แชมป์ลีก 4 สมัย ฟุตบอลถ้วย 4 สมัย และเจ้าของสถิติแฟนบอลเฉลี่ยสูงสุดหลายซีซั่น คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของลีก
อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ ที่เล่นในญี่ปุ่น แต่เป็น อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ สิงคโปร์ ที่โลดแล่นอยู่ในวงการลูกหนังแดนเมอร์ไลออนส์ มากว่าทศวรรษ
พวกเขามาเล่นที่นี่ได้อย่างไร ติดตามเรื่องราวของสโมสรสัญชาติซามูไรในสิงคโปร์ได้ที่นี่
ลีกที่เกิดพร้อมไทยลีก
ฟุตบอล ถือเป็นกีฬาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มันมีจุดเริ่มต้นจากอังกฤษ ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลกผ่านการล่าอาณานิคม และสิงคโปร์ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เมื่อเกมลูกหนังได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตพวกเขาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19
Photo : www.todayonline.com
พวกเขาก่อตั้งสมาคมฟุตบอลขึ้นในปี 1892 ก่อนมหาอำนาจของเอเชีย อย่างญี่ปุ่น (1921), เกาหลีใต้ (1928) หรือแม้กระทั่งยอดทีมของโลกอย่างบราซิล (1914) อยู่ถึง 20-30 ปี และถือเป็นสมาคมฟุตบอลที่เก่าแก่ที่สุดของเอเชีย
หลังจากนั้นฟุตบอลของสิงคโปร์ ก็ผ่านการพัฒนามาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ฟุตบอลถ้วย ก่อตั้งลีกกึ่งอาชีพ แถมยังเคยรวมทีมข้ามฟากไปเตะในศึกมาเลเซียคัพ ในฐานะ สิงคโปร์ ไลออนส์ ตั้งแต่ปี 1921 และคว้าแชมป์มาได้ถึง 24 สมัย
จนกระทั่งในปี 1996 ฟุตบอลของพวกเขาก็มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น เมื่อสมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ ตัดสินใจก่อตั้ง สิงคโปร์ ลีก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “เอสลีก” ลีกอาชีพแรกของพวกเขา ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการกำเนิดขึ้นของ ไทยแลนด์ ซอคเกอร์ลีก หรือ ไทยลีก ในปัจจุบัน
ในฤดูกาลแรกของเอสลีก พวกเขาใช้ระบบซีรีส์ ที่จะเอาแชมป์ของแต่ละซีรีส์ มาเตะเพลย์ออฟ เพื่อหาแชมป์ในนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งตอบรับถือว่าค่อนข้างดี เมื่อมีผู้ชมถึง 30,000 คน เข้ามาเป็นสักขีพยานในเกมชิงแชมป์ ที่ เกย์ลัง ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายเอาชนะ สิงคโปร์ อาร์มฟอร์ซ ไปได้ 2-1
Photo : www.singaporepools.com.sg
แต่นั่นก็เป็นฤดูกาลแรก และฤดูกาลสุดท้ายที่พวกเขาเอาระบบซีรีส์มาใช้ เมื่อหลังจากนั้น เอสลีก ได้กลับไปใช้ระบบลีกแบบปกติ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของ สิงคโปร์ อาร์ม ฟอร์ซ ที่กวาดแชมป์มาได้ถึง 4 สมัยใน 6 ฤดูกาลหลังสุด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการแข่งขัน จะดำเนินไปได้ด้วยดี และมีจำนวนทีมเพิ่มขึ้นทุกปี จาก 8 ทีมในปี 1996 เป็น 9 ทีมในปี 1997 และ 12 ทีมตั้งแต่ปี 1999 แต่ผลตอบรับนอกสนามกลับสวนทาง พวกเขาประสบปัญหามากมาย โดยเฉพาะจำนวนแฟนบอลในสนามที่มีเพียงแค่หยิบมือ
