ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง – สยามกีฬา


ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

เสน่ห์อย่างหนึ่งของกีฬาคือการ “พลิกล็อค”

    ถ้ามันเป็นไปตามศาสตร์ แทกติก ที่วางเอาไว้ คนที่เก่งกว่า หรือทีมที่ดีกว่า ก็จะชนะอยู่ตลอดเวลา อันนี้ก็ถือว่าไม่ผิดอะไรไปจากที่คาดการณ์, ประเมิน,​วิเคราะห์ เจาะลึก แต่ถ้ามันเกิดตรงกันข้ามคือ คนเก่งกว่า ตัวเต็งกว่า กลับพลาดกลายเป็นตัวไม่เต็ง หรือม้านอกสายตาเข้าเส้นชัย นั่นก็จะเป็นที่จดจำและถูกพูดถึงกันไม่น้อยละครับ  ประมาณ  Against all odds หักปากกาเซียน, พลิกทุกคำวิจารณ์ อะไรทำนองนั้น 

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    แล้วตัวเต็งกลายเป็นตัวเกร็ง นี่มันยังไง เพื่อให้เข้าสถานการณ์กีฬาโอลิมปิก ซึ่งทุกครั้งมันต้องมีเรื่องทำนองนี้ครับ ผมเขียนเรื่องนี้เอาไว้หลายวันแล้วใน น.ส.พ. สยามกีฬาและสตาร์ซอคเก้อร์ เกลาๆ มาให้อ่านในเพจกันสักนิดหนึ่งครับ 

    ไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อหรือแปลกอะไรในทุกครั้งของกีฬาโอลิมปิกที่ นักกีฬาระดับโลกจะพลาดเหรียญรางวัล โดยเฉพาะบรรดาตัวเต็งทีถูกคาดหมายว่าจะคว้าทองไปครองแต่ก็ต้องผิดหวังตกรอบหลายต่อหลายคน ไปไม่ถึงเหรียญทองโอลิมปิก

นาโอมิ โอซากะ

    นักเทนนิสลูกครึ่งญี่ปุ่น-เฮติได้ รับการคาดหมายว่าตัวเต็งเหรียญทองโอลิมปิกครั้งนี้ ปรากฏว่าไปก่อนเพื่อนเลยครับ นาโอมิ ตกรอบสาม แพ้มาเกตา ฟอนดรูโซวา นักเทนนิสมือ 42 ของโลกจากสาธารณรัฐ เช็ค สองเซตรวด 6-1,6-4

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    นาโอมิ พึ่งแข่งโอลิมปิกครั้งแรก เธอยอมรับว่า “กดดันตัวเอง” เหมือนกัน เจ้าของแชมป์แกรนด์สแลม 4 สมัย ยูเอสและออสเตรเลียน โอเพ่น อย่างละสอง แถมได้ติดต่อกันตั้งแต่ปี 2018 ที่สำคัญ “ฮาร์ด คอร์ต” ในโอลิมปิกคือพื้นผิวที่เธอถนัด

สถิติชนะ25 ใน26 ครั้งล่าสุดมันเป็นไปได้ยากที่เธอจะโดนน้อคตกรอบสามไปก่อน  แต่มันเป็นไปแล้ว…..ตกรอบสาม 

เคนโตะ โมโมตะ 

    อีกหนึ่งตัวเต็งเหรียญทองแบดมินตันชายเดี่ยว  ไม่ใช่ใครที่ไหน…เคนโตะ โมโมตะ มือหนึ่งโลกของเจ้าภาพนั่นเอง

    ไม่มีอะไรง่ายจริงๆ ในชีวิต กระนั้นต้องชื่นชมตัว เคนโตะ ด้วยว่า เขาเองนั้นผ่านมรสุมชีวิต ทั้งประสบอุบัติเหตุรถชน จากนั้นติดโควิด ต้องกักตัว และแยกตัวซ้อม ก่อนจะกลับมาซุ่มซ้อมอย่างดี เริ่มต้นจากรอบแบ่งกลุ่มแข่งสองครั้ง คัดที่1 เข้ารอบน็อคเอาต์ 

