วันพุธ ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
ชัยชนะของ บราซิล ที่มีเหนือ เกาหลีใต้ ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมาย และเป็นไปในทางที่ถูกต้องในเชิงของฟุตบอล
อย่างไรก็ดี เมื่อสังคมในยุคใหม่เป็นยุคของสังคมอุดมดราม่า ชัยชนะได้ถูกมองข้ามไป ด้วยมุมใดมุมหนึ่งของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนาม แล้วลากกันมาต่อที่โลกที่ใครก็สามารถวิจารณ์ใครก็ได้
การดีใจของบราซิล ถูกหยิบยกข้ามเรื่องแท็กติกและความสามารถของพวกเขา ที่ดูเหมือนว่า “เตรียมการ”กันมาในเกมนี้
ว่ากันตรงๆ มันคือสิ่งปกติของโลกฟุตบอล
แต่ถ้าหากมองกันอีกมุมอย่างเช่น รอย คีน อดีตกัปตันทีมพันธุ์ระห่ำของไอริช ที่เกิดมาไม่ค่อยจะชมใคร เป็นอีกคนหนึ่งที่กระทุ้งว่ามันมากเกินไปหรือเปล่า
ลูกเดียวก็พอแล้วในการเต้นเป็นทีม แต่มีการแยกกลุ่มมาเต้น และก็เต้นเดี่ยวอีกต่างหาก
บางคนบอกว่า แม้กระทั่ง ตีตี้ หรือ ตีเต้ กุนซือบราซิล ก็มาเต้นด้วย
คำถามก็คือ เป็นการหยามคู่แข่งอย่าง เกาหลีใต้ มากเกินไปหรือไม่!?!?!?
คำตอบของหลายคนผมไม่ทราบ แต่สำหรับตัวผมแล้วนั้นมองว่า การดีใจของ บราซิล บางจังหวะก็ “มากเกินไปหน่อย”
แต่สำหรับ ตีตี้ แล้ว ไม่ต่างอะไรกับคำว่า “สีสันของฟุตบอล”
อย่าลืมว่า บราซิล มาในปีนี้ด้วยการเป็นเต็ง 1 อีกครั้งในรอบหลายสมัย จากเดิมฉายาคือ “เต็ง1ตลอดกาล” แต่เริ่มหายไปตั้งแต่บอลโลก2010 นับเวลาได้คือ 12 ปี
ยิ่งการไม่ได้แชมป์โลกมาตั้งแต่ปี 2002 นับเวลาได้คือ 20 ปี สิ่งที่ บราซิล แบกจนไหล่ทรุดก็คือ “ความกดดัน”
นั่นคือสิ่งที่ ตีตี้ ได้แสดงออกมา
ว่ากันตรงๆ ก็คือ เมื่อ 4 ปีก่อน ตัวของกุนซือคนนี้ก็กลายเป็น“มีม” ให้กับทั่วโลกได้หัวร่อกัน นั่นก็คือ วิ่งอย่างช้าๆ แม้จะไม่ถึงกับกระย่องกระแย่ง ในการไปดีใจกับลูกทีม
ประเด็นคู่ บราซิล ถลุง เกาหลีใต้ 4-1 ซึ่งแฟนบอลแดฮัมมิงกุ๊กคงเข้าใจได้ว่า “กังนัม สไตล์” มันเกิดต้านจริงๆ เพราะบอลวิ่งเข้าใส่ เจอบอลความสามารถเฉพาะตัวสูงมาก แถมยังมากันเป็นทีม ทุกคนต้องยอม
เอาเข้าจริงประเด็นเกมนี้ น่าจะถูกตีตกยกไป เมื่อเทียบกับ “ดราม่า” ในเกมที่ ญี่ปุ่น ฝันสลายอดเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายสมัยแรก หลังจากดวลเป้าแพ้ โครเอเชีย
ไม่แปลกใจเลยที่ต้องมาดวลจุดโทษ เกมการต่อสู้ที่มีความเท่าเทียมกันอย่างไม่น่าเชื่อตั้งแต่เริ่มเกม ญี่ปุ่น เร่งเครื่องกว่าที่เคยเป็น สามารถเงยหน้าขึ้นสูงได้ เกมจึงเป็นไปตามไดนามิกที่คาดการณ์ไว้อย่างด้วยการเชือดเฉือนทางแท็กติกอย่างชาญฉลาด
ญี่ปุ่น ก็มีช่วงเวลาที่ครองบอลได้ดีเช่นกันจากคุณภาพทางเทคนิคในการสร้างเกม พวกเขาทำให้เป็นเกมที่ยากสำหรับโครเอเชีย เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์ที่พวกเขามี
“โค้ชเฮง” วิทยา เลาหกุล ให้สัมภาษณ์กับผม ผ่านทาง FM 99 ก่อนเกมเริ่มถึงประเด็นนัดนี้ ผมยิงคำถามเพื่อให้ได้คำตอบนี้ว่า ตกลงแล้ว ญี่ปุ่น เล่นบอลสไตล์ไหนกันแน่
