อารูจ อัฟทับ ศิลปินเพลงจากเอเชียใต้ ผู้เคารพ ‘โลกเก่า’ และโอบรับ ‘โลกใหม่’ – ไทยรัฐ


หนึ่งในศิลปินต่างทวีปที่ผู้ฟังจากโลกตะวันตกกำลังหลงเสน่ห์อยู่ ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้น อารูจ อัฟทับ นักร้องสาววัย 36 ปีจากปากีสถาน ที่เพิ่งพาเอาอัลบั้ม Vulture Prince ไปสร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักในสหรัฐอเมริกา ซึ่งด้วยผลงานเพลงลูกผสมอันแสนท้าทายโสตประสาทนี้ ก็ทำให้อัฟทับได้รับเสียงชื่นชมว่า เธอคือ ‘อนาคตอันสดใส’ ของวงการดนตรีเอเชียใต้เลยทีเดียว


จนถึงทุกวันนี้ อัฟทับมีอัลบั้มเดี่ยวมาแล้ว (เธอเคยทำเพลงแบบรวมวงเฉพาะกิจในโปรเจกต์พิเศษมาก่อน) รวม 3 ชุด คือ Bird Under Water (2015) และ Siren Islands (2018) โดยมีเอกลักษณ์อย่างการใช้ดนตรีของ ‘ซูฟี’ (Sufi – นิกายหนึ่งของมุสลิม) -อันเป็นเครื่องมือสื่อสารถึงความผูกพันที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า- มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยผสมผสานไปกับแนวเพลงร่วมสมัยอย่างดนตรีแจ๊ซ, อิเล็กทรอนิกส์ และแอมเบียนต์ ผ่านคำร้องทั้งในภาษาอูรดู (ของปากีสถาน) และภาษาอังกฤษ ซึ่งก็ทำให้ได้รับความสนใจจากสื่อโลกออนไลน์อย่าง The New York Times, NPR และ Pitchfork

“มีคนเคยบอกว่าฉันมีเสียงเหมือน ชาเด (ศิลปินหญิงโซล/แจ๊ซเสียงนุ่มทุ้มระดับตำนาน) ฉันเลยคิดว่า ‘ไม่ดีเลย เราไม่ควรมีเสียงที่เหมือนกับใครคนอื่นสิ’” นั่นจึงเป็นสาเหตุที่เธอพยายามพัฒนาและค้นหา ‘เสียงกึ่งร้องกึ่งสวด’ ตามแบบของตัวเองจนเจอดังเช่นในปัจจุบัน ภายใต้แนวดนตรีที่อาจไม่จำเป็นต้องระบุชี้ชัด “ฉันไม่อยากเรียกมันว่าอะไรเลย เพราะมันไม่ใช่ดนตรีแนวไหนทั้งนั้น ตอนแรกๆ ฉันอาจเคยเรียกมันว่าแนว ‘นีโอ ซูฟี’ เพราะฉันควรต้องมีนิยามสั้นๆ สำหรับคนอื่นๆ ที่เข้าใจอะไรยากหน่อย …แต่ตอนนี้ มันคงไม่ใช่แค่นั้น เพราะฉันมีความมั่นใจที่จะพูดอธิบายมันด้วยประโยคยาวๆ ได้แล้ว” ซึ่งแน่นอนว่า คำนิยามเหล่านั้นควรขึ้นอยู่กับ ‘อัตลักษณ์’ ของเพลงแต่ละเพลงด้วย


ส่วน Vulture Prince นั้นถือเป็นอัลบั้มชุดล่าสุดที่เธอบอกว่า ต้องการแต่งขึ้นเพื่อแสดงความเคารพต่อ ‘กัซซัล’ (Ghazal) อันเป็นรูปแบบหนึ่งของบทกวีในภาษาอูรดูที่ใช้ ‘แสดงความคำนึงถึงพระเจ้า’ ซึ่งเธอเคยซึมซับจากครอบครัวในวัยเด็ก และตัดสินใจดึงเอาองค์ประกอบบางส่วนมาแต่งเป็นเพลงทั้ง 7 แทร็กในอัลบั้มนี้ โดยเปลี่ยนจากการใช้เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่อึกทึก มาเป็นเครื่องสายอย่าง ‘ฮาร์ป’ ที่สงบเยือกเย็นขึ้น ผ่านเนื้อหาที่อาจเป็นได้ทั้ง ‘เพลงรัก’ และ ‘เพลงสะท้อนสังคม’ ตามการตีความของผู้ฟัง ซึ่งเธอต้องการให้พวกมันแสดงถึงความคลุมเครือ และความเลื่อนไหลทางวัฒนธรรมที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับความเก่าหรือความใหม่ นับตั้งแต่ชื่ออัลบั้มอย่าง ‘เจ้าชายแร้ง’ ที่สามารถเป็นได้ทั้งสิ่งมีชีวิตที่น่านับถือและน่าหวั่นเกรงตามความเชื่อในแต่ละบริบทของสังคมหรือยุคสมัย

“ฉันคิดว่านั่น (การทำดนตรีแบบผสมผสาน) เป็นสิ่งที่แทบไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย เพราะดนตรีของฉันมันเป็นเหมือนกับการประกาศว่า ‘ตัวฉันเองเป็นใคร’ — มันเป็น ‘มรดก’ ที่ตกทอดไหลเวียนอยู่ในตัวคุณอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปจำกัดว่า มันต้องเป็นสิ่งที่มาจากที่ที่คุณเกิดเท่านั้น เพราะบางครั้งที่ที่คุณเกิดก็ไม่ได้มีอะไรให้น่าสืบทอดนักหรอก