“ดร.คูล”

ดร.ซาอุด อับดุล กานี ชายผู้คิดค้นระบบทั้งหมดนี้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า กาตาร์ต้องการสร้าง “มรดก” ที่จะใช้สืบต่อไปได้หลังจากศึกฟุตบอลโลกปิดฉากลงแล้ว

เขาบอกว่า การทำวิจัยที่ยาวนานหลายปีได้นำไปสู่การคิดค้นสิ่งที่เขาเรียกว่า “อุณหภูมิที่ให้ความรู้สึกสบายตัว” ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่น่าอภิรมย์ให้คนได้เป็นจำนวนมาก การเก็บข้อมูลจากนักกีฬาและผู้เข้าชมการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกที่จัดขึ้นในกาตาร์เมื่อปี 2019 ช่วยให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาระบบทำความเย็นที่จะใช้ในศึกฟุตบอลโลกครั้งนี้

มุมมองของนักกีฬา

บีบีซีสอบถามเรื่องนี้กับ ฮาจาร์ ซาเลห์ ผู้รักษาประตูฟุตบอลหญิงทีมชาติกาตาร์ ซึ่งเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่อายุ 11 ปี เธอรู้ดีถึงความต้องการของคนที่ต้องเล่นกีฬาในเขตที่มีสภาพอากาศสุดขั้ว เธอบอกว่าความชื้นคือความท้าทายใหญ่ที่สุด

“เราคุ้นชินกับอากาศร้อน แต่เมื่อรวมความร้อนเข้ากับความชื้น อะไร ๆ ก็ยากลำบากขึ้น” ฮาจาร์ ซาเลห์

ฮาจาร์มีประสบการณ์ตรงในการลงเล่นในสนามแข่ง 2 แห่งที่มีระบบทำความเย็นใหม่นี้

เธอบอกว่ามันมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะเมื่อต้องเล่นในช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่อากาศร้อนระอุที่สุดเดือนหนึ่งในรอบปีของกาตาร์

ระบบมีความยั่งยืนหรือไม่

คณะผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกของกาตาร์ ระบุว่าการใช้ระบบทำความเย็นให้สนามบอลที่จะใช้ในการแข่งขันทั้งหมดจะไม่ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น เพราะไฟฟ้าทั้งหมดได้มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

แต่เป้าหมายของกาตาร์ในการทำให้ฟุตบอลโลกครั้งนี้มี “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (carbon neutrality) มีมากกว่านั้น

ข้อมูลจากสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ประเมินว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกระบวนการก่อสร้างสนามทั้งหมดที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้มีสัดส่วน 90% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นจากการจัดงานนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณ 800,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับการขับรถยนต์รอบโลก 80,000 รอบ

นอกเหนือไปจากสนามแข่งแล้ว ก็ยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดศึกบอลโลกครั้งนี้ เช่น ก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการที่นักเตะและแฟนบอลขึ้นเครื่องบินเดินทางไปที่กาตาร์

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ระบุว่า ขอบเขตสถานที่จัดงานซึ่งไม่ใหญ่มากนัก โดยที่สนามแข่งแต่ละแห่งอยู่ไม่ห่างกันมากนั้น ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่จะเกิดจากการจัดฟุตบอลโลกที่กาตาร์ครั้งนี้มีไม่ถึง 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากศึกบอลโลกที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพในปี 2018

แต่วิธีสำคัญในการบรรลุเป้าหมายสีเขียวของบอลโลกที่กาตาร์คือ การที่คณะผู้จัดงานใช้วิธีชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ซึ่งเป็นการซื้อคาร์บอนเครดิตในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อหักล้างกิจกรรมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของตนเอง

ทว่าปัจจุบันยังไม่ชัดเจนว่ากาตาร์จะบรรลุเป้าหมายนี้อย่างไรบ้าง แต่ฟีฟ่าระบุว่า คาร์บอนเครดิตที่ใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดฟุตบอลโลกนั้นจะทำผ่านบรรดาโครงการส่งเสริมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น เทคโนโลยีเพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสีย พลังงานหมุนเวียน และอาจรวมถึงการปลูกป่า อย่างไรก็ตาม ฟีฟ่าระบุว่าแผนการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ว่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังไม่มีการสรุปในขั้นสุดท้าย

โครงการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การปลูกต้นไม้จะต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าที่ต้นไม้จะโตและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ขณะที่การตรวจสอบของบีบีซีพบข้อมูลบ่งชี้ว่าโครงการปลูกป่าเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบางรายเป็นเพียงโครงการในกระดาษที่ไม่มีการลงมือทำจริง

ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าที่เราจะตัดสินได้ว่ากาตาร์สามารถบรรลุเป้าหมายสีเขียวตามที่ตั้งไว้ได้หรือไม่

นอกจากนี้ กาตาร์ยังเผชิญเสียงวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างชาติราว 30,000 คนที่เข้าไปก่อสร้างสนามกีฬาที่ใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ โดยมีรายงานว่ามีคนงานจำนวนมากเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการทำงาน นอกจากนี้ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องการบังคับใช้แรงงาน สภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่เลวร้ายในที่พักคนงาน รวมทั้งเรื่องการค้างค่าแรง และการยึดหนังสือเดินทางของคนงาน

รัฐบาลกาตาร์ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยยืนยันว่าตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองแรงงานต่างชาติจากการทำงานในสภาพอากาศร้อนเกินไป จำกัดชั่วโมงการทำงาน และปรับปรุงสภาพของที่พักคนงานให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศระบุว่า ในปี 2021 เพียงปีเดียว มีคนงานราว 50 คนเสียชีวิตจากการก่อสร้างสนามแข่งบอลโลกที่กาตาร์ และอีกกว่า 500 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งนี่ถือเป็นอีกประเด็นนอกสนามแข่งที่กาตาร์ยังต้องเผชิญการตรวจสอบและจับจ้องจากนานาชาติ