คำตอบที่ได้ตามที่ต้องการก็คือ “แจแปน สไตล์”
พวกเขาไม่ได้เพรสซิ่งอย่างมีประสิทธิภาพในการเล่น แต่พวกเขาป้องกันด้วยการเคลื่อนตัวทั้งแผง การยืนตำแหน่งที่ไม่ได้อยู่ในตำราจากที่อื่น และมีการเปลี่ยนตัวสำรองลงมาเป็นทีเด็ด แถมตัวสำรองนั้นแท้ที่จริงแล้ว มันคือ “ตัวจริง” ที่จะลงมาร่วมตัดสินในเกม
นั่นคือแผนที่ทีมอื่นไม่มีใครทำกัน
ในเกมทั้งการปราบ เยอรมนี และ สเปน พวกเขาโดนขึ้นนำก่อน และกลับมาชนะ 2-1 ในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากที่ทีมตัวสำรองของญี่ปุ่นลงมาในสนาม ดังนั้นมันชัดเจนว่า โครเอเชีย จำเป็นจะต้องเตรียมพร้อมเป็นพิเศษเพื่อรับมือกับพลังงานและคุณภาพของพวกเขาด้วยการเน้นคุมพื้นที่ รวมถึงการรักษาพละกำลังให้พอเพียงต่อการรับมือ
อย่างไรก็ตาม เกมนี้ได้แตกต่างออกไป ญี่ปุ่น เดินหน้าตั้งแต่ครึ่งแรก และขึ้นนำ 1-0 นั่นเปลี่ยนธีมเกมใหม่ บางทีพวกเขาอาจจะอยู่เฉยๆต่อไปตลอดทั้งเกมก็ได้ ไม่ต้องปรับกลยุทธ์ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่สไตล์ของพวกเขาก็ได้
แต่พวกเขาโดนตีเสมอ แถมการจั่วตัวสำรองที่เคยแผลงฤทธิ์กลับกลายเป็นบอดใบ้ไปถึง 4 จาก 5 คน สุดท้ายคือไปแพ้ที่จุดโทษ ซึ่งมันเกิดขึ้นได้อยู่แล้วกับทุกทีม
ญี่ปุ่น ตกรอบไปอย่างน่าประทับใจ และน่าเสียดาย
เสียดายตรงที่ยิงจุดโทษไม่ดี ยิงง่ายไปหน่อย แต่สิ่งที่พวกเขาสร้างเอาไว้มันน่าประทับใจมากกว่า
การเล่นที่สูสีและใกล้เคียงกับทีมระดับโลก เกิดขึ้นตลอดทั้ง4 เกม มันไม่ได้หมายว่า พวกเขาเก่งกว่า หรือดีกว่า แต่พวกเขามีวิธีที่จะต่อสู้ มียุทธวิธีในการออกรบ
ชัดเจนที่สุดก็คือ การเล่นแนวลึกที่รวดเร็ว, การเข้าใจในแผนงานแนวทางการเล่น และวิชั่นการเล่นรุกเล่นรับ นี่คือการเติบโตของทีมที่มาจากโครงสร้างแจแปนเวย์
นาทีปัจจุบัน การสัมมนาโค้ชดีที่สุดในโลกเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น แนวทางในการพัฒนาของนักบอลตอนนี้คือ การส่งนักบอลไปเล่นในยุโรป ซึ่ง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ได้ส่งนักบอลไปฝึกที่ยุโรป ด้วยแนวทางปฏิบัติที่ “ศึกษากันได้”
1.พ่อแม่ผู้ปกครองส่งไป 2.สโมสรส่งไป และ 3.สมาคมฟุตบอลส่งไป
เกาหลีใต้ มีนักบอลเยาวชนอยู่ในอะคาเดมี่ยุโรป กว่า 300 คนส่วน ญี่ปุ่น ไม่น้อยไปกว่านั้น และก้าวไปเป็นนักบอลที่อยู่ในลีกใหญ่ๆ มากมาย อย่างน้อยก็ได้เห็นว่า 26 คนที่มาบอลโลกมีมากกว่า 2 ใน 3 ที่ไม่ได้อยู่ในเจลีก
นี่คือ “พิมพ์เขียว” ที่สำคัญอย่างมากในโลกของเอเชีย ที่จะพัฒนาตัวเอง เพื่ออย่างน้อยไปฟุตบอลโลกให้ได้ดั่งฝัน
อยู่ที่ว่าจะทำเพื่อฝัน หรือจะนอนเพื่อให้ฝัน
เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว เราจะเริ่มจากตรงไหนได้บ้าง…..เพื่อฝันที่ไม่ได้มาแค่ตอนนอน รวมถึงกันการที่เราควรจะแยกออกจากกัน
ว่านี่ “กำลังฝัน” หรือว่าแค่ “ผีอำ” กันแน่?!?!?
บี แหลมสิงห์