ตำนาน เดนิช ไดนาไมต์ : 1992 ปาฏิหาริย์ครั้งแรกของฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป – Sanook

ฟุตบอลเป็นกีฬาที่คาดเดาผลการแข่งขันได้ยาก หลายครั้งทีมที่เป็นรองสามารถเอาชนะทีมที่เป็นต่อได้หลังจากการแข่งขัน 90 นาทีจบลง

อย่างไรก็ตาม มีเพียงแค่ไม่กี่ครั้งที่ทีมระดับมวยรองบ่อนสามารถไปได้ตลอดรอดฝั่งในการต่อสู้ชิงแชมป์ลีกหรือทัวร์นาเมนต์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ความพยายาม ความสามารถ และความสม่ำเสมอ จนพวกเขากลายเป็นแชมเปี้ยน 

เลสเตอร์ ซิตี้ กับแชมป์พรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2015-16, กรีซ กับแชมป์ยุโรป ปี 2004 หรือแม้แต่ ลีลล์ ที่เป็นแชมป์ลีกฝรั่งเศสเมื่อฤดูกาล 2020-21 คือตัวอย่างของทีมที่สามารถใช้คำว่า “เทพนิยาย” ได้เต็มปาก

แต่นี่คือเรื่องราวของต้นฉบับเทพนิยายโลกฟุตบอลครั้งแรก เรื่องราวของทีมชาติ เดนมาร์ก ที่เข้าแข่งขันในฐานะมวยแทนในรายการยูโร 1992 … และพวกเขาจบทัวร์นาเมนต์ด้วยการเป็นแชมเปี้ยน 

Main Stand จะมาเล่าถึงเรื่องราวเทพนิยายเดนส์ให้ได้ฟังกันที่นี่

ปาฏิหาริย์ของจริง … 

เทพนิยายเดนส์ เป็นเรื่องราวที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้เลย เพราะก่อนทัวร์นาเมนต์จะเริ่มแข่งขัน เดนมาร์ก ทำได้ไม่ดีนักในการแข่งรอบคัดเลือก เพราะทีมในกลุ่มของพวกเขาคือ ยูโกสลาเวีย, ไอร์แลนด์เหนือ, ออสเตรีย และหมู่เกาะแฟโร 

ทีมชาติเดนมาร์กอยู่ภายใต้การคุมทีมของ ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซ่น ที่มีปัญหาภายใน เนื่องจากตัวของโค้ชกลับไม่ลงรอยกับกลุ่มนักเตะระดับสตาร์ของทีมอย่าง ไมเคิล เลาดรู๊ป ตัวรุกจากสโมสร บาร์เซโลน่า และ ไบรอัน เลาดรู๊ป น้องชายของเขาที่เล่นให้กับ บาเยิร์น มิวนิค จนถึงขั้นที่ว่า 2 พี่น้องเลาดรู๊ป เคยประกาศเลิกเล่นทีมชาติมาแล้ว ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้ความวุ่นวายในแคมป์เกิดขึ้น จนทำให้ผลงาน 3 เกมแรกของ เดนมาร์ก ย่ำแย่มาก ชนะ หมู่เกาะแฟโร แค่ทีมเดียว มองไม่เห็นโอกาสเข้ารอบเลยแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตามการประกาศเลิกเล่นของ 2 พี่น้อง เลาดรู๊ป กลับนำมาซึ่งทีมเวิร์กที่ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ 5 เกมหลังจากนั้น เดนมาร์ก ชนะทุกนัด แต่มันก็ยังไม่พอสำหรับการเข้ารอบ เพราะในยูโรครั้งนั้นทีมที่จะได้ไปเล่นในรอบสุดท้ายต้องเป็นแชมป์กลุ่มในรอบคัดเลือกเท่านั้น ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวตกเป็นของยูโกสลาเวีย 

