เอเยนต์ปลอม : เมื่อฟุตบอลถูกใช้เป็นเครื่องมือยุคใหม่ในการ “ค้ามนุษย์” จากแอฟริกา

“ผมเชื่อชายคนนั้น เขาสัญญาว่าเขาทำให้ผมกลายเป็นนักเตะอาชีพได้ ผมสูญเสียทุกอย่าง และผมก็ไม่สามารถออกไปจากที่นี่ได้” แอนดรูว์ เจอร์รัลด์ นักเตะชาวไนจีเรีย กล่าว

เอเยนต์ เป็นหนึ่งในอาชีพที่มีบทบาทอย่างมากในโลกฟุตบอลปัจจุบัน เพราะนอกจากจะเป็นผู้ช่วยต่อรองผลประโยชน์ของนักเตะแล้ว หลายคนยังมีส่วนสำคัญในการพานักเตะจากนอกยุโรปเข้าไปเล่นในลีกชั้นนำ

แอฟริกา ก็เป็นหนึ่งในนั้น ดินแดนแห่งนี้มีเด็กหนุ่มที่เต็มไปด้วยความฝันว่าจะก้าวขึ้นมาเป็น ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ ซาดิโอ มาเน่ คนต่อไปอยู่มากมาย จนทำให้แต่ละปีมีแข้งอายุน้อยจากทวีปนี้เดินทางมายุโรปกว่า 6,000 คน

อย่างไรก็ดีบางครั้งมันกลายเป็นฝันร้าย เมื่อบุคคลกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “เอเยนต์” ใช้ความฝันนี้หลอกลวงพวกเขา จนไม่ต่างจากการ “ค้ามนุษย์” ของโลกสมัยใหม่ 

ติดตามเรื่องราวไปพร้อมกับ Main Stand

ดินแดนแห่งฝัน (ร้าย)

แม้จะเป็นทวีปที่มีขนาดเล็กเป็นอันดับ 3 ของโลก (รองมาจากทวีปแอนตาร์กติกาและออสเตรเลีย) แต่ ยุโรป ก็เป็นเหมือนดินแดนแห่งความหวังของชาตินอกทวีปและทำให้มีผู้คนมากมายโดยเฉพาะจากแอฟริกาเดินทางแสวงมาหาชีวิตที่ดีกว่า

เช่นกันสำหรับฟุตบอล เมื่อในแต่ละปีจะมีนักฟุตบอลอายุน้อยจากแอฟริกาเดินทางมายุโรปมากถึง 6,000 คน ด้วยความฝันว่าตัวเองจะก้าวขึ้นมาเป็น ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ ซามูเอล เอโต้ คนต่อไป ทว่าบางคนต้องพบกับฝันร้ายจากคนที่เรียกตัวเองว่า “เอเยนต์”

“เราจ่ายเงินให้เอเยนต์ไป 2.5 ล้านฟรังก์ (ราว 170,000 บาท) เขาทำวีซ่าให้ผม 6 เดือน แต่ไม่ได้เดินทางไปกับผม” เซดู คาบอเร บอกกับ Vice 

เขาคือนักเตะจากบูร์กินาฟาโซที่ถูกเอเยนต์บอกว่ามีศักยภาพดีพอที่จะไปเล่นในลีกฝรั่งเศส แต่เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน เขาและครอบครัวต้องจ่ายเงินก้อนหนึ่งแล้วเอเยนต์จึงจะพาเขาไปทดสอบฝีเท้า

“ตอนนั้นผมอายุ 18 ปี เมื่อผมถึงมาร์กเซย์ เด็กหนุ่มผิวขาวมารับผมแล้วพาไปอยู่บ้านหลังใหญ่กับเด็กผิวดำที่อยากเป็นนักฟุตบอลเหมือนผมอีกหลายคน บางคนมาจากแอฟริกากลาง บางคนมาจากแอฟริกาตะวันตกและตะวันออก พวกเขาทั้งหมดต่างบอกว่าพวกเขาจ่ายเงินไปเป็นจำนวนมาก” คาบอเร กล่าวต่อ 

คาบอเรต้องมีชีวิตอย่างยากลำบากที่ฝรั่งเศส เขาและคนอื่นได้รับอนุญาตให้กินอาหารได้แค่วันละมื้อ และต้องอยู่กันอย่างแออัดในบ้านหลังเล็ก ๆ จนกระทั่งผ่านไปเป็นเดือนการทดสอบฝีเท้าที่เคยได้รับคำสัญญาไว้ก็ยังไม่มาถึง

ทำให้คาบอเรตัดสินใจโทรหาเอเยนต์เพื่อขอจดหมายแนะนำ แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะได้รับมันมา แต่เมื่อส่งไปให้สโมสรก็ถูกบอกว่ามันคือของปลอม และมันทำให้เขารู้ตัวว่าถูกหลอกเสียแล้ว 

“สโมสรขอตัวเลขอ้างอิงบนจดหมาย และพอผมให้ไปพวกเขาก็บอกว่ามันไม่ได้มาจากพวกเขา สองอาทิตย์ก่อนที่วีซ่าของผมจะหมด ผมจึงตัดสินใจกลับประเทศ” คาบอเร ย้อนความหลัง 

“มันเป็นประสบการณ์ที่บีบคั้นหัวใจที่ต้องต้องทิ้งความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอล ตอนนี้ผมอายุ 25 และไม่มีงานทำ สิ่งที่ผมคิดได้ในท้ายที่สุดคือผมและครอบครัวซื่อเกินไป” 

แน่นอนว่า คาบอเร ไม่ใช่คนเดียวที่เคยเผชิญกับประสบการณ์เช่นนี้

ความหวังสุดท้ายในชีวิต 

เอเยนต์ปลอม กลายเป็นภัยคุกคามใหม่ของวงการฟุตบอล พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีใบอนุญาตที่ถูกต้องแต่อาศัยการแต่งตัวที่น่าเชื่อถือและคำหวานหลอกล่อนักเตะที่เต็มไปด้วยความฝัน ด้วยคำสัญญาว่าจะพาพวกเขาไปเล่นในยุโรป 

มิจฉาชีพกลุ่มนี้มักจะเล็งไปที่นักเตะที่มีอายุระหว่าง 14-21 ปี พวกเขาจะอธิบายและสร้างความเชื่อใจให้กับนักเตะและครอบครัว โดยบอกว่าพวกเขาจะมีอนาคตที่สดใสในยุโรปโดยอ้างความสำเร็จของนักเตะแอฟริกาในอดีต

อย่างไรก็ดีเขาและครอบครัวต้องจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างว่าเป็นค่าทำวีซ่าหรือค่าอำนวยความสะดวก มองจากภายนอกมันอาจจะดูแปลก แต่สำหรับพ่อแม่ที่ทำงานหนักเพื่อลูก สิ่งนี้ดูจะเป็นเหมือนความหวังเดียวในชีวิตที่จะทำให้พวกเขาผ่านพ้นความยากลำบาก 

“ผมได้รับโทรศัพท์เพื่อขอคุยเรื่อง บูบา ลูกชายของผม” ชีคฮู เอเดียเย พ่อของบูบา ที่เอเยนต์บอกว่าจะพาลูกชายของเขาไปโปรตุเกส กล่าวกับ Vice

“ผู้ชายอีกฝั่งหนึ่งบอกว่าเขาได้ดูลูกชายผมเล่นและเขาจะมีอนาคตที่สดใส ผมรับข้อตกลงและเขาก็มาที่บ้านของผมโดยมีชายอีกคนหนึ่งมาด้วย พวกเขาทั้งสองอยู่ในวัย 30 กลาง ๆ พวกเขาดูสุภาพมาก พวกเขาเป็นคนเซเนกัลแต่อ้างว่าอาศัยอยู่ในยุโรป” 

เอนเดียเยบอกว่าชายทั้งสองโชว์หลักฐานที่มีตั้งแต่เอกสาร ไอดีการ์ด รูปถ่าย หรือคลิปวิดีโอของนักเตะแอฟริกาที่ตอนนี้เล่นอยู่ในยุโรป ให้เขาและภรรยาดูและบอกว่าลูกของเขาจะได้เดินตามรอยนี้ 

“หลังจากเจอกันอีกสองครั้งผมก็จ่ายเงินไป 2.8 ล้านฟรังก์เซฟา (ราว 194,000 บาท) ซึ่งผมได้มาจากการขายที่ดินผืนเดียวที่มีอยู่ของผม” เอนเดียเย กล่าวต่อ

“พวกเขาไปที่สถานทูตกับลูกชายผมแล้วกลับมาพร้อมกับวีซ่าและหนังสือเดินทาง ผมตกใจและประทับใจเพราะว่ามันเร็วมาก การได้วีซ่าอียูในเซเนกัลไม่ใช่เรื่องง่าย” 