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    โดยเส้นทางของ เคนโตะ ถูกจัดให้เป็นมือวางอันดับ1 กลุ่มเอ ถ้าเข้ารอบก็ทะลุ 8 คนเลย ซึ่งในการแบ่งสายนั้นมี 4 กลุ่มที่เข้ารอบ 8 คนไม่ต้องเล่นรอบน้อคเอาต์ (12 คน) แต่ปรากฏว่า เคนโตะ พลาดท่าตกรอบแบ่งกลุ่ม แพ้ นักแบดมินตันจากเกาหลีใต้

     ตัวความหวังก็จบแค่รอบแบ่งกลุ่มนี่เอง ญี่ปุ่นจึงชวดเหรียญทองแบดมินตัน ชายเดี่ยว ที่พวกเขาตั้งความหวังเอาไว้ด้วย อันที่จริงดูตามสายแล้วหากเข้าไปได้ถึงรอบรองชนะเลิศได้ เขามีโอกาสพบกับ วิคเตอร์ เอกเซลเซน “เหรียญทอง” จากเดนมาร์ก นั่นหละครับ 

ซิโมน ไบลส์ 

    คงเป็นความเกร็งอีกแบบหนึ่งของซุปเปอร์สตาร์นักยิมนาสติกของโลกอย่าง ซิโมน 

     อีกหนี่งความหวังเหรียญทองของทีมกีฬาสหรัฐหลายเหรียญ นับตั้งแต่ โอลิมปิกเมื่อห้าปีที่แล้วที่ บราซิล จนล่าสุดเธอกวาดเหรียญทองทั้งโอลิมปิก, ชิงแชมป์โลกจากบุคคลและทีม 30 ทองเอานักกีฬา7-8 คนมารวมเหรียญทองยังสู้เธอคนเดียวไม่ได้ 

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    ปรากฏว่าเที่ยวนี้เธอลงแข่งขันรายการแรก จากนั้นเธอแจ้ง ขอถอนตัว เพราะความเครียด ความกดดัน รวมทั้งสุขภาพจิตไม่ดี  ซึ่งจากการให้สัมภาษณ์เธอบอกว่าเธอรู้สึกว่ามันเป็น “twisties” หรือลักษณะที่ร่างกายและจิตใจไม่ได้ประสานกันระหว่างการแสดงท่าในการเล่นยิมนาสติก โดยเฉพาะจังหวะตีลังกากลางอากาศแล้วลงพื้น อะไรแบบนั้น

 

    ไบลส์ ถอนตัวจากรายการประเภททีมหญิง หลังจากเล่นพลาดไม่เหมือนที่ซ้อมคือตีลังกาแรงไปหน่อย พอเธอถอนตัวทีมหญิงสหรัฐก็ได้แค่เหรียญเงิน เป็นทีม ROC หรือนักกีฬาอิสระ (รัสเซีย) ได้ทองไป

    จากนั้นข่าวการถอนตัวของเธอก็ตามมาอีกหลายประเภทแข่งขันของยิมนาสติกที่เธอคว่าได้สี่ทองที่ริโอ 2016 ก่อนมาลงแข่ง บาล้านส์ บีม ได้แค่ทองแดง 

    ซิโมน ให้สัมภาษณ์ว่า “จิตใจและร่างกายของฉันนั้นมันไม่ประสานงานกัน แต่ฉันยังไม่เลิกเล่นแค่ขอถอนตัวก่อน”

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    เรื่อง twisties (สแลงของนักยิมนาสติก) ไม่ใช่เรื่องใหม่ของ ไบลส์ เพราะก่อนแข่งโอลิมปิกที่ ริโอ และก่อนซีซั่นแข่งขันปี 2019 เธอก็เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน เธอบอกเลยว่าปี 2019 เธอเป็นแบบนั้น “ฉันลืมไปชั่วขณะว่าลอยตัวแล้วหมุนเกลียวได้ยังไง”

    เพื่อนร่วมทีมอย่าง ลอรี เอร์นานเดส อธิบายเรื่องนี้ว่า “ทวิสตีส์” มักเกิดขึ้นในการแข่งขันระดับสูงที่รวมท่าเอาไว้ด้วยกันไม่ว่าจะเป็น ฟลอร์ หรือ ม้ากระโดด มันเป็นท่ายากของนักยิมนาสติก 

