จุดกำเนิดราชาแห่งโลกฟุตบอล :
30ม.ค.65 ชีวิตอันแสนมหัศจรรย์ของเด็กหนุ่มที่มีชื่อจริงว่า “Edson Arantes do Nascimento” แต่มวลมนุษย์ชาติมากกว่า 7,000 ล้านคนทั่วโลก รู้จักเด็กหนุ่มผู้นี้ในนาม “เปเล่” (Pele) ซึ่งเป็นชื่อที่เพื่อนในวัยเด็กเรียกเพี้ยนจากชื่อเล่นที่ครอบครัวตั้งให้ว่า “ดีโก้” (Dico) ชายหนุ่มผู้รังสรรค์ลูกฟุตบอลให้กลายเป็นงานศิลปะอันเลอค่าให้กับชาวโลกมาตั้งแต่อายุได้เพียง 17 ปี ได้เดินทางมาถึงสถานที่พักผ่อนสุดท้ายแห่งชีวิตลงในที่สุด หลังชาวโลกเพิ่งได้รับฟังข่าวร้าย เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ว่า “การแพทย์ในยุคนี้ยังไม่สามารถพิชิตมะเร็งร้ายได้” และร่างกายของชายวัย 82 ปี ผู้เป็นดั่งตำนานแห่งโลกลูกหนัง ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใดๆอีกต่อไปแล้ว
82 ปีที่ผ่านมา…”เปเล่” สร้างอะไรให้กับโลกลูกหนังและเหตุใดมนุษย์คนหนึ่งจึงได้รับการก้มหัวคารวะจากเหล่าสุดยอดนักฟุตบอลโลกหลายต่อหลายเจนเนอเรชั่นให้เป็น “นักเตะอันดับหนึ่งของโลกตลาดกาล” ก่อนที่ในอีกหลายปีต่อมาจะมี “มนุษย์อีกเพียงคนเดียวเท่านั้น” ที่สามารถก้าวขึ้นท้าทาย “บัลลังก์ของราชาได้” นั่นก็คือ “ดิเอโก มาราโดนา” เจ้าหนูมหัศจรรย์จากอาร์เจนตินา
อะไรคือสิ่งที่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้บ้าง?
“เปเล่ และ มาราโดนา คือ อัจฉริยะที่อยู่เหนือกว่าเหล่านักเตะอัจฉริยะคนอื่นๆในโลกใบนี้” ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ ผู้คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ทั้งในฐานะนักเตะและผู้จัดการทีมชาติเยอรมันตะวันตก
“เปเล่ คือนักฟุตบอลเพียงคนเดียวที่ก้าวผ่านขอบเขตของตรรกะ” โยฮัน ครัฟฟ์ สุดยอดนักเตะทีมชาติเนเธอร์แลนด์และอดีตผู้จัดการทีมบาร์เซโลนา เจ้าของฉายานักเตะเทวดา
“More Than a player” คำชื่นชมเพียงสั้นๆแต่ช่างมีความหมายที่แทบไม่จำเป็นต้องมีการอธิบายอีกต่อไปจาก “เฟเรนซ์ ปุสกัส” อีกหนึ่งอัจฉริยะนักเตะจากทีมชาติฮังการี
ทำไมเปเล่ จึงเลือกเล่นฟุตบอล :
ปี 1950 เปเล่ในวัย 9 ขวบ ตัดสินใจเดินออกจากบ้านไปเตะฟุตบอลกับเพื่อนๆ หลังเห็นพ่อของเขาและกลุ่มเพื่อนๆกำลังเริงร่าอย่างสุดขีด ขณะกำลังฟังการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลกทางวิทยุ ระหว่าง ทีมชาติบราซิล และ ทีมชาติอุรุกวัย และในขณะนั้น ทีมแซมบ้ายิงประตูออกนำไปก่อน
อย่างไรก็ดี เมื่อเขากลับมาถึงบ้านสิ่งที่เขาพบหลังเปิดประตูเข้าไปก็คือ พ่อของเขากับเพื่อนๆกำลังนั่งร้องไห้เมื่อทัพเซเลเซาพ่ายแพ้ให้กับทีมชาติอุรุกวัยจนพลาดแชมป์ฟุตบอลโลกในปีนั้นคาสนามมาราคานา
“เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพ่อร้องไห้ ผมตกตะลึงมาก ผมจึงสัญญากับพ่อว่าสักวันหนึ่งผมจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้จงได้” และนี่เองคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ “เปเล่” ซึ่งก่อนหน้านี้อยากเป็นนักบินจึงเบนเข็มไปสร้างตำนานให้กับโลกลูกหนังแทนในที่สุด!