หลังจากเส้นทางถูกตัดตอนตั้งแต่รอบคัดเลือก โค้ช  ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซ่น ที่เริ่มได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารและแฟนบอลมากขึ้น มองไปถึงการทำทีมเลือดใหม่โดยไร้ 2 พี่น้อง เลาดรู๊ป ไปแล้ว ทว่าช่วงเวลาแห่งปาฏิหาริย์ก็ได้เริ่มถูกนับ 1 ขึ้นมาใหม่ เมื่ออยู่ดี ๆ พวกเขาก็ถูกเชิญให้เข้าแข่งขัน ยูโร 1992 รอบสุดท้าย ที่ประเทศสวีเดนเป็นเจ้าภาพ ก่อนการแข่งขันจะเริ่มเพียงแค่ 1 อาทิตย์เท่านั้น 

เหตุผลเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว ยูโกสลาเวีย กำลังเกิดปัญหาสงครามกลางเมือง โดยสงครามครั้งนี้กินเวลาลากยาวถึง 10 ปี (1991-2001) และมีความซับซ้อนอย่างมาก เพราะมีสงครามซ้อนสงครามอย่างต่อเนื่อง จากการที่กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้ง สโลวีเนีย, โครเอเชีย, บอสเนีย (ก่อน ยูโร 1992) รวมถึง โคโซโว (หลัง ยูโร 1992) ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช นำมาซึ่งการสังหารหมู่ จนมีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้งหมดกว่า 100,000 คน

ซึ่งในช่วงที่กำลังจะมีศึกยูโร 1992 นั้น ยูโกสลาเวีย ได้เปิดศึก 2 ด้าน ทั้งสงครามกับโครเอเชีย และบอสเนีย จนทำให้ ฟีฟ่า และ ยูฟ่า สั่งคว่ำบาตร ตัดสิทธิ์ในการเข้าแข่งขันในยูโร 1992 ไปโดยปริยาย

“สงครามกลางเมืองในยูโกสลาเวียร้อนแรงขึ้น มันทำให้มีนักเตะทีมชาติของเราหลายคนแอบหวัง และเตรียมพร้อมว่าเราจะถูกส่งชื่อเข้าไปแข่งขันแทน เรารู้หลังจากได้ข่าวว่าเริ่มมีตัวแทนฝ่ายเราเข้าไปเจรจาเรื่องนี้กับ ยูฟ่า สุดท้ายมติการตัดสิทธิ์ ยูโกสลาเวีย ก็เกิดขึ้นจริง และเมื่อเป็นแบบนี้ เดนมาร์ก ไม่มีทางปฏิเสธ … เราไปแน่นอน” คิม วิลฟอร์ด นักเตะกองกลางในทีมชุดนั้นกล่าวกับ BBC 

“เรามีทีมที่ดี เรารู้เพราะเราเคยเอาชนะ ยูโกสลาเวีย ในรอบแบ่งกลุ่มมาแล้ว และเราไม่กลัวแม้จะถูกจัดให้แข่งกับ สหภาพโซเวียต โดยรู้ก่อนแข่งแค่ 1 สัปดาห์ … เราไม่มีทางล้มเหลว เพราะเราไม่ได้ถูกคาดหวังอะไรเลย ต่อให้แพ้ 0-5 ทั้ง 3 นัด ก็ช่างมัน ไม่สำคัญอะไรเท่ากับการได้รับโอกาสนี้” เขากล่าวต่อ 

งานหนักคือหน้าที่ของโค้ช นีลเซ่น ที่จะต้องรวมทีมกลับมาให้ได้ทันเวลา หนนี้เขาได้เปิดห้องจับเข่าคุยกับ 2 พี่น้อง เลาดรู๊ป เพื่อเคลียร์ใจกับเรื่องในอดีตที่ผ่านมา



Photo : www.worldsoccer.com

แม้สุดท้ายการสมานฉันท์ได้เกิดขึ้น ทว่าสองพี่น้องมีความคิดไม่ตรงกัน ไบรอัน น้องชายโอเคที่จะมารับใช้ชาติ ทว่า ไมเคิล พี่ชาย กลับมองว่าโอกาสประสบความสำเร็จจากการเข้ามาเป็นมวยแทนในวินาทีสุดท้ายนั้นต่ำต้อยเหลือแสน นั่นทำให้ ไมเคิล ปฏิเสธการรับใช้ชาติใน ยูโร 1992 เพื่อไปพักร้อนต่อ เหลือเพียง ไบรอัน คนเดียวในทีมชุดดังกล่าว

