ศาลจำคุกอดีตนักฟุตบอลไทยลีกกับพวก 15 ราย ล้มบอลล็อคผลการแข่งขันไทยลีก 2017 คนละ 1-5 ปี โดยไม่รออาญา
ที่ห้องพิจารณา 903 ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา คดีประวัติศาสตร์ล้มบอล ไทยลีก ฤดูกาล 2017 หมายเลขดำ อ.2131/2561 ที่ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ประกอบด้วย
– นายธีรจิตร หรือ เก๋ สิทธิศุข จำเลยที่ 1
– นายเชิดศักดิ์ หรือจ่อย บุญชู อายุ 48 ปี ผอ.สโมสรศรีสะเกษฯ จำเลยที่ 2
– นายภาคภูมิ หรือแบงค์ พันธ์นิกุล อายุ 34 ปี จำเลยที่ 3
– นายมานิตย์ หรือเศรษฐปสิทธิ์ หรือป้อม โกมลวัฒนะ อายุ 50 ปี จำเลยที่ 4
– นายวัลลภ สมาน อายุ 48 ปี จำเลยที่ 5
– นายกิตติภูมิ หรือเด่น ปาภูงา อายุ 34 ปี อดีตนักฟุตบอลที่ 6
– นายภุมรินทร์ คำรื่น อายุ 31 ปี ผู้ตัดสินฟีฟ่า 2017 จำเลยที่ 7,
– นายวีระ เกิดพุดซา อายุ 36 ปี ผู้รักษาประตูทีมนครราชสีมา มาสด้าเอฟซี ที่ 8
– จ.อ.เสกสันต์ หรือเสก ชาวทองหลาง อายุ 37 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี ที่ 9
– จ.ท.สุทธิพงษ์ เหลาพร อายุ 31 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี ที่ 10
– จ.ท.สุวิทยา นำสินหลาก อายุ 29 ปี นักเตะราชนาวี เอฟซี ที่ 11
– นายณรงค์ วงษ์ทองคำ อายุ 39 ปี ผู้รักษาประตูราชนาวี เอฟซี จำเลยที่ 12
– ส.อ.ธีรชัย งามเจริญ อายุ 38 ปี นักเตะศรีสะเกษ เอฟซี ที่ 13
-นายทศพร เขม็งกิจ อายุ 35 ปี นักเตะศรีสะเกษ เอฟซี จำเลยที่ 14
– นายเอกพันธ์ จันดากรณ์ อายุ 35 ปี อดีตนักเตะศรีสะเกษ เอฟซี จำเลยที่ 15
รวม 15 คน ในความผิดฐานร่วมกันให้หรือขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่นักกีฬาอาชีพหรือผู้อื่นเพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพกระทำการล้มกีฬา, ร่วมกันให้ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ตัดสินหรือผู้อื่นเพื่อจูงใจให้ผู้ตัดสินทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขันหรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม, เป็นผู้ตัดสินเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาการแข่งขันหรือทำหน้าที่ตัดสินอย่างไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม, ร่วมกันและเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเพื่อให้กระทำการล้มกีฬา, ร่วมกันลักลอบเล่นการพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลพนันเอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต
จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 20 ก.ย. 2560, วันที่ 21-26 ก.ค. 2560, วันที่ 10 ก.ย. 2560, วันที่ 11-23 ก.ย. 2560 นายธีรจิตร หรือ เก๋ สิทธิศุข ผช.ผู้ตัดสิน จำเลยที่ 1 ร่วมกับ กลุ่มนายทุน จำเลยที่ 2-6 ที่ให้หรือรับว่าจะให้เงินกับกลุ่มนักกีฬา จำเลยที่ 8-15 ซึ่งเป็นนักเตะทีมศรีสะเกษ เอฟซี และทีมราชนาวี เพื่อจูงใจให้ทำการล้มฟุตบอล รายการแข่งขัน ไทยพรีเมียร์ลีก (T1) ที่ใช้ชื่อรายการว่า โตโยต้า ไทยลีก ด้วยการแกล้งแพ้ เป็นเงินครั้งละ 300,000-800,000 บาท
และร่วมกันให้เงินครั้งละ 100,000 บาท กับ นายภุมรินทร์ คำรื่น ผู้ตัดสินฟีฟา 2017 จำเลยที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินกีฬาเพื่อจูงใจให้ทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามระเบียบหรือกติกาแข่งขัน เพื่อให้ผลการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นไปตามที่จำเลยกลุ่มนายทุน และจำเลยที่ 1 ซึ่งกลุ่มของจำเลยที่ 1-6 ก็เป็นผู้เล่นพนันทายผลการแข่งขันฟุตบอลไทยรายใหญ่ด้วย ที่เป็นการเล่นพนันผ่านทางเว็บไซต์
เหตุเกิดที่ ต.พร้าว อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู, ต.ในเมือง อ.อุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี, ต.สุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา, ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และ ตำบล-อำเภอสัตหีบ จ.ชลบุรี ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1, 2, 5, 7-15 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ส่วนจำเลยที่ 3-4, 6 ให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาร่วมกันลักลอบพนันทายผลฟุตบอลโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ โดยจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราว โดยศาลตีราคาประกันคนละ 100,000-200,000 บาท