ปี 1956 : อายุ 15 ปี กับสัญญานักเตะอาชีพ :
ในยุคสมัยปัจจุบันที่มีทั้งระบบแมวมองและอะคาเดมีอันเข้มแข็งในการรับรองอัจฉริยะรุ่นเยาว์ การได้สัญญาอาชีพด้วยวัยเพียง 15 ปี อาจไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าเซอร์ไพรส์อะไรมากมาย แต่กับเมื่อเกือบ 7 ทศวรรษก่อน สำหรับเด็กชายที่อายุเพียงเท่านี้ “มันแทบจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้”
แต่ในเมื่อชายผู้นี้คือ “เปเล่” ปัญหาเรื่องอายุมันจึงเป็นเพียง “ขนมกรุบกริบ” เพราะฝีเท้าระดับมหาอัจฉริยะเกินมนุษย์ของเขา ทำให้สุดยอดศูนย์ผู้นี้ได้ขึ้นสู่ทีมชาติใหญ่และได้สัญญาอาชีพกับสโมสรซานโตสทันที หลังได้ร่วมฝึกซ้อมกับเหล่านักเตะรุ่นพี่ครั้งแรก ก่อนจะค้าแข้งต่อเนื่องยาวนานเป็นตำนานของสโมสรถึง 25 ปี! (ปี1956-ปี1975) และพาทีมคว้าแชมป์มากมาย ไม่ว่าจะเป็น แชมป์ Brazilian Serie A รวม 6 สมัย แชมป์ Copa Libertadores 2 สมัย และ แชมป์ Intercontinental อีก 2 สมัย และในระหว่างการค้าแข้งให้กับ “สโมสรซานโตส” นั้น เปเล่ ซัดประตูได้รวมกันถึง 618 ประตู จากการลงเล่นทั้งหมด 636 นัด
หากแต่ที่ร้ายกาจไปกว่านั้น คือ “เปเล่” คว้าตำแหน่งดาวซัลโวของลีกได้ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี! ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่น่าทึ่งคือ ในปี 1959 ตลอดปีปฏิทินนี้ “คุณ” รู้หรือไม่? ราชาลูกหนังโลกตลอดกาลผู้นี้ ยิงประตูให้กับสโมสรซานโตสได้รวมกันถึง 127 ประตูด้วย!
ปี 1957 : ติดทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ครั้งแรกด้วยวัยเพียง 16 ปี 9 เดือน
7 ก.ค. 1957 คือการเดบิวต์ในฐานะนักเตะทีมชาติบราซิลชุดใหญ่ของ “เปเล่” ด้วยวัยเพียง 16 ปี 9 เดือน ถึงแม้ว่าในนัดนั้นในท้ายที่สุด ทีมชาติบราซิลจะพ่ายให้กับคู่อริตลอดกาลอย่าง อาร์เจนตินา ก็ตาม
แต่ถึงแม้ว่า…การเปิดตัวในนามทีมชาติอาจจะไม่สวยงามนัก แต่อีกเพียงไม่กี่เดือนถัดจากนั้น ประวัติศาสตร์วงการฟุตบอล ก็ได้ถูกขีดเขียนด้วยเท้าอันทรงพลังของ “ราชาแห่งโลกลูกหนังผู้นี้” ในที่สุด
1958 – 1970 ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อ แชมป์โลก 3 สมัย :
“เด็กหนุ่มจากบราซิล” กลายเป็นจุดโฟกัสของชาวโลกในทันที หลังปรากฏตัวในฟุตบอลโลกปี 1958 ด้วยวัยเพียง 17 ปี! อย่างก็ดีในขณะที่คนทั้งโลกกำลังถามไถ่กันว่า “ไอ้หนูคนนี้มันมาติดทีมชาติบราซิลได้อย่างไร?”