“ผมไม่เคารพ ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซ่น ในฐานะโค้ชเลยแม้แต่น้อย ดังนั้นการหยุดลงเล่นให้ทีมชาติไปเลยคงจะดีกว่า ผมไม่สามารถแสดงความเป็นตัวเองออกมาได้เมื่อมีเขาเป็นผู้ฝึกสอน เเละเขาเองก็ไม่ชอบผมในฐานะนักเตะคนหนึ่งเหมือนกัน” ไมเคิล เลาดรู๊ป กล่าว

การไร้ดาวเตะอันดับ 1 ของชาติ คือความเสียหายครั้งสำคัญ ไมเคิล คิดแบบนั้นก็ไม่ผิดนัก เพราะคงไม่มีใครกล้าคิดว่า เดนมาร์ก ที่ต่อให้มีเขา จะไปได้ไกเกินกว่ารอบแบ่งกลุ่ม ภายใต้เพื่อนร่วมสายที่แข็งโป๊กครบถ้วนนี้ … แต่ที่สุดเเล้วชีวิตต้องเดินต่อไป ฟุตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม ต่อให้ไม่มี ไมเคิล เลาดรู๊ป ก็ไม่ใช่เหตุผลที่พวกเขาจะถอดใจ จนปอดแหกไม่กล้าสู้ 

นีลเซ่น เรียกนักเตะทั้งหมดเข้าร่วมแคมป์ ทั้ง 20 คน เข้ารับฟังคำกล่าวของเฮดโค้ชครั้งแรกในช่วงการซ้อม เพื่อเข้าใจว่า “พวกเขาจะเข้าแข่งขันในฐานะไหน ?” ซึ่งโค้ชนีลเซ่น ทำให้ทุกคนต้องขำก๊าก เพราะเขาพูดว่า “ฟังนะเด็ก ๆ เราจะไปที่สวีเดนและลงเล่นด้วยความคาดหวังที่จะเป็นแชมป์เท่านั้น”

มาเนิบ ๆ แต่เล่นแน่น ๆ 

ฟุตบอลยูโร 1992 มีเพียง 8 ทีมเท่านั้น ในรอบสุดท้าย แตกต่างจากปัจจุบันที่มี 24 ทีม โดยรอบแบ่งกลุ่ม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มเอ และกลุ่มบี นั่นหมายความว่าหากติด 1 ใน 2 อันดับแรกของกลุ่ม ก็จะทะลุเข้ารอบรองชนะเลิศทันที

แต่ เดนมาร์ก ต้องอยู่กลุ่มเอ กลุ่มเดียวกับ สวีเดน, อังกฤษ และ ฝรั่งเศส … แข็งโป๊กทั้งนั้น ไม่แปลกที่นักเตะหลายคนจะหัวเราะกับสิ่งที่โค้ชนีลเซ่นบอก พวกเขาไม่น่าจะมีแววเข้ารอบเลยด้วยซ้ำหากฟังจากชื่อทีมทั้งหมดที่กล่าวมา 



Photo : cultofcalcio.com

โค้ชนีลเซ่น สั่งให้ทีมเล่นแบบระมัดระวังและซื้อเกมรับไว้ก่อนเป็นอันดับแรก พวกเขามี ปีเตอร์ ชไมเคิล เป็นผู้รักษาประตู และมีกองหลังทั้งหมดถึง 5 ตัว ในแผนการเล่นระบบ 5-3-2 เรียกได้ว่าขอแค่ไม่เสียไว้ก่อนเป็นใช้ได้ 