ด้วยเหตุผลนั้น ทำให้สมาคมฟุตบอลสิงคโปร์ (FAS) พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหานี้ และมันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์
สโมสรพลัดถิ่นจากแดนอาทิตย์อุทัย
ปัญหาแฟนบอลซบเซา กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับ FAS เพราะนอกจากจะเกี่ยวพันต่อรายได้ของแต่ละสโมสรแล้ว มันยังทำให้คุณภาพของลีกที่แทนที่จะได้พัฒนา กลับมาแย่ลง และอาจเลวร้ายจนถึงต้องพักลีก
และเพื่อไม่ให้ไปจนถึงจุดนั้น FAS ตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือการเชิญทีมต่างชาติมาเล่นในเอสลีก หวังกระตุ้นความสนใจของแฟนบอลต่อเอสลีกให้มากขึ้น และได้ประเดิมฤดูกาลแรกในปี 2003 โดยมี ซินฉี เอฟซี จากจีน กลายเป็นทีมต่างชาติทีมแรกในเอสลีก
Photo : wikipedia.org
แต่นั่นเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นก็มีทีมต่างชาติมากมายที่พาเหรดมาเล่นในเอสลีก ไม่ว่าจะเป็น ซูเปอร์ เรดส์ (เกาหลีใต้) Sporting Afrique (แอฟริกา) เลี่ยวหนิง กวงหยวน, ต้าเหลียน ซือเต๋อ ซิวู, ปักกิ่ง กั๋วอัน ทาเลนท์ (จีน), Etoile (ฝรั่งเศส) หรือ DPMM FC ของบรูไน จนทำให้พวกเขาเป็นเหมือนลีกสหประชาชาติ
และ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ ก็เป็นหนึ่งในนั้น อันที่จริงในตอนนั้น พวกเขาเป็นเพียง สโมสรที่เพิ่งขึ้นมาเล่นในลีกสูงสุดญี่ปุ่นเมื่อปี 2003 แต่ด้วยคำเชิญของ FAS ทำให้ อัลบิเร็กซ์ ตัดสินใจส่งอีกทีมลงแข่งในแดนเมอร์ไลออนส์ ในนาม อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ สิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2004
“มันเริ่มจากการเป็นพันธมิตรระหว่างเอสลีก กับ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ จากญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2004” หยู จุน เสี่ยน อดีตผู้จัดการทีมชาวสิงคโปร์ของ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ สิงคโปร์ กล่าวกับ ESPN เมื่อปี 2014
“แนวคิดก็คือเพื่อพัฒนาฟุตบอลของทั้งสองฝ่าย และนี่ก็เป็นวิธีการของ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ สิงคโปร์ ตลอดช่วงเวลาของเราที่นี่”
Photo : www.albirex.com.sg
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในตอนนั้น เอสลีก จะเริ่มมีกฎบังคับใช้โควตาต่างชาติแล้ว แต่สำหรับสโมสรต่างชาติ พวกเขาได้ลงเล่นภายใต้เงื่อนไขพิเศษ นั่นคือการสามารถใช้นักเตะในชาติตัวเองเป็นแกนหลัก ส่วนนอกนั้นให้นับเป็นโควตาต่างชาติ
ตัวอย่างเช่น ซูเปอร์ เรดส์ ต้องใช้นักเตะจากเกาหลีใต้, เลี่ยวหนิง ต้องใช้นักเตะจากจีน, Etoile ต้องใช้ผู้เล่นฝรั่งเศส หรือ Sporting Afrique ต้องมีแกนหลักเป็นนักเตะจากทวีป แอฟริกา เช่นกันกับ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ ที่เกือบทั้งทีมเป็นชาวญี่ปุ่น
โดยนักเตะส่วนใหญ่ของพวกเขา นอกจากการทดสอบฝีเท้าก่อนเปิดฤดูกาลที่ญี่ปุ่น ก็ต่างล้วนมาจากสถาบันที่ชื่อ “แจแปน ซอคเกอร์ คอลเลจ”