“Edson Arantes do Nascimento” ก็จัดการร่ายเวทมนต์สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับฟุตบอลโลกทันที ด้วยการยิงถึง 6 ประตู แถมในจำนวนนี้เป็นการยิงในนัดชิงชนะเลิศกับเจ้าภาพสวีเดนถึง 2 ประตู ก่อนพาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์โลกครั้งแรกได้ตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับพ่อ อีกทั้งยังทำให้เขาคือนักเตะที่อายุน้อยที่สุดที่ยิงประตูได้ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลกด้วยอายุเพียง 17 ปี 249 วัน
ส่วนฟุตบอลโลกครั้งต่อมาในปี 1962 ที่ประเทศชิลีเป็นเจ้าภาพนั้น แม้ทีมชาติบราซิลที่มีเปเล่ร่วมทัพมาด้วยจะได้แชมป์โลกสมัยที่ 2 ติตต่อกัน แต่สุดยอดกองหน้าผู้นี้ มีส่วนร่วมในทีมเพียงเล็กน้อยโดยยิงไปได้เพียง 2 ประตู “หลังตกเป็นเป้ารุมเตะอย่างไร้ปราณีจนได้รับบาดเจ็บหนัก” ตั้งแต่ในนัดที่ 2 ของรอบแบ่งกลุ่ม จนไม่ได้ลงเล่นอีกเลยตลอดทัวร์นาเมนต์ที่เหลือ
ส่วนในปี 1966 ที่อังกฤษเป็นเจ้าภาพนั้น ถือ เป็นฟุตบอลโลกที่ไม่น่าจดจำสำหรับ “เปเล่” แม้แต่เล็กน้อย เพราะนอกจากจะถูกดับแสงจนมิดจากดาวรุ่งดวงใหม่นาม “ยูเซบิโอ” เจ้าเสือดำแห่งโมซัมบิกของทีมชาติโปรตุเกสแล้ว “เปเล่” ยังคงหนีไม่พ้นจากถูกไล่เตะจากกองหลังฝ่ายตรงข้ามจนได้รับบาดเจ็บหนักและทีมต้องตกรอบแบ่งกลุ่มไปอีกครั้ง
ปี 1970 การกลับมาของราชาลูกหนัง :
ฟุตบอลโลกครั้งนี้ทำให้ชาวโลกได้รับรู้ได้ทันทีว่า “เปเล่” คือ พระเจ้าของชาวบราซิล เพราะทันทีที่ “Joao Saldanha” ผู้จัดการทีมชาติบราซิลมีท่าทีว่าจะไม่ใส่ชื่อ “เปเล่” ไปเล่นฟุตบอลโลก เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งกุนซือทีมชาติทันที!
แม้ว่า “Joao Saldanha” ซึ่งพาทีมผ่านรอบคัดเลือกได้สำเร็จ จะพยายามอธิบายว่า สาเหตุที่เขาตัดสินใจเช่นนั้นเป็นเพราะ “เปเล่” เริ่มอายุมาก (29ปี) เชื่องช้าลงและมีปัญหาเรื่องสายตา (สายตาสั้น) แต่ชาวบราซิลก็ไม่ฟังเสียง เพราะไม่มีทางที่ชายผู้นี้จะไม่ติดทีมชาติเพื่อไปล่าแชมป์ฟุตบอลโลกให้กับบราซิล
และนั่นก็เป็น…การตัดสินใจที่ถูกต้อง! เพราะในฟุตบอลโลกครั้งนี้ “เปเล่” ร่ายเวทมนต์ได้เหนือชั้นดุจเทวดาและสร้างซีนชวนประทับใจได้มากมายจนเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก และพาทีมแซมบ้า คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ได้เป็นชาติแรกของโลกในท้ายที่สุด
โดยตลอดการรับใช้ชาติ “เปเล่” ทำสถิติยิงประตูไปรวมกันทั้งสิ้น 77 ประตูจากการลงเล่น 92 นัด
ทำไม เปเล่ จึงไม่ได้ไปค้าแข้งในสโมสรยักษ์ใหญ่ของยุโรป :
สโมสรเงินถุงเงินถังในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็น รีล มาดริด , แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด , ยูเวนตุส หรือ อินเตอร์มิลาน พยายามอยากหนักในการล่าลายเซ็นของ “วีรบุรุษของบราซิล” หลังเจ้าตัวแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในฟุตบอลโลก 1958 และ 1962 แต่ทั้งหมดนั้น “ไม่เกิดขึ้น” เพราะ “เปเล่” คือ “สมบัติอันล้ำค่าเฉพาะชาวบราซิลเท่านั้น”
ในปี 1958 แม้ “อินเตอร์ มิลาน” ยักษ์ใหญ่แห่งอิตาลีจะได้ลายเซ็นของเจ้าหนูเปเล่ไว้ในมือแล้ว แต่ข้อตกลงดังกล่าวถูกยกเลิกในเวลาต่อมา หลังแฟนบอลซานโตส ได้ก่อการประท้วงต่อต้านการซื้อตัวครั้งนี้อย่างรุนแรง และเพื่อเป็นการรับประกันว่า “ตำนานนักเตะผู้นี้” จะเล่นให้ชาวบราซิลได้ชมเท่านั้น ในปี 1961 รัฐบาลบราซิล “จึงประกาศให้เปเล่เป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศอย่างเป็นทางการ” เพื่อป้องกันไม่ให้สโมสรในยุโรปสามารถดึงตัวชายผู้นี้ออกจากแผ่นดินบราซิลได้!
