ความสุขของJK


ความสุขของJK

วันนี้ขอเล่าเรื่องส่วนตัวสักเล็กน้อยครับ ถ้าเรื่องส่วนตัววันนี้ไปโดนใจหรืออาจคล้ายกับเรื่องของหลายๆท่าน ผมจะรู้สึกดีใจมาก

    ความสุขของทุกคนคงมีบริบทที่แตกต่างกันออกไปนะครับ สำหรับผมมันคือ “ฟุตบอล” 

    ทั้งติดตามอ่านจากหนังสือ ในยุคไม่มีถ่ายทอดสด ทั้งติดตามนอนดึกดื่นในยุคทีวีถ่ายทอดสด

    จนถึงยุคโซเชียลที่เราติดตามฟุตบอลอย่างง่ายดายแค่ปลายนิ้ว

ความสุขของJK

    แต่อีกความสุขหนึ่งสำหรับตัวผมเอง…..ที่ผมมองว่าสำคัญและมันน่าจะเป็นช่วงเวลาเสี้ยวหนึ่งในการสร้างพื้นฐานต่อชีวิตการงานของเรานั่นคือการได้อยู่ในทีมฟุตบอล ได้เล่นบอล, ได้ฝึกบอล ได้เรียนรู้ศาสตร์ฟุตบอลอย่างถูกต้องจากโค้ชที่มีความรู้จริง มีประสบการณ์ ได้เตะบอลกับเพื่อนร่วมทีมคลาสระดับเยาวชนจนถึงทีมชาติชุดใหญ่

    เรื่องราวต่อไปนี้มันคือการได้รับความสุขจากการไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมฟุตบอล กีฬาที่ผมและทุกท่านที่ติดตามเพจjackie รักและหลงใหล 

    ผมเข้าจุฬาปี 2531 คณะครุศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา ความตั้งใจของผมนั้นก็อยากเป็นนักฟุตบอล อยากเป็นโค้ชฟุตบอล ด้วยเพราะภาควิชาพลศึกษา ครุศาสตร์จุฬา นั้นมีโครงการนักกีฬาช้างเผือกระดับเยาวชนและทีมชาติ น่าจะเป็นสถาบันที่ทำให้ผมได้เข้าถึงแก่นแท้ของกีฬาฟุตบอลมากยิ่งขึ้น

    ผมคาดหวังว่าจะได้มาร่วมเล่น ฝึกบอลเรียนรู้ศาสตร์ของฟุตบอลอย่างลึกซึ้งมากกว่าการไปเตะบอลกินเงินกับเด็กหมู่บ้านใกล้ๆกัน ช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ สมัยเรียนมัธยม แบบนั้นมันคือพวกครูพักลักจำ ไม่ได้มีการเรียนรู้การเล่นที่ถูกต้อง

    ร.ร. มัธยมของผมก็ไม่ได้สนับสนุนฟุตบอลมากนัก อีกทั้งก็ไม่มีเวทีให้มีการแข่งขันฟุตบอลนักเรียนนอกเหนือไปจากการจัดระดับจังหวัด แต่ด้วยการเดินทางอันยากลำบากก็คงไปต่อในจุดที่สูงขึ้นกว่าเดิมได้

    สมัยผมเป็นเด็กๆ หากอยากเข้าจังหวัดสุพรรณบุรี จากอ.สองพี่น้อง บ้านผม ไปได้ทางเดียวคือ “เรือ” ครับ  ถนนไม่มี เป็นคลองชลประทาน คันดิน ยังไม่มี ถนน “ลูกรัง” ด้วย  

ความสุขของJK

    อย่างที่น้าชัชชาติ ผู้ว่ากทม พูดว่าที่ไหนมีถนนลูกรัง ความเจริญจะเข้าไป แต่สำหรับผมตอนเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงมัธยม กว่าจะเจอถนนลูกรังก็โน่นเลย ผมอยู่ ม.3 (ปี พ.ศ.2527) แล้วร.ร.ผมจะส่งทีมแข่งบอลได้อย่างไร หากมีการสร้างทีมบอลนักเรียนขึ้นมา 

