าพร้อมแล้วก็จัดเต็ม ไม่ต้องหนี วิ่งเข้าชนปัญหานั้นเลยเพื่อความสบายใจในระยะยาว ชนะวันนี้ก็จบวันนี้ และก้าวสู่ปัญหาข้อต่อไปที่ไม่มีใครรู้ว่าจะง่ายหรือยากกว่าเดิม
แต่ถ้าอยู่ในสภาพที่ยังไม่พร้อมจะแก้ปัญหา ก็ไม่มีประโยชน์ที่ลุยเข้าไปโดยอาศัยความกล้าเพียงอย่างเดียว เพราะนอกจากคำชมว่ากล้าหาญแล้ว คุณอาจจะไม่ได้อะไรกลับมาเลย..
เพราะการเลือกสู้โดยไร้การวางแผน มันคือความกล้าหาญที่สูญเปล่า