ปี 1969 สันติภาพที่มีชื่อว่า เปเล่ :
“คุณ” รู้หรือไม่? การทำสงครามอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลไนจีเรียและกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนซึ่งได้คร่าชีวิตพลเมืองไนจีเรียไปร่วม 2 ล้านคน ระหว่างปี 1967-1970 นั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายกบฏได้ “บรรลุข้อตกหยุดยิงชั่วคราวเป็นเวลา 48 ชั่วโมง” ในปี 1969 เพื่อขอเวลาดู “เปเล่” ในเสื้อสโมสรซานโตส ลงเตะกับ ทีมชาติไนจีเรีย! ซึ่งหลังจบเกมทั้งคู่เสมอกันไป 2 ประตูต่อ 2 และผู้ชมชาวไนจีเรียต่างร่วมใจกันส่งเสียงเชียร์ราชาลูกหนังโลกคนนี้ตลอดทั้งเกมเสียด้วย!
ปี 1975 เปเล่ บุกแผ่นดินอเมริกา :
หลังอายุมากขึ้น “เปเล่” ในวัย 35 ปี ได้รับข้อเสนอเงินก้อนโตที่ไม่อาจปฏิเสธจากสโมสรนิวยอร์ก คอสมอส เพื่อหวังใช้ความโด่งดังของเขาร่วมกับเหล่าอดีตนักเตะชื่อดังของโลกในวัยโรยรา “ปลุกกีฬาซ็อคเกอร์” ใ้ห้ฮิตบนแผ่นดินอเมริกา ซึ่งแน่นอน…ด้วยระดับฝีเท้าที่แตกต่างกันจนแทบมองไม่เห็นหลัง “เปเล่” ที่ลงเล่นโชว์ตัวแบบสบายๆ ก็จัดการกระหน่ำประตูไปได้รวมกันถึง 66 ประตู จากการลงเล่น 107 นัด ก่อนจะประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการในปี 1977
ทั้งนี้ ตลอดการเล่นอาชีพ (ที่เป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการรวมนัดประชับมิตร) “เปเล่” ทำสถิติยิงประตูไปรวมกันทั้งสิ้น 1,283 ประตู จากการลงเล่นทั้งหมด 1,363 นัด
เปเล่ กับวงการภาพยนตร์ :
“เตะแหลกแล้วแหกค่าย” หรือ Escape to Victory ที่ออกฉายในปี 1981 เป็นผลมาจากการที่เขาได้กลายเป็นเซเลบที่คนอเมริกันรู้จักอย่างกว้างขวาง รวมถึงเหล่าคนดังในฮอลีวูดยังยินดีที่พร้อมจะเสียเงินเข้าไปดูการแข่งขันซอคเกอร์มากมายด้วย โดยภาพยนต์เรื่องนี้ เปเล่ ได้แสดงร่วมกับ เหล่านักแสดงชื่อดัง อย่าง ซิลเวสเตอร์ สตอลโลน , ไมเคิล เคน และตำนานนักเตะของอังกฤษ “เซอร์บ็อบบี้ มัวร์” ด้วย
ปี 2000 เมื่อโลกตัดสินไม่ได้ว่า ใครคือนักเตะที่ดีที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 :
“ฟีฟ่า” มอบรางวัล “FIFA Player of the Century award” ให้กับทั้ง “เปเล่” และ “ดิเอโก มาราโดนา” ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการยอมรับกลายๆว่า ชาวโลกไม่อาจตัดสินได้ว่า ระหว่างสุดยอดนักเตะทั้งสองคนนี้ ใครที่เป็น The Best of the Best มากกว่ากัน เนื่องจากรางวัลนี้เป็นมาจากการทำผลสำรวจทางอินเตอร์เน็ตและผู้เกี่ยวข้องในวงการฟุตบอลถึง 2 ครั้ง
และแม้จนถึงปัจจุบัน หลังจากทั้งคู่ได้ไปร่วมเล่นฟุตบอลบนสรวงสวรรค์ด้วยกันแล้ว แต่ “เรา” ก็ยังคงเชื่อมั่นว่า คำถามที่ว่า ระหว่าง “เปเล่ และ มาราโดนา” ใครคือสุดยอดมากกว่ากัน ก็น่าจะยังคงเป็นคำถามที่ชาวโลกมักหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อของการสนทนาอยู่ต่อไปไม่รู้จบ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :