3 ปีของ “เปเล่” ที่เปลี่ยนมุมมอง “ซอคเกอร์” ต่อชาวอเมริกันไปตลอดกาล

ย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีก่อน ฟุตบอล หรือ ซอคเกอร์ สำหรับชาวอเมริกัน ดูเหมือนเป็นคำที่ห่างไกลจากความนิยม เมื่อเทียบกับอเมริกันเกมส์อย่าง เบสบอล หรือ บาสเกตบอล 

แต่ในปี 1975 มีชายคนหนึ่งได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงมุมมองของกีฬาชนิดนี้ต่อผู้คนในดินแดนเสรีภาพ ชื่อของเขาคือ เอ็ดสัน อรันเตส โด นาซิเมนโต หรือที่โลกรู้จักกันในชื่อ “เปเล่”

ย้อนชมช่วงเวลา 3 ปีของราชันลูกหนังที่ทำให้ “ซอคเกอร์” มีตัวตนในสหรัฐอเมริกาได้ที่นี่

กีฬาที่แทบไร้คนดู 

แม้ว่าฟุตบอล หรือ ซอคเกอร์ จะเป็นกีฬาที่เข้ามาในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน แถมยังก่อตั้งสมาคมฟุตบอลตั้งแต่ปี 1884 ก่อนมหาอำนาจลูกหนังอย่าง บราซิล, อาร์เจนตินา หรือ เยอรมัน แต่ความนิยมของกีฬาชนิดนี้กลับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน 

This image is not belong to us

มันแทบไม่ได้รับความสนใจจากชาวอเมริกัน เมื่อเทียบกับ เบสบอล, บาสเกตบอล หรืออเมริกันฟุตบอล จนถูกมองว่าเป็นกีฬาเฉพาะกลุ่ม และมีคนเล่นเพียงแค่หยิบมือเท่านั้น 

แต่ถึงอย่างนั้น จากยอดผู้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 1966 ในอเมริกาเหนือที่สูงถึง 1 ล้านคน ทำให้นักลงทุนเล็งเห็นว่า กีฬาชนิดนี้เป็นตลาดใหม่ที่ยังไม่มีใครมาถึง และก่อตั้งลีกฟุตบอล North American Soccer League (NASL) ขึ้นมาได้สำเร็จในปี 1968

อย่างไรก็ดี ผลตอบรับช่างเลวร้าย เมื่อมันไม่ได้รับความนิยมขนาดนั้น แถมยอดผู้ชมก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดไว้ จนทำให้ CBS สถานีโทรทัศน์ชื่อดัง ต้องยกเลิกสัญญาถ่ายทอดสดกลางฤดูกาล 

โดยในฤดูกาลแรก พวกเขามียอดผู้ชมเฉลี่ยเพียงแค่ 4,669 คน และลดลงเหลือเพียงแค่ 2,930 คนในฤดูกาล 1969 แม้จากนั้นจะลีกมียอดผู้ชมที่กระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่มันก็ไม่เคยไปถึงหลักหมื่นแม้แต่ครั้งเดียว  

“สภาพของฟุตบอลในอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1960s และ 1970 ค่อนข้างน่าสงสารมาก” คลิฟ ทอย อดีตผู้จัดการทั่วไปชาวอังกฤษของ นิวยอร์ก คอสมอส กล่าวกับ BBC World Service

“ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครรู้ว่าฟุตบอลเป็นอย่างไร”  

ลีกสมัครเล่นของพวกเขายังคงดำเนินต่อไปอย่างกระท่อนกระแท่น ในสนามที่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน และเป็นหญ้าเทียม จนดูเหมือนว่าฟุตบอล หรือซอคเกอร์ อาจจะไปไม่รอดในดินแดนแห่งนี้