“หลังจากนั้นพวกเขาก็เดินทางไปโปรตุเกส ลูกชายผมโทรมาหาผมหลังผ่านไปหนึ่งเดือนและบอกว่าเขายังไม่ได้ทดสอบฝีเท้ากับสโมสรไหนเลย และต้องอาศัยอยู่กับชายแก่ในบ้านหลังเล็ก ๆ” 

“เขาบอกว่าเอเยนต์ให้กระดาษเขามาแล้วหายไป 3 วันหลังมาถึง นั่นคือในปี 2019 เรายังไม่ได้ยินข่าวคราวอะไรเลยจากลูกชาย เราไม่รู้เลยว่าเขายังมีชีวิตหรือไม่ เราจึงได้แต่ภาวนา” 

และน่าเศร้าที่บางกรณีอาจจะเลวร้ายยิ่งกว่านี้

กลับตัวก็ไม่ได้ … เดินต่อไปไม่ถึง

จากการรายงานของ Sunday People ระบุว่าในแต่ละปีมีนักเตะเยาวชนกว่า 15,000 คนที่ถูกล่อลวงจากกลุ่มค้ามนุษย์ มาทิ้งไว้ในยุโรป หรือบางทีอาจจะมีจำนวนมากกว่านั้น  

“องค์กรที่เชื่อถือได้ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของเยาวชนจากแอฟริกาที่มาแสวงหาชีวิตที่ดีกว่ากับฟุตบอล พบว่ามีเยาวชนกว่า 15,000 คนถูกหลอกและกลายเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ทั่วโลกในแต่ละปี” เฟรด ลอร์ด แห่งศูนย์กีฬาและความมั่นคงนานาชาติ (ICSS) อธิบาย 

พวกเขาเหล่านี้ไม่มีทั้งเงินและใบอนุญาตทำงานจึงถูกบีบให้ไปทำอาชีพผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคนส่งยา ขอทาน หรือค้าประเวณี หรือบางคนอาจจะได้งานที่สุจริตแต่ก็ไม่มีเงินพอที่จะซื้อตั๋วกลับบ้านเกิด 

แอนดรูว์ เจอรัลด์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาคือชาวไนจีเรียที่ถูกเอเยนต์ปลอมบอกว่าจะพาไปเล่นในพรีเมียร์ลีก โดยเริ่มจากการพาไปทดสอบฝีเท้าในลีกโรมาเนียแล้วค่อยหาทางย้ายทีมต่อไป 

เอเยนต์เรียกร้องเงินจากเขาและครอบครัว 700 ปอนด์ (ราว 30,000 บาท) สำหรับค่าดำเนินการ แล้วพานักเตะที่ตอนนั้นอายุ 18 ปีไปยังเซเนกัล โดยอ้างว่าให้อยู่ที่นี่ก่อนเพื่อรอวีซ่า แต่พอผ่านไปได้หนึ่งอาทิตย์มันก็ไม่มาถึง และทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในดาการ์ (เมืองหลวงเซเนกัล) ถึง 14 ปี ถึงจะหาทางกลับมาได้ 

“ผมเชื่อชายคนนั้น เขาสัญญาว่าเขาจะทำให้ผมกลายเป็นนักเตะอาชีพได้ ผมสูญเสียทุกอย่าง ผมไม่สามารถออกไปจากที่นี่ได้ และผมก็ไม่อยากยอมแพ้กับความฝันในการเล่นฟุตบอลเจอรัลด์ ที่ตอนนี้อายุ 33 ปีกล่าวกับ  The Mirror 

“เอเยนต์เหล่านี้มอบความฝันที่จะกลายเป็น ดิดิเยร์ ดร็อกบา หรือ เจย์ เจย์ โอโคชา คนต่อไปให้กับคุณ” 

อย่างไรก็ดีไม่ใช่แค่ยุโรปเท่านั้น เพราะอันที่จริงตัวเลขของการร้องเรียนเกี่ยวกับการค้ามนุษย์โดยใช้ฟุตบอลในพื้นที่อื่น อย่างอเมริกาเหนือ และ ตะวันออกกลาง ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี 

ผู้เล่นบางคนต้องลงเอยกับการใช้แรงงานใน กาตาร์ บาห์เรน หรือยูเออี หรือประเทศอื่นในแอฟริกาอย่าง ตูนีเซีย โมร็อกโก และอียิปต์ และต้องทิ้งความฝันที่จะเป็นนักฟุตบอลไปอย่างน่าเสียดาย 