    ผมก็รู้จักฟุตบอลจากการอ่าน สตาร์ซอกเกอร์, ฟุตบอลสยาม เพราะมีคอลัมน์ สอนบอล เราก็ไปเอาฝึกเตะบอลกันเหมือนตำราผีบอกยังไงยังงั้น  ที่พอทำได้คือฝึกเดาะบอล เลี้ยงหลบอ้อมหลัก และเปิดบอลยาว เล่นกันในสนามเท่านั้นเองไม่ได้มีการเรียนรู้หรือฝึกบอลที่ถูกต้อง 

    เมื่อก่อนใครเตะบอลโด่งเตะไกล ติดตัวโรงเรียนครับ และครูที่สอนบอลก็ไม่ใช่ครูพลศึกษา เป็นครู วิทยาศาสตร์ บ้างอะไรบ้าง  จนถึงมัธยมค่อยมีครูพลศึกษา แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังไม่ถึงแก่นเท่าไหร่นัก

    ดังนั้นเมื่อผมเข้ามาจุฬา แล้วต้องการเล่นฟุตบอล ผมก็ต้องมาเจอกับพี่ๆเพื่อนๆ ที่เขาเป็นนักบอลกันอยู่ก่อนแล้ว ส่วนใหญ่เล่นบอลระดับถ้วยพระราชทาน ข.,​เยาวชน รวมทั้งทีมชาติ กล่าวคือพวกเขาเล่นบอล “เป็น”และมี “คลาส” กันแล้ว

    รุ่นพี่ผมที่โด่งดังติดทีมชาติคือ พี่อ้วน สาธิต จึงสำราญ “แกสซ่าเมืองไทย” 

    โคตรบอลคนหนึ่งของแดนกลาง พี่เอกราช เกิดแจ่ม ดาวซัลโวถ้วย ข จากทีมทหารอากาศ  พี่ดู๊ด อดุลย์ รุ่งเรือง “วิฟ แอนเดอร์สัน เมืองไทย” ทีมชาติและสโมสรราชประชา, ภาคภูมิ นพรัตน์, พิทยา นัยสุภาพ , ยศไชย ชัยสุทธิเมธีกุล (ไม่ใช่นักกีฬาโครงการ) 

    ส่วนรุ่นผมที่เป็นโครงการนักกีฬาช้างเผือกก็คือสุรชัย จตุรภัทรพงศ์ ตอนนั้นติดทีมเยาวชนทีมชาติไทยอายุต่ำกว่า 19 ปี เล่นถ้วย ข สโมสรการท่าเรือ เด่นพงษ์ พงษ์ญาติ นี่โด่งดังจากยุวชนปรินเซสคัพ อายุ 12 ปี โน่น ก็เล่น ท่าเรือ ถ้วยข ยังมี ปิยะกุล แก้วน้ำค้าง ถ้วย ก. ธนาคารกรุงเทพ ทีมเยาวชนทีมชาติ  ด้วยเช่นกัน

ความสุขของJK

    จังหวะพอดีที่ อาจารย์หรั่ง ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน (สว) มาเรียนปริญญาโท ที่คณะครุศาสตร์​ อาจารย์ถูกทาบทามให้คุมฟุตบอลมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนนั้น โค้ชหรั่ง มีชื่อเสียงในวงการฟุตบอลไทยอยู่แล้ว  โค้ชหรั่งหรือที่พวกเราเรียกว่า อาจารย์หรั่ง ทำงานกับทีมราชประชาในกลุ่มสตาฟโค้ช เป็นผู้ช่วยของโค้ชทีมชาติไทยชาวเยอรมัน โบการ์ด ซีเซ พาทีมไทยเหรียญทองซีเกมส์ปี 2528 ชุดนั้นก็พี่ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน, พิชัย คงศรี, เฉลิมวุฒิ สง่าพล, วิทยา เลาหกุล…..