ปรากฎการณ์  

เปเล่ หรือ เอ็ดสัน อรันเตส โด นาซิเมนโต ถือเป็นหนึ่งในยอดนักเตะแห่งยุค หลังพาบราซิล คว้าแชมป์โลกครั้งแรกในปี 1958 ด้วยวัยเพียง 17 ปี เขาก็ดาหน้ากวาดรางวัลมาประดับตู้โชว์อย่างต่อเนื่อง ทั้งแชมป์ลีกและแชมป์ระดับทวีปกับ ซานโตส รวมไปถึงแชมป์โลกอีก 2 สมัยกับบราซิล 

This image is not belong to us

ทำให้ชื่อของเขา กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แทบไม่มีใครในโลกในตอนนั้นที่ไม่รู้จักเขา ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนที่ฟุตบอลยังเป็นกีฬาชายขอบอย่างอเมริกา

นั่นทำให้ นิวยอร์ก คอสมอส สโมสรที่เพิ่งก่อตั้งในปี 1970 ซึ่งมี วอร์เนอร์ คอมมูนิเคชั่น (วอร์เนอร์ มีเดีย ในปัจจุบัน) เป็นกลุ่มทุนอยู่เบื้องหลัง ให้ความสนใจและอยากได้ตัวเขามาร่วมทีม แต่ไม่ว่าเทียวไล้เทียวขื่ออย่างไรก็ไม่สำเร็จ เมื่อ ซานโตส ยืนยันว่าจะไม่ปล่อยเพชรเม็ดงามของพวกเขาไปเด็ดขาด 

อย่างไรก็ดีในปี 1974 โอกาสของพวกเขาก็มาถึง เมื่อราชันลูกหนังของโลก ประกาศแขวนสตั๊ด ทำให้ คอสมอส เดินหน้าเจรจากับ เปเล่ ทันที 

แม้ว่าจะรู้ดีว่า ยูเวนตุส และ เรอัล มาดริด กำลังจ้องฉกตัวซูเปอร์สตาร์ชาวบราซิลอยู่เช่นกัน และชื่อชั้นของพวกเขาดูจะห่างไกลจากสโมสรจากยุโรป แต่ข้อเสนอจากการเจรจาของ คลิฟ ทอย ผู้จัดการทั่วไปของ คอสมอส ก็ทำให้เปเล่หันมามองพวกเขา  

“ผมบอกว่า โอเค ถ้าคุณไปที่นั่นคุณสามารถคว้าแชมป์ แต่ถ้าคุณมากับเราคุณจะคว้าใจได้ทั้งประเทศ” อดีตผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษของ Daily Express กล่าว

หลังจากพบกันหลายต่อหลายครั้งทั้งที่ จาไมกา, แฟรงต์เฟิร์ต, บรัสเซลล์, และโรม รวมถึงได้รับประทานอาหารร่วมกันที่ริโอ และซานโตส สุดท้าย คอสมอส ก็ได้ลายเซ็นของดาวเตะก้องโลกมาครอบครอง 

“เปเล่กำลังเปิดพรมแดนใหม่ และนั่นก็คืออเมริกา มันคือความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของอเมริกา” โรส แกนกุสซา โปรดิวเซอร์ชื่อดังของฮอลลีวูดกล่าว

ปี 1975 เปเล่ ตกลงปลงใจเซ็นสัญญายาว 3 ปีกับ นิวยอร์ก คอสมอส พร้อมรับค่าตอบแทนเป็นเงินที่สูงถึง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 20 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน (ราว 600 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นเงินเดือน 1 ล้านดอลลาร์ สิทธิ์ในการตลาด 10 ปี 1 ล้านดอลลาร์ สิทธิ์ในการโฆษณา 14 ปี 1 ล้านดอลลาร์ และสัญญาทำเพลงอีก 1 ล้านดอลลาร์