โดยในวันนี้จำเลยที่ 1-15 พร้อมทนายความ เดินทางมาฟังคำพิพากษาอย่างพร้อมเพรียง ขณะที่มีญาติและบุคคลใกล้ชิดเดินทางมาให้กำลังใจ
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่าโจทก์มีพยานหลักฐานแน่นหนา ทั้งพยานบุคคลเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลักฐานการใช้ติดต่อโทรศัพท์ และข้อความการสนทนาทางแอพริเคชั่นวีแชท จึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำผิด ดังนี้
– จำคุก นายธีรจิตร อดีตผู้ช่วยผู้ตัดสินหรือไลน์แมน จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 5 ปี และปรับ 2,000 บาท
– จำคุกนายเชิดศักดิ์ อดีตผอ.สโมสรศรีสะเกษฯ จำเลยที่ 2 เป็นเวลา 4 ปี และปรับ 2,500 บาท
– จำคุก นายภาคภูมิ (นายทุน) จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 4 ปี และปรับ 2,000 บาท
– จำคุก นายมานิตย์ (นายทุน) จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 4 ปี และปรับ 2,000 บาท
– จำคุกนายวัลลภ (นายทุน) จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 2 ปี และปรับ 2,500 บาท
– จำคุก นายกิตติภูมิหรือเด่น (นายทุน) และอดีตนักฟุตบอลสโมสรชื่อดัง จำเลยที่ 6 เป็นเวลา 2 ปี และปรับ 1,500 บาท
– จำคุกนายภุมรินทร์ อดีตผู้ตัดสินฟีฟ่า จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 2 ปี
– จำคุกนายวีระ อดีตผู้รักษาประตูทีมนครราชสีมา จำเลยที่ 8 เป็นเวลา 1 ปี
– จ.อ.เสกสันต์ อดีตนักเตะราชนาวี จำเลยที่ 9, จ.ท.สุทธิพงษ์ อดีตนักเตะราชนาวี จำเลยที่ 10, จ.ท.สุวิทยา อดีตนักเตะราชนาวี จำเลยที่ 11, นายณรงค์ อดีตนักเตะศรีสะเกษ จำเลยที่ 12
จำคุกคนละ 2 ปี
– ส.อ.ธีรชัย อดีตนักเตะศรีสะเกษ จำเลยที่ 13, นายทศพร อดีตนักเตะศรีสะเกษ จำเลยที่ 14, นายเอกพันธ์ อดีตนักเตะศรีสะเกษ จำเลยที่ 15 จำคุกคนละ 1 ปี
ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จญาติและทนายความได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัว เพื่อสู้คดีระหว่างอุทธรณ์ต่อไป
สำหรับคดีนี้สืบเนื่องมาจากตำรวจกองปราบปรามได้มองว่า มีการล้มบอล จึงมีการสืบข้อเท็จจริง จนสุดท้ายได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งมูลเหตุจูงใจในการกระทำผิดนั้นเกิดจากสินพนันที่จะเอาไปพนัน สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีกลุ่มทุนพนันที่ลงขันเพื่อจะไปจ้างนักกีฬาอาชีพล้มบอลและผู้ตัดสิน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมกีฬาอาชีพ พ.ศ. 2556 โดยกลุ่มนายทุน ผู้จ้างกระทำผิดก็เข้าข่าย มาตรา 64 คือ ผู้ให้หรือรับว่าจัดให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้นักกีฬาอาชีพล้มบอล
นอกจากนี้ นายทุนยังได้จ้างกรรมการให้ตัดสินไม่เป็นไปตามกติกาหรือเที่ยงธรรม ตามมาตรา 66 ซึ่งโทษที่จะได้รับ ในข้อหาดังกล่าว คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 และฉบับที่ 4 พ.ศ. 2547 ม.4, 4 ทวิ, 5, 6, 10, 12 โดยส่วนของนายทุนนี้อัยการยื่นฟ้องในเหตุการณ์แข่งขันรวม 5 แมตช์ ซึ่งมูลค่าทรัพย์ที่ได้มีการหมุนเวียนกระทำผิดอยู่ที่หลักล้านแต่ไม่ถึงสิบล้านบาท
ขณะที่กรรมการผู้ทำหน้าที่ตัดสินมีอัตราโทษสูง คือ มาตรา 67 ฐานผู้ตัดสินใดเรียก รับ หรือยอมจะรับสินจ้างหรือประโยชน์นั้น เพื่อทำหน้าที่ตัดสินไม่เป็นไปตามกติกาหรือไม่ถูกต้องเที่ยงธรรม อัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 300,000-600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนนักกีฬาก็จะมีความผิดตาม มาตรา 65 คือ เป็นผู้เรียก รับ หรือยอมจะรับสินจ้างหรือประโยชน์นั้น เพื่อล้มกีฬาซึ่งอัตราโทษ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี เช่นกัน หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยโทษดังกล่าวเป็นโทษทางอาญา แต่นักเตะหรือนักกีฬาอาชีพยังมีอีกส่วนคือ มาตรา 24 ซึ่งผู้ที่ถูกฟ้องและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดตาม มาตรา 64-67 ให้สโมสรกีฬาอาชีพหรือสมาคมกีฬาอาชีพนั้น ต้องตัดสิทธิการนำเสนอชื่อนักกีฬาคนนั้นเข้าสู่การแข่งขันทุกแมตช์เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยในส่วนของกลุ่มกรรมการผู้ตัดสินและนักกีฬานั้นอัยการยื่นฟ้องในเหตุการณ์บางแมตช์ไม่ครบทั้ง 5 แมตช์