เผยแพร่:
ปรับปรุง:
โฆษกกรุงเทพมหานคร เผย สนามฟุตบอลใต้สะพานสาทร ซ่อมแล้วเสร็จ ระบุ กลุ่ม “ยังธน” เสนอเป็นตัวแทนประสานกรุงเทพมหานคร ย้ำขณะนี้เป็นสนามบอลที่มีไฟส่องสว่าง เล่นได้อย่างปลอดภัย
วันนี้ (4 มี.ค.) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร โพสต์ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก “เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง – Earth Pongsakorn Kwanmuang” ระบุข้อความว่า สนามฟุตบอลใต้สะพานสาทร จากสนามบอลที่มืด ดูแล้วอันตราย และถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น
เพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อน ไม่มีความชัดเจนในการดูแลอย่างจริงจัง จนมีกลุ่ม “ยังธน” ได้เสนอเป็นตัวแทนประสานกรุงเทพมหานคร ให้มาช่วยพัฒนาพื้นที่ซ่อมแซมสนาม ร่วมมือกับภาคประชาชน ทีมงานยังธน และน้องนักเตะชาวสาทรรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ลงมือลงแรงซ่อมซ่อมสนามนี้ ให้เป็นสนามบอลที่มีไฟส่องสว่าง เล่นได้อย่างปลอดภัย
#สนามฟุตบอลใต้สะพานสาทร จากสนามบอลที่มืด ดูแล้วอันตราย และถูกมองว่าเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น
เพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อน…Posted by เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง – Earth Pongsakorn Kwanmuang on Thursday, March 4, 2021
สืบเนื่องจากแฟนเพจเฟซบุ๊ก “ยังธน” ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “วันนี้นับเป็นวันนึงที่เตะบอลแล้วมีความสุขที่สุดในชีวิต”
คำพูดของน้องแบงค์นักเตะขาประจำของสนามแห่งนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลกันแบบขำๆ ไม่เน้นรางวัล ไม่เน้นฝีมือ ไม่จำกัดอายุ เน้นกระชับมิตร ซึ่งมันก็จริงอย่างที่ว่าไว้เลย มีทั้งเด็กมัธยม13-14 ยันคุณลุงที่เล่นแบบลืมอายุกันทีเดียว หลายคนหอบลูกหอบหลานมาเชียร์ แต่ละทีมแต่ละคน มาจากต่างชุมชน แต่ทุกทีมแทบจะรู้จักกันหมด พี่ทักน้อง น้องทักพี่ ก็ทราบมาว่ามารู้จักกันที่สนามนี้ นี่แหละ
การแข่งขันฟุตบอลบ้านๆ ที่ดูจะแสนจะธรรมดาสำหรับคนทั่วไป แต่ที่มาของการจัดนี้น่าสนใจมากๆ จะว่าเป็นการแข่งขันก็ไม่เชิง แต่มันคือ งานเฉลิมฉลอง ของพวกเขาเหล่านั้น ฉลองให้กับสนามเก่าๆแต่บูรณะใหม่ให้สวยงามและมีไฟส่องสว่าง พวกเขามีส่วนร่วม ลงมือ ลงแรง และ ลงทุน ดังนั้นไม่แปลกเลยที่บรรยากาศในงานนั้นจะมีแต่ความครื้นเครง สนุกสนาน ผู้ใหญ่ที่เคยมาเล่นสนามนี้ก็เอาเสื้อบอลเอาถุงเท้าดีๆมาแจกให้เด็กๆ บางคนที่เคยเล่นที่นี่ไปติดฟุตซอลทีมชาติก็มี หรือแม้แต่รุ่นพี่ๆ ที่ติดสโมสรดังๆ ในฟุตซอลไทยแลนด์ลีกก็เยอะ งานนี้ไม่มีการจ้างคนดังใดๆ ที่ว่ามา ทุกคนมาด้วยใจ เขาว่าเขาต้องการมาเป็นแรงบัลดาลใจ เป็นการส่งต่อรุ่นให้เด็กๆรุ่นใหม่ภาคภูมิใจว่าสนามนี้ผ่านมาแล้วหลายยุคหลายสมัย เป็นเรื่องเล่าให้ได้เป็นตำนานกัน และเขาแค่หวังว่าจะมีน้องๆที่เล่นในสนามนี้ วันหน้าจะกลับมาช่วยกันดูแลกันไปตลอด รุ่นสู่รุ่น