This image is not belong to us

Photo : www.theguardian.com

การเซ็นสัญญาของเขาได้สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วอเมริกา ถึงขนาดที่ เฮนรี คิสซิงเจอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ในขณะนั้น ส่งโทรเลขบอกทั่วโลกว่าการมาถึงของเปเล่ ทำให้ ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกา และบราซิล มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ในขณะที่งานเปิดตัวของเขาในวันที่ 10 มิถุนายน 1975 ที่ร้าน 21 Club ร้านดังแห่งย่านแมนแฮตตัน ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี เมื่อมีนักข่าวนับร้อยเบียดเข้ามาจนแน่นขนัดในร้าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้แทบไม่มีชายตามองกีฬาชนิดนี้  

“คุณสามารถกระจายข่าวไปทั่วโลกได้เลยว่า ในที่สุดซอคเกอร์ก็มาถึงอเมริกาแล้ว” เปเล่กล่าวในวันเปิดตัว

15 มิถุนายน 1975 คือเกมแรกของเปเล่ในสีเสื้อของคอสมอส เมื่อทีมเปิดบ้านรับการมาเยือนของ ดัสลัส ทอร์นาโด ในเกมนัดอุ่นเครื่อง ซึ่งยอดแข้งชาวบราซิล ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เมื่อสามารถประเดิมประตูได้ทันที ช่วยให้ทีมเสมอกับคู่แข่ง 2-2 ต่อหน้าผู้ชม 21,000 คนใน ดาวนิง สเตเดียม ซึ่งทรุดโทรมจนต้องฉีดสเปรย์สีเขียวในสนามเพื่อให้ดูดีในการถ่ายทอดสด  

This image is not belong to us

Photo : 3.bp.blogspot.com

5 วันต่อมา เปเล่ และ คอสมอส เดินทางไปบอสตัน เพื่อลงเตะนัดอุ่นเครื่องกับ บอสตัน มินนิตเมน ที่มียูเซบิโอ ดาวเตะชาวโปรตุเกส อยู่ในทีม แต่เกมนี้ได้รับความสนใจเกินคาด เมื่อมีผู้ชมเข้ามาชมเกมถึงสองเท่าของความจุ 12,000 ที่นั่งของ นิคเคอร์สัน ฟิลด์ จนทำให้แฟนบอลนับร้อย ต้องนั่งชมเกมติดเส้นขอบสนามและหลังประตู  

อย่างไรก็ดี มันก็ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อเกมการแข่งขันดำเนินไปจนเหลือเพียงแค่ 11 นาที แฟนบอลจำนวนหนึ่งกลับลงไปในสนาม และล้อมเปเล่เอาไว้ โชคดีที่ไม่มีอะไรรุนแรง ก่อนที่บอดีการ์ดส่วนตัวของเขา จะมาช่วยพาเขาออกไปได้

แม้จะดูอันตรายไปหน่อย แต่ในอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นสัญญาณว่าความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังได้มาถึงอเมริกาแล้ว

ผู้ชุบชีวิตฟุตบอลอเมริกา  

การเซ็นสัญญาของ เปเล่ ถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องของพวกเขา เมื่อมันทำให้กระแสฟุตบอลฟีเวอร์ กระจายไปทั่วอเมริกา เปเล่ และ คอสมอส กลายเป็นทีมซูเปอร์สตาร์ ที่มีแต่คนให้ความสนใจ และรอชมฝีเท้าในทุกสนามที่ไป 

This image is not belong to us

Photo : www.bloomberg.com

มันคือการตลาดในฝันของ สตีฟ รอส บิ๊กบอสของวอร์เนอร์ เมื่อ เปเล่ ทำให้ คอสมอส อยู่ตรงกลางของสปอตไลท์ ไม่ว่าจะเป็นการที่เปเล่ได้ถ่ายรูปร่วมกับ เจอรัลด์ ฟอร์ด ประธานาธิบดีอเมริกา หรือการที่ทีมมีคิวจองไปเตะโชว์ทั่วโลก 