“ผมเคยเล่นในสโมสรดิวิชั่น 2 ของแคเมอรูน ตอนที่เอเยนต์เข้าหาและชวนผมไปสำนักงานของเขาผมได้พบกับนักฟุตบอลดาวรุ่งคนอื่นที่นี่” ชาร์ลส์ เอ็นกาห์ ที่ติดอยู่ที่ตูนีเซียตั้งแต่ปี 2013 กล่าวกับ Vice 

“บริษัทที่เป็นตัวแทนดูน่าเชื่อถือมาก พวกเขามีใบอนุญาตใส่กรอบและแขวนไว้บนผนัง พวกเขาบอกเราว่าเราจะได้ไปทดสอบฝีเท้ากับ Esperance Tunis (สโมสรที่ใหญ่ที่สุดของตูนีเซีย)” 

“เราเดินทางไปและได้พักอยู่ในโรงแรมที่ค่อนข้างดีอยู่ 1 สัปดาห์ ก่อนจะพาเราไปที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง ที่นั่นผมได้พบกับชาวไนจีเรียและชาวกานา” 

“ทั้งหมดอ้างว่าพวกเขาจ่ายเงินไป 4,000 ไนรา (ราว 34,000 บาท) และ 7,500 เซดิส (46,000 บาท) เพื่อมาที่นี่ เรารอการทดสอบฝีเท้าอยู่ราว 1 เดือนไปอย่างสูญเปล่า สุดท้ายก็รู้ว่าเราถูกหลอก” 

“บางคนในหมู่พวกเราได้งานในร้านอาหาร บางคนเป็นพนักงานทำความสะอาด ขณะที่บางคนยังตกงาน เราเช่าห้องอยู่กันเป็นกลุ่ม คุณสามารถเจอห้องเล็ก ๆ ที่มีเด็ก 7-8 คนอัดรวมอยู่ในนั้น” 

“ปัญหาใหญ่ที่สุดของพวกเราคือเอกสารและวิธีกลับบ้าน ที่ตูนีเซียหากคุณอยู่เกินวีซ่าคุณจะต้องเสียค่าปรับเป็นรายวัน รายเดือน หรือรายปี ก่อนที่พวกเขาจะยอมให้คุณออกจากประเทศ” 

อย่างไรก็ดีแม้หลายฝ่ายจะรับรู้ถึงปัญหานี้แต่ก็ยังแก้ไขมันไม่ได้

มะเร็งร้ายโลกลูกหนัง

“พวกเขา (เอเยนต์ปลอม) ไม่มีศีลธรรม พวกเขาพูดถึงความฝัน แต่บ่อยครั้งที่ความฝันเปลี่ยนเป็นฝันร้าย” คริส อีตัน อดีตหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของฟีฟ่า และอดีตเจ้าหน้าที่อินเตอร์โพลกล่าวกับ The Mirror  

นักสังเกตุการณ์และผู้เชี่ยวชาญกล่าวโทษว่าสมาคมฟุตบอลแอฟริกาไม่ได้ศึกษาและป้องกันปัญหานี้มากเพียงพอ ขณะเดียวกันก็ให้คำแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครองว่าต้องทำการบ้านก่อนที่จะปล่อยลูกให้ไปอยู่กับเอเยนต์ แต่อันที่จริงมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น 

บาสซิโร ซาคโก เอเยนต์ฟีฟ่าที่ลงทะเบียนกับสมาคมฟุตบอลอังกฤษ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Playmaker Sport Agency ที่คอยเสาะหานักเตะในแอฟริกาไปเล่นในยุโรป แนะนำว่า สหพันธ์ฟุตบอลแอฟริกา ควรจะจัดทำรายชื่อเอเยนต์ที่ได้รับการรับรองในหน้าเว็บไซต์เพื่อให้ตรวจสอบได้ง่าย 

“พ่อแม่ส่วนใหญ่ของเด็กเหล่านี้เป็นคนไม่รู้หนังสือและไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็น” ซาคโก กล่าวกับ Vice 

“ถ้ามีชื่อของเอเยนต์ในเครืออยู่บนเว็บไซต์ของสหพันธ์ฯ มันจะช่วยให้ครอบครัวของพวกเขาสามารถตรวจสอบและดูว่าคนที่มาหาลูกชายเป็นของจริงหรือไม่”

แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือห้ามเอาเงินให้เอเยนต์ เพราะหากลูก ๆ ของพวกเขาเก่งจริง เอเยนต์จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง แล้วค่อยไปเอาคืนจากส่วนแบ่งในการเซ็นสัญญาในอนาคต 