มาถึงตรงนี้อาจจะยาวไป แต่ถ้าใครอยากอ่านอีก เราก็เราก็อยากเล่า มา… งั้นเราขอย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวของสนามใต้สะพานสาทรแห่งนี้อีกสักนิดนะ
ในอดีตสนามนี้เหมือนเป็นสนามที่ถูกลืม เนื่องจากสนามนี้อยู่นอกเขตสวนสาทร ขาดหน่วยงานรับผิดชอบ ขาดการดูแลมานาน อาจด้วยเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันวุ่นวายหลายหน่วยงาน จนทำให้ไม่มีใครมาดูแล ไม่มีหน่วยงานไหนยื่นมือมารับผิดชอบ จนกลายเป็นแหล่งมั่วสุมของกลุ่มวัยรุ่น เพราะมันมืด ทั้งๆ ที่พื้นที่นี้มีศักยภาพในเชิงการใช้งานสาธารณะมากๆ เป็นจุดที่คนเดินสัญจรผ่าน แต่ความมืดทำให้มันอันตราย
เยาวชนและคนทั่วๆไปหลายรุ่นมากๆ ที่เคยเล่นสนามนี้ เห็นถึงปัญหา แต่ขาดคนมารับรู้ปัญหาและไม่สามารถประสานหน่วยงานภาครัฐได้ จากการจัดยังธนคัพเมื่อสองปีก่อน “ยังธน” จึงเสนอเป็นตัวแทนประสานไปยังหน่วยงานรัฐด้วยขั้นตอนที่ถูกต้องเพื่อนำเงินที่ระดมทุนได้จากการแข่งขันมาช่วยซ่อมแซมสนาม และพอหน่วยงานรัฐ #สำนักงานเขตคลองสาน รับเรื่องจาก “ยังธน” ไป ก็รีบเร่งแก้ไข แต่ก็ต้องยอมรับว่างานราชการไม่ได้รวดเร็วอย่างที่เราหวังไว้อาจเพราะเขามีงานมากมายอยู่แล้ว ส่วนนึงเราก็เลยขอความช่วยเหลือไปยัง “กรุงเทพมหานคร” ก็คิดว่าทิ้งเรื่องไว้ก็ยังดี ไม่คาดหวังอะไร แต่เรากลับได้รับการติดต่อกลับมาจาก “ทีมงานโฆษกกรุงเทพมหานคร” (คุณเอิร์ธ พงศธร ขวัญเมือง) อย่างรวดเร็ว จึงนัดเราลงพื้นที่และช่วยประสานกับทีมสำนักงานเขตคลองสานทันที
เรื่องนี้กลายเป็นความประทับใจมากๆ ที่ภาพของหลายหน่วยงานร่วมมือกัน ภาคประชาชน + หน่วยงานรัฐ + ทีมงานยังธน + ทีมงานกรุงเทพมหานคร รวมถึงน้องนักเตะชาวสาธรรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ ที่ลงมือลงแรงซ่อมซ่อมสนาม ทำจนสำเร็จตามเป้าหมาย ต้องขอบคุณแทนทุกๆ คนจริงๆ สนามแห่งนี้จะสวยงามและใช้ประโยชน์ได้ก็ต้องยกเครดิตให้ทุกภาคส่วน
ด้วยกิจกรรมหลายๆ ครั้งที่ผ่านมา และที่เกิดขึ้นนี้ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าปราศจากผู้สนับสนุนพวกเราและชาวสาธร
พร้อมด้วยแฮชแท็ก #กองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย #ICONSIAM #มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพ #ช่อง3 #ธนาคารกสิกรไทย #Nestle #Thaisport #ก้าวไกล #CarouselCoffee #เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม #TOYOTA #BetterBangkok #ก้าวไกลxกรุงเทพ #สำนักงานเขตคลองสาน #กรุงเทพมหานคร
นี่แหล่ะความร่วมมือที่สังคมอยากเห็นอยากให้เป็น ผลมันคือความยั่งยืนที่แท้จริง