    ผมมีโอกาสไปคัดตัวหลังจากเล่นบอลโต๊ะเล็กกับอาจารย์ (บอลห้าคน) แต่พอไปเจอสนามใหญ่ 11 คน บอลเป็นแบบแผน  ความที่ผมเป็นพวกบอลเดินสายกินเงิน วันเสาร์และอาทิตย์ ไม่ได้รู้ระบบ แทกติก วิธีการเล่นบอลที่ถูกต้อง  ผมจึงไม่ผ่านการคัดเลือให้ติดตัวทีมมหาวิทยาลัย  

    ถ้าติดนี่แสดงว่าผมเด็กเส้นแน่นอนหรือไม่อาจารย์หรั่งก็เสียความเป็นโค้ชละครับ  555

    ตอนนั้นพอไม่ติดตัวมหาลัย…ผมก็ออกปากขอ อาจารย์หรั่ง ว่าอยากอยู่กับทีมบอลต่อ ให้ช่วยงานอะไรในทีมอะไรก็ได้ทั้งนั้น นั่นเองที่ทำให้ผมได้อยู่กับทีมบอลมหาลัย เป็นเจ้าหน้าที่ทีม ดูแลอุปกรณ์, ลูกบอล, กรวยที่ใช้ฝึกฟุตบอล

    ที่ยอดเยี่ยมคือ ผมได้ฝึกฟุตบอลไปพร้อมกับนักบอลจุฬาชุดนั้น เพียงแต่ผมไม่ได้เป็นนักเตะมหาวิทยาลัยเท่านั้นเอง ที่สำคัญกว่านั้น…..นั่นคือครั้งแรกในชีวิตที่ได้ฝึกบอลอย่างถูกต้องตามศาสตร์ โดยโค้ชที่มีความสามารถได้เล่นบอลกับเพื่อนๆพี่ๆ ที่เป็นนักฟุตบอล 

    นอกเหนือจากเรื่องการเล่นบอลที่ถูกต้องตามศาสตร์แล้ว… สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตและได้ความรู้นั่นคืองานของโค้ช

    แน่นอน…อาจารย์หรั่ง ที่ช่วงนั้นก็ไปอบรมโค้ชบราซิล, เยอรมัน ตามหลักสูตรของสมาคมฟุตบอลที่ยังไม่มีหลักสูตร โปรไลเซนส์เหมือนทุกวันนี้ แล้วอาจารย์ก็นำมาใช้กับทีมบอลระดับมหาวิทยาลัย

    ผมสังเกตการทำงานของอาจารย์หรั่ง ว่ามันอาจเป็นจิตวิทยา เป็นกุศโลบายของ อาจารย์ในการเลือกนักเตะติดทีมมหาวิทยาลัย โดยเลือกตัวเด่นๆ จากหลายคณะเข้ามาร่วมทีม (ตอนนั้นทีมมหาลัยส่งนักเตะ 18 คน)  โดยมีคณะ

ครุศาสตร์เป็นแกนอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่นักบอลก็เรียนอยู่ครุฯ กันเยอะ อาจารย์ มานั่งดูฟอร์มนักเตะช่วงแข่งบอลภายในจุฬา จากนั้นก็เปิดคัดเลือกด้วย จนได้ พี่วิศวะ, สถาปัตย์, ศิลปกรรมศาสตร์, รัฐศาสตร์ เป็นทีมจุฬา อย่างที่อาจารย์หรั่งต้องการ 

    จากนั้นเตรียมตัวซ้อมสามเดือนก่อนแข่งกีฬามหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพปี 2531 ผมคือเจ้าหน้าที่ทีม เช่นเดียวกันกับทางรองปลัดกระทรวงมหาดไทย พี่ติ๊ก ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม อดีตผู้ว่าจ.เลย  ณ จุดนั้นเองที่ผมเริ่มเข้าใจศาสตร์ฟุตบอลในทุกครั้งที่มีซ้อม, การวางแผนก่อนแข่ง , การแก้เกมของ อาจารย์หรั่ง และผู้ช่วยคือ พี่หลอด เกษตรชัย สุวรรณธาดา อดีตนักบอลธนาคารกรุงเทพ