ในขณะเดียวกัน เปเล่ ยังได้จุดประกายให้หลายทีมเดินตามรอยคอสมอส เมื่อมันทำให้สโมสรอื่นพากันทุ่มเงิน ดึงนักเตะชื่อดังมาร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ เบสต์ ที่มาอยู่กับ ลอส แอนเจลิส แอซเท็กส์ ที่มี เอลตัน จอห์น เป็นหุ้นส่วน, เจฟฟ์ เฮิร์สต์ ที่มาเล่นให้กับ ซีแอตเทิล ซาวเดอร์ส หรือ รอดนีย์ มาร์ช ที่มาอยู่กับ แทมปา เบย์ ราวดีส์ 

แน่นอนว่า คอสมอส ไม่ได้ปล่อยให้คู่แข่งเสริมทัพอยู่ฝ่ายเดียว เมื่อพวกเขาเองก็พยายามขยายทีมเช่นกัน ทั้งการย้ายรังเหย้าจาก ดาวนิง สเตเดียม ไปสู่ ไจแอนท์ส สเตเดียม ที่มีความจุถึง 80,000 ที่นั่ง หรือการจ้างดีไซน์เนอร์ชื่อดังอย่าง ราล์ฟ ลอเรน เจ้าของแบรนด์ โปโล มาออกแบบชุดแข่งให้ 

This image is not belong to us

Photo : sportslens.com

นอกจากนี้พวกเขายังได้ทุ่มเงินคว้านักเตะที่เคยคว้าแชมป์โลกมาร่วมทีมถึงสองคน นั่นก็คือ ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ ตำนานชาวเยอรมัน และ คาร์ลอส อัลแบร์โต กัปตันทีมชาติบราซิล ที่ทำให้ชื่อของ คอสมอส เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นอีก 

“เบ็คเคนเบาเออร์และคาร์ลอส อัลแบร์โต ทำให้เราก้าวไปอีกระดับ” สตีฟ ฮันท์ แข้งชาวอังกฤษที่เคยเล่นให้กับคอสมอสในช่วงปี 1977-1978 กล่าวกับ BBC 

“มันไม่ใช่แค่เรื่องฟุตบอล มันเป็นวิธีจัดการตัวเอง และมีเวลากับผู้คน ผมสนุกกับทีมนี้มากเท่ากับความสนุกที่ได้เล่นกับพวกเขา” 

“เบ็คเคนเบาเออร์มีความสง่างาม เขาเคลื่อนที่ได้เนียนตา และนั่นคือสิ่งที่เขาเป็นนอกสนาม เขาเป็นคนนิสัยดีคนหนึ่งของทีม” 

This image is not belong to us

Photo : www.nasljerseys.com

การลงทุนของพวกเขาได้สร้างผลดีให้แก่ลีก เมื่อมันทำให้ฟุตบอล กลายเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด จากสถิติระบุว่า NASL มียอดผู้ชมเฉลี่ยที่สูงขึ้นทุกปีนับตั้งแต่เปเล่มาถึง เริ่มจาก 7,642 คนในปี 1975 เป็น 10,295 คนในปี 1976 และ 13,558 คนในปี 1977 

เช่นกัน สำหรับคอสมอส เมื่อเหล่าสตาร์ดังของพวกเขา ต่างช่วยดึงดูดให้แฟนบอลเข้ามาชมเกมในสนาม จนทำให้พวกเขากลายเป็นเจ้าของสถิติผู้ชมในสนามสูงสุดตั้งแต่ปี 1975 แถมในปี 1977 พวกเขายังทำลายสถิติผู้ชมสูงสุดตลอดกาล หลังมีแฟนบอลเข้ามาชมเกมในรอบเพลย์ออฟที่พบกับ ฟอร์ท ลอเดอร์เดล สไตร์เกอร์ส ถึง 77,691 คน

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการมาถึงของชายคนหนึ่ง ที่ทำให้เกมลูกหนัง ที่ก่อนหน้านั้นเป็นเพียงกีฬาเฉพาะกลุ่ม กลายมาเป็นกีฬาที่ผู้คนต่างให้ความสนใจไปทั่วอเมริกา 