    “หมายถึงจังหวะมันหายไป สมองของคุณจะหยุดสั่งงานไปเสี้ยววินาที และนั่นก็ทำให้คุณเล่นท่าทางทั้งหมดไม่ได้ พอมันเกิดขึ้นมันก็ต้องใช้เวลาเป็นวินาทีกว่าจะตั้งหลักได้”

    นั่นเองที่ทำให้ ไบลส์ กลายเป็นดาวดับในโอลิมปิกครั้งนี้ 

    จะว่าไปเธอฝึกท่ายากมาตลอด ดังนั้นมันอาจเป็นราคาค่อนข้างแพงที่ต้องจ่ายไประหว่างการเอาชนะความรู้สึกที่จะไม่ให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ทวิสตีส์” นี้ได้ จากนี้คงต้องรอดูว่า ไบลส์ จะกลับมาโชว์ผลงานในยิมนาสติกได้อีกเมื่อไหร่ 

    หลายคนบอกเพราะเธอเกร็งและกดดันตัวเองที่จะต้องป้องกันเหรียญทองให้ได้ นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่อีกหลายคนบอกว่านักกีฬายิมนาสติกระดับโลกก็มีอาการที่ว่านี้อยู่เหมือนกันขึ้นกับว่าใครมากหรือน้อยจนต้องถอนตัวออกจากการแข่งขัน

โนวัค ยอโควิช

    ยิ่งกว่าตัวเต็งเลยคนนี้ เหมือนนอนมาสำหรับ “ทอง” โอลิมปิก สำหรับโนวัก ยอโควิช 

    ปรากฏว่าไปจอดที่รอบรองชนะเลิศ แพ้ อเลกซานเดอร์ ชเวเรฟ นักเทนนิสตัวทอปของวงการอีกคนจากเยอรมัน แพ้รอบรองชนะเลิศ ซึ่งไม่แปลก เพราะเล่นเกมสั้น 2 ใน3 เซต แต่ก็นั่นแหละ เพราะความคาดหวังของสื่อมวลชนที่เขียนกันเรื่อง “โกลเดน สแลม”

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    หมายถึง…การได้แชมป์แกรนด์สแลมในปีเดียวกันกับที่มีแข่งขันโอลิมปิกแล้วนักกีฬาได้เหรียญทองโอลิมปิกด้วย พร้อมทั้งกวาดสแลมทั้งสี่คอร์ต ซึ่งในอดีตมีนักกีฬาเทนนิสเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ทำได้…ศรีภรรยาของ อังเดร อากัสซี ….สเตฟฟี กร๊าฟ นั่นเอง 

    โดย กร๊าฟทำได้ในปี 1988 แชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น, เฟร้นช์ โอเพ่น, วิมเบิลดัน, ทองโอลิมปิกและจบด้วย แชมป์ ยูเอส โอเพ่น ยอดเยี่ยมอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เพราะต้องไม่ลืมว่าโอลิมปิกแข่งขันทุกสี่ปี ดังนั้นรอบของการแข่งขันสำหรับนักเทนนิสเต็มที่ไม่เกิน 4 ครั้งหรือ 16 ปี

    อีกทั้งคุณต้องได้แชมป์แกรนด์สแลมมาด้วยทั้งหมด นั่นคือความยาก คือถ้าไม่ยากคงทำได้กันหลายคน แต่นี่ในประวัติศาสตร์เทนนิสมีเพียง กร๊าฟ คนเดียวที่ทำได้ นอกนั้นก็ไม่มีใครทำได้เลย

    โนเล ใกล้เคียงสุดแล้ว แต่เขาก็เสียท่าต่อ ชเวเรฟ ในที่สุด

    แม้ว่าเขากวาดแกรนด์สแลม 20 รายการเทียบเท่ากับ เฟดเอกส์และราฟา แต่ต้องยอมรับว่า มันไม่ง่ายสำหรับเหรียญทองโอลิมปิก ซึ่งนักเทนนิสระดับทอปที่เคยได้ก็ ราฟาเอล นาดาล และ แอนดี้ เมอร์เรย์ นั่นเอง ขณะที่โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ยังไม่เคยได้ ครั้งนี้เขาเจ็บเข่าเลยถอนตัวออกจากการแข่งขันไปก่อนแล้ว

เทรฟอน บรอเมลล์

    ตัวเต็งเหรียญทองวิ่งร้อยเมตรชายโอลิมปิกครั้งนี้คือ เทรฟอน บรอเมลล์ ลมกรดจากสหรัฐอเมริกาเคยทำเวลาได้ 9.77 วินาที และถูกยกย่องว่าเป็นมนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดนับจากหมดยุค ยูเซน โบลต์ ปรากฏว่า บรอเมลล์ ตกรอบรองชนะเลิศ ไม่ผ่านเข้าชิงเหรียญทองเฉย!!