    ผมว่าหัวใจคือการเตรียมทีม….อาจารย์หรั่งคุมทีมซ้อม 3 เดือน วางแผนการซ้อมและถ่ายทอดไอเดียให้ทุกคนได้รู้ไปทางเดียวกันว่าบอลของอาจารย์ จะเล่นแบบไหน และอย่างไร ช่วงนั้นปี 2531 ทีมบอลมหาวิทยาลัยที่เก่งนั้นต้องยกให้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะมีตัวทีมชาติล้นทีม ตั้งแต่ผู้รักษาประตู สมเกียรติ ปัสสาจันทร์, นพดล วิจารณรงค์ (เปลี่ยนชื่อเป็นวรกร) ประสงค์ พันธ์สวัสดิ์, วิโรจน์ กิจเครือ, กฤษดา พงษ์​รื่น, กิตติศักดิ์ ยอดญาติไทยหรือปัจจุบันคือโค้ชโต่ย ม.กรุงเทพคือตัวเต็งเหรียญทอง เช่นเดียวกับ มศว พลศึกษา 

    สุดท้าย อาจารย์หรั่งพาทีมจุฬาคว้าเหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรกในประวัติศาตร์ของทีมจุฬากับเหรียญทองฟุตบอลมหาลัย เล่นกันมา16 ครั้ง กว่าจะได้เหรียญทองก็ในยุค อาจารย์หรั่งนี่แหละ 

ความสุขของJK

    จากนั้นอาจารย์หรั่งก็ถูกดึงไปคุมทีมสโมสรธนาคารกสิกรไทยจนยิ่งใหญ่ในประเทศ และคว้าแชมป์เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ ลีกสองสมัยติดต่อกัน (back to back) รวมทั้งสร้างนักเตะสู่ทีมชาติไทยอีกมากมาย……

บทสรุปความสำเร็จของฟุตบอลคือ….โค้ชดีและเก่งครับ

    นักเตะมีส่วนร่วมด้วยแต่ถ้าโค้ชเลือกนักเตะมาใช้งานไม่ได้ หรือดึงความสามารถให้เล่นตามแทกติกตัวเองไม่ได้….ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ

    โค้ชดีและเก่งจะนำมาซึ่งการบริหารจัดการทีม, ศาสตร์บอล, จิตวิทยา ทุกสิ่งอย่าง 

    ผมจึงโชคดีที่แม้เป็นเจ้าหน้าที่ทีมช่วงที่เป็นนิสิตปีหนึ่ง แต่ได้มีโอกาสฝึกซ้อมบอลไปกับทีมด้วย เมื่อเราได้เตะกับคนเก่ง ได้โค้ชที่ดี การพัฒนาฝีเท้ามันเกิดขึ้น  แน่นอน ผมอยู่กับทีมฝึกฟุตบอลตลอดเวลาอย่างนั้น เรียนรู้จากสิ่งที่เป็นข้อความรู้ฟุตบอลและประสบการณ์ของคนที่เล่นบอล ผมจึงติดทีมบอลจุฬาในเวลาต่อมา

    จากนั้นก็ผมได้ไปเล่นบอลถ้วยพระราชทาน ค. กับทีมราชประชา ทีมมหาวิทยาลัยก็มีฟุตบอลทัวร์นาเม้นต์ให้เล่น จุฬาก็ส่งฟุตบอลแข่งถ้วย ง  รวมทั้งบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์ (ทีมบอลประเพณีผมไม่ติดครับ)

    ช่วงเวลาสี่ปีในรั้วมหาวิทยาลัยกับการได้อยู่ในทีมฟุตบอล ได้เรียนรู้อะไรมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตการเป็นนิสิตช่วงนั้นคือ “ความสุขใจ” ที่ได้อยู่กับฟุตบอลและทีมบอล

    เมื่อเราได้อยู่ในทีมบอลชุดนั้น ได้เจอเพื่อนพี่น้อง ซ้อมบอลด้วยกัน ไปไหนไปด้วยกันเป็นทีม ได้รับความรักจากรุ่นพี่ เพื่อน รุ่นน้อง ได้เห็นสปิริตความเป็นนักกีฬาอย่างเหนียวแน่น 

    มันเป็นอะไรที่อธิบายยากครับ ถ้าใครเคยเล่นบอล อยู่ทีมบอล น่าจะเข้าใจถึงคุณค่าทางใจจนกลายเป็นพันธะผูกพันทุกคนที่ได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลา 4-5 ปีตรงนั้น จนสายป่านยาวมาทั้งชีวิต 

    เวลาผ่านไป 30 ปี วันนี้ทุกคนในทีมอาจารย์หรั่งชุด 2531-2534 ต่างเรียนจบไปประกอบสัมมาชีพ ที่ก้าวหน้ามั่นคงในการงานของแต่ละคน ส่วนที่ไปเติบโตสายฟุตบอลก็มีไม่น้อย  บางท่านข้าราชการเป็นถึงระดับเอกอัครราชทูต ที่ผมเอ่ยนามได้เพราะสนิทสนมกันอยู่ พี่ปั๊ด จิตติพัฒน์ ทองประเสริฐ เอกอัคราชทูตไทยประจำสวิสเซอร์แลนด์ จบคณะรัฐศาสตร์ และเป็นกองหน้าของทีมจุฬาชุดเหรียญทองกีฬามหาวิทยาลัยปี 2531 ด้วย

    ถ้าอาจารย์หรั่ง ไม่มีกุศโลบายที่ดีในการนำนักเตะหลายคณะๆมาเล่นทีมบอลมหาวิทยาลัย อาจารย์ คงไม่มีลูกศิษย์นักกีฬาเป็นเอกอัครราชทูต ,รองปลัดกระทรวงมหาดไทย….เป็นดร. นักวิชาการ….

    นั่นอาจรวมทั้งผู้ประกาศข่าวกีฬาช่อง7 ที่หล่อคมเข้ม คนนั้นด้วยนะ 

    จากวันนั้นจนถึงวันนี้ผมคิดว่าทีมฟุตบอลสร้างและให้อะไรกับคนที่ไปเกี่ยวข้องหรือคนที่อยากศึกษาถึงความเป็นทีมมากมาย เช่นกันครับชมรมฟุตบอลจุฬาก็คงไม่ต่างจากชมรมฟุตบอลอื่นๆ ทั่วไป ที่มีความเป็นสถาบัน มันก่อร่างสร้างตัวด้วยความรักและความผูกพัน มีรุ่นพี่รุ่นน้อง, มีการจัดระเบียบ, มีสปิริต, มีเอกภาพ มีขนบประเพณี

    สิ่งเหล่านี้คือสิ่งดีงามครับ

    มันได้ร้อยเรียงเกี่ยวกันจนเป็นพันธนาการที่เหนียวแน่น มีความเป็นปึกแผ่นเกิดขึ้น และหากยังรักษาสิ่งดีงามเหล่านี้เอาไว้มันจะดำรงอยู่ไปตลอด 

    เมื่อเปิดแฟ้มภาพมาดูครั้งใดย่อมได้รับความสุขใจทุกครั้งไป

    เหมือนเหตุการณ์ที่ได้สร้างความสุขให้กับตัวผม พี่ๆน้องๆ ที่เกี่ยวข้องในทีมบอลและชมรมฟุตบอลจุฬา เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน “คืนสู่เหย้า” ชมรมฟุตบอลจุฬา ในนาม “ลูกหนังสามย่าน” ที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือสนามจุ๊บ แหล่งก่อกำเนิดเรื่องราวดีๆมากมายให้กับพวกเราชาวชมรมฟุตบอล