มันเป็นโรงเรียนสอนฟุตบอลของเมืองนีงาตะ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2002 โดยมีเป้าหมายในการผลิตนักฟุตบอลทั้งชายและหญิงให้กับ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ รวมไปถึงบุคลากรเกี่ยวกับฟุตบอลให้กับวงการฟุตบอลญี่ปุ่น
พวกเขาจะใช้ระบบการคัดเลือกจากฝีเท้า หากนักเรียนคนไหนฝีเท้าดี พวกเขาก็จะถูกส่งไปให้ อัลบิเร็กซ์ ญี่ปุ่น ได้เลือกก่อน แต่ถ้าใครผลงานยังไม่เข้าตา ก็จะถูกส่งมาให้ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ ได้เลือกเข้าทีมอีกที
Photo : cups-y.com
อย่างไรก็ดี หากผู้เล่นที่ส่งมาที่ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ ทำผลงานได้ดีในแดนเมอร์ไลออนส์ พวกเขาอาจจะถูกเรียกตัวกลับไปที่สโมสรแม่ มันจึงทำให้ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ สิงคโปร์ เป็นเหมือนที่ฝึกงานของนักเตะเหล่านี้
“โรงเรียนสอนฟุตบอลที่ญี่ปุ่น จะส่งรายชื่อนักเตะมาให้เรา และเราก็เลือกมาเข้าทีมทั้งจากทดสอบฝีเท้าและรายชื่อของ JSS (Japan Soccer School)” หยูอธิบาย
“ผู้เล่นที่เราเลือกรู้ว่าถ้าพวกเขาทำผลงานได้ดีในเอสลีก มันอาจจะเป็นทางให้พวกเขาได้รับข้อเสนอจากสโมสรอื่นในภูมิภาค หรือได้กลับไปเล่นในเจลีก หรือในยุโรป เหมือนกับอดีตผู้เล่นบางคนของเราที่เคยทำได้”
“ดังนั้นมันคือแรงกระตุ้นทั้งหมดที่พวกเขาจะต้องทำในสนาม”
และมันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่ได้มาเล่น ๆ
สโมสรที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ลีกอาชีพสิงคโปร์
ในช่วงเริ่มต้นของการลงเล่นในสิงคโปร์ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ เป็นเพียงแค่ทีมกลางตาราง พวกเขาไม่เคยไปไกลกว่าอันดับ 5 จากทั้งหมด 10-12 ทีมในลีก
นอกจากนี้ปัญหานอกสนามก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน เมื่อพวกเขาต้องประสบปัญหาขาดทุนเป็นเงินสูงถึง 530,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี (ราว 11 ล้านบาท) อันเนื่องมาจากการพึ่งพาเงินทุนจากสโมสรแม่เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ดี การมาถึงของ ไดซุเกะ โคเรนางะ ที่เข้ามานั่งเป็นประธานสโมสรของทีมตั้งแต่ปี 2008 ก็ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ ไปตลอดกาล
Photo : www.goal.com
เขาเริ่มจากการมองหาสปอนเซอร์ เนื่องจากสถานะสโมสรต่างชาติ ทำให้อัลบิเร็กซ์ ได้รับเงินสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลเพียงแค่ 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (11 ล้านบาท) หรือครึ่งเดียวของสโมสรท้องถิ่น ในขณะที่งบประมาณในการทำทีมจะใช้เงินอยู่ราว 1.3 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้ผู้สนับสนุนเป็นสิ่งสำคัญมาก
และกลยุทธ์ของเขาก็ได้ผล เมื่อการเจาะไปที่ เหล่าบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น ที่มาทำธุรกิจในสิงคโปร์ ได้รับผลตอบรับดีมาก เมื่อมีบริษัทถึง 50 บริษัทที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนให้ทีม (สโมสรในเอสลีกมีผู้สนับสนุนเฉลี่ยไม่เกิน 5 บริษัท) รวมไปถึงแบรนด์ดังอย่าง Canon และ Mizuno จนทำให้อัลบิเร็กซ์ มีรายได้จากส่วนนี้ถึงราว 500,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อปี (ราว 11 ล้านบาท)