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    ในฮีตที่2 คัดเลือก 2 คนเพื่อเข้ารอบชิงเหรียญทอง ปรากฏว่า บรอเมลล์ เข้าที่สาม ทำเวลา 10.00 วินาที…….ตกรอบ!!!! 

    ปล่อยให้ ซาร์เนล ฮิวจส์ (ทีมจีบี) 9.98 วินาที และลมกรดไนจีเรียเข้ารอบไปด้วยเศษเสี้ยวของเวลา เวลา 10.00 วินาทีเท่ากัน  นักวิ่งไนจีเรีย เร็วกว่า 0.995 ในมาตรวัดของเวลา

    แล้วคนที่ได้เหรียญทองนะครับ…..”ม้านอกสายตา” ชัดๆ ลามอนต์ มาร์เซลล์ จาคอบ (เกิดที่เทกซัส) ลมกรดจากอิตาลีเข้าเส้นชัยเวลา 9.80วินาที เหรียญเงิน เฟรด เคอรี จากสหรัฐ 9.84 วินาที ทองแดง อังเดร เดอ กราส จากแคนาดา 9.89  

กลายเป็น “ม้ามืด” อิตาลีคว้าเหรียญทองซะอย่างนั้น 

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    จะว่าไปปีนี้ปีทองของคนอิตาลี ยูโร 2020 อิตาลี นอกทีมเต็งแชมป์ ได้แชมป์ 100 เมตรชาย เหรียญทองโอลิมปิก ดีนะเทนนิสวิมเบิลดัน มัตเตโอ แบร์เรตตินี ไม่พลิกชนะ ยอโควิช  ไม่งั้นโลกระบือ

    อ้อ…เห็นการประกวดร้องเพลง ยูโรวิชันส์  Euro Visions ของทวีปยุโรป วงดนตรีร็อคอิตาลี ชนะเลิศการประกวดไปก่อนแล้ว บราโว….อิตาเลียโน… จริงๆ 

    ยังมีนักกีฬามากมายหลายคนที่เก่งระดับโลก แต่กว่าจะได้เหรียญทองโอลิมปิก ก็ยากสุดในชีวิต อย่าง เซอร์เก บุบป้า ยอดนักโดดค้ำของยูเครน เขาได้ทองครั้งแรกปี 1988 ที่โซล ในนามของสหภาพโซเวียต รัสเซีย

    สมัยผมยังเป็นนิสิตในรั้วมหาวิทยาลัย บุบก้า นี้จองพื้นที่ข่าวกีฬาเลยครับ เพราะแกจะทำลายสถิติกระโดดค้ำ (เมื่อก่อนเรียกค้ำถ่อ) อยู่เรื่อยๆ ที่ละ1-2 ซ.ม. หลังจากเปเรสตรอยก้า (การล่มสลายของโซเวียตรัสเซีย)

    เขาแข่งในนามยูเครน ปรากฏว่าสามครั้งของโอลิมปิกนี่อย่าว่าแต่เหรียญทองเลยครับ… เงิน, ทองแดง ก็ไม่ได้ด้วย บาร์เซโลนา 92 โดดไม่ผ่าน 1996 ที่แอตแลนต้า เจ็บส้นเท้าอีก ที่ซิดนีย์ 2000 โดดสามครั้งรอบชิงทอง ไม่ผ่านเลยสักเที่ยว 

เห็นมั้ยครับ…ความขลังของโอลิมปิก

    คำถามคือว่า…มันเพราะอะไร เรามาวิเคราะห์เหตุผลกันครับ 

1 กดดันตัวเอง

    นาโอมิ ยอมรับว่า เธอกดดันตัวเองเพราะพึ่งลงแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต “มันมากไป” ต่อความคาดหวังในการคว้าเหรียญทองในฐานะนักกีฬาซุปเปอร์สตาร์ของเจ้าภาพด้วย และความเก่งของเธอด้วย 