    ทีมบอลจุฬา มาจากความแตกต่างหลากหลายคณะ ต่างแผนกวิชา จากครุศาสตร์, วิศวกรรมศาสตร์, รัฐศาสตร์,ศิลปกรรมศาสตร์,นิเทศ, บัญชี ,แพทย์,นิติ …..ใครก็ตามที่มีชื่อเป็นนักบอลมหาวิทยาลัย ถูกหล่อหลอมร่วมกันเป็นทีม มีเอกภาพ, สปิริต มีขนบ มีวินัย เติมด้วยอาวุโสเทิดไว้ ทำให้ความเป็นทีมบอลจุฬาสมบูรณ์แบบ

ความสุขของJK

    ถ่ายทอดกันจากรุ่นสู่รุ่น

    ยุคก่อนผมเข้าไปเรียนก็มีทีมบอลอยู่ก่อนแล้ว  ถึงยุคผม2531-2534 มี ดร.ชาญวิทย์ ผลชีวิน เป็นโค้ช  ยุคต่อๆมา ดร.จุฑา ติงศภัทิย์ สร้างทีมได้อีกหนึ่งชุดใหญ่ๆ ตามด้วย สัจจา ศิริเขตต์ ล่าสุดคือ อดุลย์ ลือกิจนา ที่ทำให้ความเป็นทีมยังคงอยู่ต่อไป 

    นอกจากนี้….อีกความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง สำหรับนักฟุตบอลที่เข้ามาเรียนที่จุฬา ทั้งโนเนม, ทั้งระดับเยาวชนทีมชาติ ต่างพัฒนาฝีเท้า เมื่อครั้งเริ่มเล่นให้จุฬา จนกระทั่งพัฒนาฝีเท้าก้าวไปติดทีมชาติไทยในที่สุด

    ถ้ายุคผมก็ สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ เป็นจุดเริ่มต้นสร้างตำนานอันน่าภูมิใจเหล่านั้น สมัยผ.อ. ง้วนแห่งบีจี อยู่ จุฬา พึ่งเล่นระดับทีมชาติ ยู-19 ก่อนติดทีมชาติชุดใหญ่ 

    จากนั้นก็มีหลายคนที่ผ่านเส้นทางเดียวกันแบบนั้น แบบเข้ามาเรียนก่อนยังไม่ติดทีมชาติ มีมากมาย ตัวอย่างเช่น…  จักราช โทนหงษา,วุฒิชัย  ทาทอง,สมปอง สอแหลบ,พรรษา เหมวิบูลย์,อภิวัฒน์ งั่วลำหิน,ปะวีณวัช บุญยงค์,พีรดนย์ ฉ่ำรัศมี,จักรพัน ไพรสุวรรณ   จนถึง วีระเทพ ป้อมพันธ์ คนล่าสุด 

    งานคืนสู่เหย้าชาวลูกหนังสามย่านของผม คืองานที่ก่อให้เกิดความรู้สึกครับ

รู้สึกถึงความอบอุ่นเมื่อได้เจอพี่น้อง คนคุ้นเคย 

รู้สึกถึงความภาคภูมิใจเมื่อกลุ่มคนที่ผ่านเรื่องราวในทีมฟุตบอลทีมนี้ได้ก้าวหน้าในวิชาชีพของตัวเอง 

รู้สึกถึงความรักระหว่างพวกเราทีมฟุตบอลที่ไม่มีวันเสื่อมคลายและหายไปไหน

ส่วนตัวของผมนะครับ…

    เรื่องราวบางช่วงเวลา  นำผมมาสู่เรื่องราวทั้งหมดของชีวิต

    ดังนั้นความรู้สึกที่ผมพอขมวดให้มันแคบที่สุดเท่าที่จะทำได้จากการกลับไปร่วมงานคืนสู่เหย้าชาวลูกหนังสามย่าน

    มันคือ “ความสุขใจ” ครับ

    JACKIE

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร

Add friend ที่ @Siamsport

เพิ่มเพื่อน