นอกจากนี้ เขายังได้เอาวัฒนธรรมการเชียร์แบบญี่ปุ่นเข้ามา นั่นก็คือทีมเชียร์ลีดเดอร์ในสนาม เพื่อดึงดูดแฟนบอลให้เข้ามาชมเกม และเป็นทีมเดียวในลีกสิงคโปร์ ที่มีในส่วนนี้ โดยเชียร์ลีดเดอร์ ของล้วนพวกเขามาจาก Cheer Dance School โรงเรียนที่สอนการเชียร์โดยเฉพาะของอัลบิเร็กซ์ในสิงคโปร์
เช่นเดียวกับระเบียบวินัยในสนาม ที่เข้มงวดตามแบบฉบับซามูไร ก็ถูกนำมาใช้จนเป็นวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะการตรงต่อเวลา ที่หากใครมาซ้อมสาย จะถูกสั่งห้ามลงซ้อมในวันนั้นทันที และทำได้เพียงวิ่งไปรอบ ๆ สนามเท่านั้น
Photo : Albirex Niigata FC Singapore
“พวกเขาอยากให้คุณมาก่อนเวลา เพื่อให้พร้อมสำหรับการซ้อม คุณต้องมีวินัยมากที่นี่” ดาเนียล มาร์เทน อดีตแข้งต่างชาติของ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ กล่าวกับ South China Morning Post
ก่อนที่การจัดการอย่างเป็นระบบ และเป็นระเบียบจะเริ่มผลิดอกออกผล และทำให้ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ ค่อย ๆ ทำผลงานได้อย่างดีวันดีคืน จากอันดับ 7 ในปี 2008 มาเป็นอันดับ 3 ในปี 2012 และสามารถประกาศศักดาคว้าแชมป์เป็นครั้งแรกในปี 2016
หลังจากนั้นพวกเขาก็ไม่เคยหลุดจากตำแหน่งหัวตารางอีกเลย เมื่อสามารถคว้าแชมป์ลีก ซึ่งในปัจจุบันใช้ชื่อ สิงคโปร์ พรีเมียร์ลีก มาครองได้อีก 3 สมัยในปี 2017, 2018 และ 2020 รวมไปถึงแชมป์ สิงคโปร์ คัพ กับ สิงคโปร์ ลีกคัพ และทำให้พวกเขาคว้าไปแล้วถึง 12 โทรฟี นับตั้งแต่ปี 2016
นอกจากนี้ในฤดูกาล 2018 พวกเขายังได้สร้างปรากฎการณ์บนผืนแผ่นดินเมอร์ไลออนส์ ด้วยการเป็นแชมป์แบบไร้พ่าย พร้อมทั้งเก็บชัยชนะไปถึง 21 นัดจาก 24 นัด และได้รับการขนานนามว่าเป็นทีมที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลสิงคโปร์
“ตลอดหลายปี ผู้เล่นของเราเริ่มคุ้นเคยกับลีก เราเข้าใจวิธีที่จะชนะ มันใช้เวลาพอสมควร ไม่ใช่ความก้าวหน้าเพียงแค่ชั่วข้ามคืน” โค มุย ที รองประธานสโมสรอธิบายกับ South China Morning Post
Photo : Albirex Niigata FC Singapore
ในขณะที่นอกสนามก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน เมื่อพวกเขากลายเป็นสโมสรที่มียอดแฟนบอลเฉลี่ยในสนามสูงสุดของลีกหลายฤดูกาลติดต่อกัน ด้วยจำนวนแฟนบอลที่เกินกว่า 1,600 คน ต่างจากสโมสรอื่นที่มีเพียงแค่หลักร้อยเท่านั้น และกลายเป็นต้นแบบให้ทีมอื่นในสิงคโปร์ได้ศึกษา
“เรามีแค่ 9 ทีมในลีก และความเป็นจริงคือมีแค่สโมสรต่างชาติสองทีมที่ถูกมองว่าเป็นทีมที่ดีที่สุด ทีมเหล่านี้ครบถ้วนในทุกด้าน ไม่ใช่แค่ในเรื่องฟุตบอล แต่ในเรื่องของการปฏิสัมพันธ์กับแฟน และการดึงดูดแฟนบอล” มาร์ค ลิม อดีตนักข่าวของ Straits Times กล่าว
อย่างไรก็ดี ภารกิจของพวกเขาไม่ได้มีแค่นี้
เป็นท้องถิ่น
แม้จะประสบความสำเร็จอย่างมากมายในสิงคโปร์ แต่สิ่งนี้ก็เหมือนดาบสองคม เมื่อในอีกด้านหนึ่งความสำเร็จนี้ ทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าโจมตีในฐานะ “สโมสรต่างชาติ”