This image is not belong to us

Photo : www.telegraph.co.uk

“ก่อนเปเล่จะมาที่เมืองนี้ ฟุตบอลถูกรายงานโดยนักข่าวเด็ก ๆ ส่วนใหญ่เป็นการลงโทษด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้มีนักข่าวกว่า 300 คนที่ดาวนิง สเตเดียม รวมถึง เดวิด เฮอร์เชย์ ผู้สื่อข่าวของ นิวยอร์ก เดลี นิวส์” กาวิน นิวแชม กล่าวในสารคดี Once in a Lifetime 

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลาที่ดี มักจะอยู่กับเราได้ไม่นาน

เริ่มต้นสู่จุดจบ 

“นิวยอร์ก คอสมอส เป็นทั้งด้านที่ยอดเยี่ยมและด้านเลวร้ายของฟุตบอลอเมริกา” รอดนีย์ มาร์ช ที่เคยเล่นในลีกอเมริกาในช่วงปี 1976-1979 เคยกล่าวเอาไว้

This image is not belong to us

Photo : OldFootballPhotos @OldFootball11

หลังจากเล่นในลีกอเมริกามา 3 ซีซั่น พร้อมกับผลงานที่ไม่เลว ด้วยการยิงไปถึง 64 จาก 104 นัด และช่วยให้ คอสมอส คว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ ในฤดูกาลส่งท้าย การจากลาก็มาถึง เมื่อเปเล่ ประกาศแขวนสตั๊ดหลังหมดสัญญากับทีม

“หลังจากคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 3 ครั้ง ตอนนี้ผมสามารถเลิกได้แล้ว ในฐานะแชมป์ ผมสามารถตายได้เลยตอนนี้ ผมได้ทุกอย่างเกี่ยวกับฟุตบอลที่ผมอยากได้ในชีวิตหมดแล้ว” เปเล่ กล่าวหลังนัดชิงชนะเลิศซูเปอร์โบวล์ ที่ทีมเอาชนะ ซีเแอทเทิล ซาวเดอร์ส์ 2-1

This image is not belong to us

Photo : Franz Beckenbauer @beckenbauer

หลังออกทัวร์จีนและญี่ปุ่นกับ คอสมอส เป็นครั้งสุดท้าย เปเล่ ก็ลงเล่นนัดอำลาด้วยการพบกับ ซานโตส อีกหนึ่งสโมสรของเขาใน ไจแอนท์ส์ สเตเดียม เขาเล่นให้แต่ละทีมอย่างละครึ่ง ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาจนทำให้หนังสือพิมพ์บราซิลเขียนว่า “แม้แต่ฟ้าก็ยังร้องไห้” 

เขาปิดฉากชีวิตนักเตะอย่างสมบูรณ์แบบด้วยวัย 37 ปี 

This image is not belong to us

Photo : www.tagesspiegel.de

This image is not belong to us

Photo : sportslens.com

ในขณะที่ คอสมอส แม้ว่าพวกเขาจะไม่มี เปเล่ แต่หลังจากนั้น ทีมยังคงแข็งแกร่ง เมื่อสามารถคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์ได้อีก 3 สมัยในปี 1978, 1980, 1982 

“มันคือการผจญภัย มันเหมือนกับกระแสตูมตาม มันเหมือนกับครอบครัว มันยอดเยี่ยมมาก เป็นประสบการณ์ที่ผมไม่มีวันลืม” เบ็คเคนบาวเออร์ที่อยู่กับทีมในช่วงปี 1977-1980 กล่าวใน Once in a Lifetime

แต่ดูเหมือนนั่นจะเป็นฉากสุดท้ายของพวกเขา เมื่อหลังจากนั้นทีมกลับประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง เมื่อการใช้เงินอย่างมือเติบ โดยเฉพาะทุ่มเงินจ้างนักเตะดัง ไม่สัมพันธ์กับรายได้ที่เข้ามา และทำให้สโมสรอยู่ในภาวะหนี้ท่วมตัว 