    “โกลเดน สแลม” ของ ยอโควิช…อาจเป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเขากวาดแกรนด์สแลม มาตั้งแต่ต้นปีสามรายการรวด อย่างข้อมูลเบื้องต้นใน “โกลเดน สแลม” เพิ่มทองโอลิมปิกเข้าไป มันคงเป็นความกดดันในใจอยู่พอสมควร เพราะโอลิมปิกแข่งสี่ปีครั้ง และถ้าจะทำ “โกลเดน สแลม” คุณต้องกวาด GS มาตั้งแต่ต้นปีในปีนั้นด้วย

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    จอห์น แมคเอนโร วิเคราะห์ช่วงหลังจาก โนเล ได้วิมเบิลดันว่า ไม่น่าจะทำ “โกลเดน สแลม” ได้ “ผมว่าเขาหลุดหนึ่งรายการ นั่นคือโอลิมปิก เขาอาจจะต้องเจออะไรสักอย่างที่ทำให้ไม่ได้เหรียญทอง” แต่ บิ๊กแม็ค นักเทนนิสขี้ยั๊วะ จอมเกรี้ยวกราดบอกว่า “แต่โนเล่ จะได้แชมป์ยูเอส โอเพ่น” 

    กดดันตัวเองน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่สุดละครับในการพลาดเหรียญทองโอลิมปิก เนื่องจากกรอบเวลานั้น…4 ปีครั้ง ไม่เหมือนรายการแกรนด์สแลมหรืออื่นๆที่เล่นกันทุกปี พลาดปีนี้ ปีหน้าก็มีโอกาส 

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

2  แมตช์แข่งขัน “ขาดหรือล้น”

    อันแรกคือขาดแมตช์แข่งขันก่อนครับ อันนี้ภาพชัดกับ นาโอมิ ที่สุด เพราะเธอถอนตัวจาก เฟร้นช์ โอเพ่น, วิมเบิลดัน เนื่องจากมีปัญหาเรื่องภาวะทางจิตที่หดหู่ ซึมเศร้า เพราะความกดดันในการเล่นเทนนิสมาสองปีหลัง เลยไม่ได้เล่นสองทัวร์นาเม้นต์ใหญ่ ซ้อมอย่างเดียว แล้วก็แข่งโอลิมปิกครั้งแรกในชีวิต ซึ่งเหตุผลข้อแรกบวกข้อสอง สำหรับ นาโอมิ

    สำหรับโมโมตะ ปี2019 คือปีทองของเขาเลย กวาดแชมป์เป็นว่าเล่น จนขึ้นมือหนึ่งโลก  ขึ้นปี 2020 ชีวิตของเขาร่วงทันที ประสบอุบัติเหตุรถชนต้นปี 2020 หลังคว้าแชมป์มาเลเซีย โอเพ่น หมาดๆ ซึ่งคนขับเสียชีวิตระหว่างเดินทางไปสนามบิน เขาเข้ารับการผ่าตัดกระดูกเบ้าตา พักรักษาตัวอยู่นาน พอปกติดีแล้วต้นปี2021  ต้องถอนตัวจากไทยแลนด์ โอเพ่น เพราะเขาติดโควิด ลองนึกสภาพร่างกายของเขาที่ต้องฟื้นตัวกลับมา และต้องลงแข่งขัน ให้ได้แมตช์ ฟิตเนส เขาเล่นออล อิงแลนด์ เท่านั้น ซึ่งตกรอบ 8 คน  อันนี้เป็นการวัดมาตรฐานนักกีฬาได้ดี ข้อนี้คือเรื่องสำคัญที่สุด แม้ “ร่างกาย” คุณฟิต แต่ถ้าคุณไม่มีเกมมากนัก หรือขาดเกมแข่งขันไป….มันมีผลกระทบ 

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    ส่วน โนวัค ยอโควิช  อาจตรงกันข้าม เพราะเขาลงแข่งขันต่อเนื่องในวัย 34 ปี กวาดทั้ง เฟร้นช์และ วิมเบิลดัน หรือย้อนไปต้นปี ออสเตรเลียน โอเพ่น กระนั้นตัวเขาเองก็ผ่านจนถึงรอบรองชนะเลิศ ก่อนแพ้มือทอปอย่าง อเลกซานเดอร์ ชเวเรฟ แพ้ขาดด้วย ตีเสียเองซะเยอะ พอไปชิงเหรียญทองแดงก็แพ้อีก พร้อมออกอาการหงุดหงิดขว้างแรกเกต 

    ถ้าว่ากันถึงโอลิมปิกนั้น โนเล ได้เหรียญทองแดงครั้งเดียวที่ ปักกิ่ง 2008 ปีนั้น ราฟาเอล นาดาล คว้าเหรียญทอง 

3 สภาพอากาศและคู่แข่ง

    มีการพูดกันเรื่องอุณหภูมิ 40 องศาในบางวัน อากาศที่ร้อนก็มีผลเป็นปัจจัยนั่นแหละครับ มากน้อยแล้วแต่สภาพร่างกาย ส่วนคู่แข่งอันนี้ชัดเจน วางแทกติกมาใช้ได้ผล กระนั้น ทุกคนก็มีกลยุทธ์ เหมือนกันนั่นแหละ ผมให้น้ำหนักเหตุผลข้อนี้ ไม่เยอะเท่าไหร่ครับ ถ้าเป็นเปอร์เซนต์ ก็ประมาณ 15% ไม่เกินนี้ สองข้อแรกน่าจะชัดกว่า

4 ความขลังของ โอลิมปิก

    อันนี้คงเป็นเหตุผลเชิงจิตวิทยานะครับ เพราะโอลิมปิกแข่งขันทุกสี่ปี อย่างครั้งนี้เป็นห้าปีการรอคอยเวลาเพื่อเป็น “สุดยอด” ในการคว้าเหรียญทองถือว่า “ทรมาน” อยู่ไม่น้อย อีกทั้งต้องสู้กับความคาดหวัง ความสามารถของนักกีฬาเก่งๆทั่วโลก มันต้องเตรียมตัวดีพร้อมขนาดไหน แม้นักกีฬาอาชีพส่วนใหญ่มีทัวร์นาเม้นต์แข่งขันอยู่แล้ว แต่เมื่อเราพูดกันถึง “โอลิมปิก” มหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ  มันคือเชิงคุณค่า แค่ได้ผ่านคัดเลือกเข้าแข่งขันก็ถือว่าเก่งระดับหนึ่งแล้ว มันหมายถึงคุณคือ “ตัวแทน” ของแผ่นดิน ของประเทศชาติเข้าร่วมแข่งขันอีเว้นต์กีฬาที่สุดในโลกใบนี้ นั่นแหละครับคงพออธิบายเชิงจิตวิทยาถึงคุณค่า, ถึงความขลังของกีฬาโอลิมปิก 

ตัวเต็งหรือตัวเกร็ง

    ยิ่งถ้าหากคุณชนะเลิศ คุณขึ้นโพเดียมรับเหรียญทอง, เงิน, ทองแดง ประกาศว่าคุณคือนักกีฬาดีที่สุดในโลก พร้อมทั้งยืนฟังเพลงชาติของคุณด้วยความปลาบปลื้มปิติ เพราะคุณชนะทั้งใจตัวเองและคู่แข่งขัน มันทีคือที่สุดแล้วสำหรับเหรียญทองโอลิมปิก มันเป็นอะไรที่ “เงิน” ซื้อไม่ได้แน่นอนครับ 

    เรื่องนี้แบบนี้อธิบายเป็นรูปธรรมก็อาจจะยากแต่ในเชิงนามธรรมแล้ว โอลิมปิก คืออีเว้นต์กีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกใบนี้ที่มนุษย์ทุกคนทั่วโลกต่างมุ่งหน้ามาร่วมการแข่งขัน และเป็นอีเว้นต์กีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก (บอลเอฟเอ คัพไม่นับนะครับไม่ใช่อีเว้นต์กีฬา)

    ดังนั้น “ตัวเต็ง” ก็อาจกลายเป็น “ตัวเกร็ง” ในโอลิมปิกมันเกิดขึ้นได้ในทุกครั้งนั่นแหละครับ

Jackie