Photo : Albirex Niigata FC Singapore | Playmaker/ Leo Shengwei
เพราะนอกจากจะไม่สามารถไปแข่งขันในฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชียได้ รวมถึงเผชิญกับเสียงต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม ที่มองว่าลีกสิงคโปร์ ควรจะมีเพียงแค่ทีมสิงคโปร์แล้ว พวกเขายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน ที่วันนึงอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงแข่งในลีก
และ อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ ก็รู้ถึงสถานะของตัวเองในจุดนี้ ทำให้นอกจากผลงานในสนามแล้ว พวกเขายังพยายามทำให้สโมสรกลมกลืน หรือเป็นทีมท้องถิ่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
“บางคนไม่อยากให้เราเข้าร่วม SPL เพราะบวกเขาเชื่อว่าลีกต้องมีแค่สโมสรสัญชาติสิงคโปร์ ดังนั้นเราจึงต้องแสดงให้เห็นความรับผิดชอบต่อชุมชนท้องถิ่นของเรา” โคเรนางะ กล่าวกับ South China Morning Post
ในปี 2018 อัลบิเร็กซ์ สิงคโปร์ จึงตัดสินใจผ่าตัดทีมครั้งใหญ่ ด้วยการเหลือนักเตะชุดเดิมเอาไว้เพียงแค่ 4 ราย พร้อมกับเซ็นนักเตะสัญชาติสิงคโปร์ มาร่วมทีมถึง 6 คน หลัง FAS ออกกฎใหม่ที่ทุกทีมต้องส่งนักเตะท้องถิ่นลงสนามทุกเกมอย่างน้อย 2 คน
Photo : Albirex Niigata FC Singapore | Playmaker/ Leo Shengwei
นอกจากนี้พวกเขายังได้จับมือกับ Yuhua Community Sports Club องค์กรกีฬาที่รัฐบาลให้การสนับสนุน ในการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงเรียนสอนฟุตบอลสำหรับเด็ก บริจาคเครื่องมือทางการแพทย์ ไปจนถึงตอบแทนสังคมอย่าง จัดวันล้างแฟลต หรือแจกข้าวผู้ยากไร้
ในขณะเดียวกัน พวกเขายังได้บริจาคเงิน 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ ต่อจำนวนผู้ชมในบ้านของสโมสรให้กับ Yuhua Community Sports Club ที่ทำให้ อัลบิเร็กซ์ บริจาคเงินไปแล้วกว่า 100,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.2 ล้านบาท) ตลอดหลายปีที่ผ่านมา
“พวกเขามีน้ำใจมากในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส และความทุ่มเทในการปฏิสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่น” ลิม ช็อค ซิง ประธาน Yuhua CSC กล่าว
Photo : Albirex Niigata FC Singapore | Playmaker/ Leo Shengwei
นอกจากนี้พวกเขายังมีโครงการที่จะนำนักเตะชาวสิงคโปร์ฝีเท้าดีไปเล่นกับ อัลบิเร็กซ์ นีงาตะ และเชื่อว่ามีผู้เล่นท้องถิ่นบางคน ดีพอที่ที่จะเล่นในญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายในการพัฒนาฟุตบอลของสิงคโปร์ตั้งแต่ระดับรากหญ้า
มันคือความพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นของพวกเขา โดยใช้ฟุตบอลเป็นสะพานเชื่อม และพิสูจน์ให้เห็นว่า “ฟุตบอลไร้พรมแดน” นั้นมีอยู่จริง อย่างน้อยก็ในดินแดนเล็ก ๆ บนคาบสมุทรมลายูแห่งนี้
“ผมอยากจะพาพวกเขาไปเจลีก (ถ้าเป็นไปได้) นั่นคือวิธีที่ดีที่สุด” โคเรนางะกล่าวกับ The Independent
“เราอยากจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสิงคโปร์และญี่ปุ่น”