“ถ้าคุณเก่ง เอเยนต์จะเห็นคุณเหมือนเป็นบ่อน้ำมัน เป็นเครื่องขุดเจาะน้ำมัน หรือขุมทอง” ปีเตอร์  ออตตาช เอเยนต์ฟุตบอลกล่าวกับ BBC 

“เอเยนต์จะพยายามอย่างหนักในการลงทุนเพื่อที่จะรู้จักคุณเป็นอย่างดี เพราะในท้ายที่สุดเขาจะได้ผลตอบแทนจากการลงทุนนั้น” 

ขณะที่สมาคมฟุตบอลบางชาติในแอฟริกาอ้างว่าพวกเขาพยายามอย่างเต็มที่แล้วในการหยุดยั้งการค้ามนุษย์โดยใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือ แต่พ่อแม่หรือผู้ปกครองของนักเตะไม่ได้ทำให้เป็นเรื่องง่าย 

เพราะอันที่จริงตามกฎของฟีฟ่าก็มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามมีการซื้อขายนักเตะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเพื่อป้องกันเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนจะใช้ไม่ได้จริงในทวีปแห่งนี้

“ถึงอย่างนั้นแข้งดาวรุ่งเหล่านี้ก็ยังออกเดินทางในฐานะความหวังของครอบครัว” ออกุสติน เซนกอร์ นายกสมาคมฟุตบอลเซเนกัล กล่าวกับ Vice 

“ไม่มีใครชอบปรากฏการณ์นี้ เราทุกคนต่างคัดค้าน แต่พวกเขาได้วีซ่ามายังไง พวกเขาได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองถูกต้องตามกฎหมาย” 

“บางคนเปลี่ยนอายุตัวเองเพื่อไม่ให้ดูเด็กเกินไป พ่อแม่ไม่เคยมาหาเราเพื่อขอความช่วยเหลือ สิ่งเดียวที่พวกเขาเห็นคืออนาคตของลูกชายที่ประสบความสำเร็จกับทีมใหญ่ในยุโรป เราพยายามจัดแคมเปญเพื่อสร้างการรับรู้เรื่องการ ‘หยุดให้เงินเอเยนต์’ แต่เงินก็ยังเปลี่ยนมืออยู่ สิ่งนี้น่าเสียดาย” 

ด้าน มาลิค โทเฮ จากสมาคมฟุตบอลโกตดิวัวร์ บอกว่าคุณภาพของลีกฟุตบอลในแอฟริกาอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเตะสมองไหลและพยายามผลักดันตัวเองไปเล่นนอกทวีป ในทางกลับกันมันก็ทำให้ลีกในท้องถิ่นของพวกเขาไม่พัฒนา 

“ไม่มีนักเตะดาวรุ่งคนไหนอยากเล่นหรือยังอยู่ในลีกท้องถิ่น พวกเขาทั้งหมดต่างอยากไปสร้างชื่อในยุโรปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมพวกเขาจึงตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมอย่างง่ายดาย” โทเฮ กล่าวกับ Vice  

โทเฮเชื่อว่าต้องมีการรณรงค์เชิงรุกจากสมาคมฟุตบอลในแอฟริกา ที่จะช่วยให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาเอเยนต์ปลอมและการค้ามนุษย์มากกว่านี้ เพื่อกำจัดมะเร็งร้ายที่กำลังเกาะกินวงการฟุตบอลอยู่ข้างหลัง  

อย่างไรก็ดีตราบใดที่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนแอฟริกายังแร้นแค้น และลีกยุโรปเต็มไปด้วยเงินเดือนมหาศาลล่อใจ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหานี้ได้ในเร็ววัน 

“สโมสรในพรีเมียร์ลีกพยายามอย่างมากในการขัดขวางไม่ให้ครอบครัวของเด็กใช้เอเยนต์ที่ไม่รู้จัก และจำนวนการค้ามนุษย์ในสหราชอาณาจักรก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ” เฟรด ลอร์ด กล่าวกับ The Mirror

“แต่มันไม่ได้หายไป มีเด็กเป็นร้อยที่ยังถูกหลอกจากเอเยนต์ปลอมในแต่ละปี” 

“หลายคนถูกพวกค้ามนุษย์หลอกว่าจะพาไปอีกประเทศเพื่อเตรียมไปสหราชอาณาจักรอย่างเนปาล แล้วก็ทิ้งให้พวกเขาอยู่อย่างแร้นแค้น”