This image is not belong to us

Photo : beyondthelastman.com

แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะคอสมอสเท่านั้น เมื่อทีมส่วนใหญ่ในลีกต่างประสบปัญหานี้ จากรายงานระบุว่าในปี 1981 เจ้าของทีมใน NASL ใช้เงิน 70 เปอร์เซ็นต์ของงบสโมสรไปกับการจ่ายเงินเดือนนักเตะ (NFL ใช้งบในส่วนนี้ไปเพียง 40 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งทำให้ปีดังกล่าว ทุกทีมมีงบขาดดุลรวมกันสูงถึง 30 ล้านดอลลาร์ และมี 5 ทีมต้องถูกยุบหลังจบฤดูกาลนั้น 

ในขณะที่ NASL ยังคงดำเนินการต่อมาจนถึงฤดูกาล 1984 โดยเหลือเพียงแค่ 9 ทีมที่ลงชิงชัย รวมไปถึง นิวยอร์ก คอสมอส และในวันที่ 28 มีนาคม 1985 NASL ก็ปิดทำการถาวร ไปพร้อมกับเรื่องราวที่เป็นเหมือนแค่ความฝันตื่นหนึ่ง

“มันไม่มีต้นแบบทางธุรกิจ หลังเปเล่เลิกเล่น มันก็เหมือนกับเก็บเต็นท์ เราชอบสตูดิโอ 54 ตอนนั้นทุกคนต่างต้องการเรา และหลังจากนั้นมันก็เป็นอีกแบบ” เซฟ เมสซิง ผู้รักษาประตูของคอสมอสกล่าว

เหล้าใหม่ในขวดเก่า 

แม้หลังจากนั้น จะมีความพยายามในการคืนชีพ นิวยอร์ก คอสมอส หลายครั้ง รวมไปถึงการพยายามล็อบบี้ให้ นิวยอร์ก/นิวเจอร์ซีย์ เมโทรสตาร์ส หรือ นิวยอร์ก เรดบูลส์ ในปัจจุบัน ใช้ชื่อ คอสมอส สมัยก่อตั้ง MLS หรือ เมเจอร์ลีก ซอคเกอร์ ใหม่ ๆ แต่ก็ไม่เป็นผล 

จนสุดท้ายชื่อนี้ได้ถูกขายไปให้ พอล เคมส์เลย์ นักธุรกิจชาวอังกฤษ ที่ก่อตั้ง นิวยอร์ก คอสมอส ขึ้นมาใหม่ในปี 2010 และลงเล่นใน North American Soccer League ซึ่งอยู่ในระดับ 2 ของพิรามิดฟุตบอลอเมริกา  

แม้ว่าทีมจะสร้างความหวือหวา ด้วยการดึง ราอูล กอนซาเลซ อดีตแข้ง เรอัล มาดริด มาเล่น รวมไปถึงแต่งตั้ง เอริค คันโตนา มาเป็นผู้อำนวยการสโมสร แต่ดูเหมือนจะทีมจะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก 

This image is not belong to us

Photo : www.nytimes.com

แถมพวกเขามีอันต้องย้ายลีกอีกครั้งในปี 2017 เมื่อ North American Soccer League ถูกยุบ ทำให้ต้องพักทีมหนึ่งฤดูกาล ก่อนจะได้เล่นใน National Independent Soccer Association ซึ่งเป็นลีกระดับ 3 ในพิรามิดฟุตบอล ซึ่งเรียกได้ว่าห่างไกลจากความสำเร็จของคอสมอสในวันวานอย่างสุดกู่เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่ง นิวยอร์ก คอสมอส ได้เป็นประกายสำคัญที่ทำให้ ที่ทำให้ ฟุตบอลหรือ “ซอคเกอร์” ปักธงลงในแผนที่ของอเมริกาได้สำเร็จ 

และทำให้ชื่อของ “คอสมอส” ได้รับการจดจำในฐานะตำนานบทหนึ่งของโลกลูกหนัง