แผนนี้ทำได้ดีในเกมกับอังกฤษ ที่นำโดย แกรี่ ลินิเกอร์, เดวิด แพล็ตต์ และ อลัน สมิธ เพราะ เดนมาร์ก ต้านสุดชีวิต ไม่ใช้ตัวสำรองเลยแม้แต่ตัวเดียว จนสามารถยันสกอร์ไว้ได้ที่ 0-0 ในท้ายที่สุด พวกเขาได้แต้มแรกและกำลังมั่นใจ จนกระทั่งมาถึงนัดที่ 2 พวกเขาต้องมาเจอกับเพื่อนบ้านที่เป็นเจ้าภาพในการแข่งขันครั้งนี้ 

สวีเดน คือพี่ใหญ่ในวงการฟุตบอลแห่งย่านนอร์ดิก พวกเขามีนักเตะเก่ง ๆ ไม่น้อย มาร์ติน ดาห์ลิน จาก กลัดบัค, โทมัส โบรลิน จาก ปาร์ม่า, อันเดอร์ส ลิมปาร์ จาก อาร์เซน่อล และ สเตฟาน ชวาร์ซ จาก เบนฟิก้า คือชื่อต้น ๆ ของพวกเขา

สวีเดน นั้นใช้ความเป็นเจ้าภาพและพี่ใหญ่ที่ผูกปีชนะ เดนมาร์ก (สถิติการเจอกันของทั้ง 2 ชาติ นับถึงปี 2021 พบกัน 107 ครั้ง สวีเดน ชนะ 46 เดนมาร์ก ชนะ 21 เสมอ 20) ได้อย่างยอดเยี่ยม พวกเขาเอาชนะ เดนมาร์ก ไป 1-0 จากประตูของ โทมัส โบรลิน และปล่อยให้ เดนมาร์ก ต้องมาชิงตั๋วเข้ารอบในนัดสุดท้ายที่ต้องพบกับฝรั่งเศส ที่นำทัพโดย เอริค คันโตน่า และ ฌอง ปิแอร์ ปาแป็ง 2 ดาวยิงแห่งยุค

แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ เดนมาร์ก จะหวังเป็นผู้ชนะ เพราะหลังผ่าน 2 เกมแรก พวกเขามีเกมรุกที่แย่ที่สุดในกลุ่ม ยิงประตูใครไม่ได้เลย อีกทั้งครั้นจะให้เกมรับยันนักเตะตัวรุกอย่าง คันโตน่า และ ปาแป็ง ก็ดูจะเป็นไปได้ยากมาก … กับสถานการณ์ที่ต้องชนะ 

“เรารู้ว่าการที่เราจะชนะฝรั่งเศสได้เราต้องทำอะไรที่พิเศษกว่าที่เคย ฝรั่งเศสนักเตะเก่งเพียบ แค่บอกชื่อ ปาแป็ง กับ คันโตน่า คนอื่นก็ขาสั่นแล้ว พวกเขาจะบุกใส่เราแน่ เพราะพวกเขาอยากจะเข้ารอบและต้องกดดันมากกว่าเรา ดังนั้นเราต้องเซอร์ไพรส์พวกเขา เราจะเล่นเกมรุกให้พวกเขาดูและเราจะทำมันตั้งแต่ช่วง 10 นาทีแรกของ ถ้ายิงได้ก่อน พวกเขาจะต้องช็อกแน่นอน” ไบรอัน เลาดรู๊ป กล่าว   

นักเตะ เดนมาร์ก ถูกกุนซือ นีลเซ่น วางแผนมาให้เล่นบอลคอนโทรลโดยเฉพาะ และพวกเขาทำได้ตามแผนจริง ๆ ฝรั่งเศส ช็อกกับสถานการณ์ที่อยู่ ๆ เดนมาร์ก ที่เล่นเกมรับมาตลอด 2 เกมแรก เดินหน้าบุกใส่ตั้งแต่นกหวีดดัง และเพียง 8 นาที เฮนริก ลาร์เซ่น ก็ทำประตูได้ จากการเล่นลูกเซ็ตพีซ ที่โยนยาวตั้งแต่ครึ่งสนามและวัดกันในกรอบเขตโทษด้วยความแข็งแกร่ง 



Photo : www.goal.com

“ลาร์เซ่น ยิงได้เหลือเชื่อ พวกเขาช็อก ขณะที่เรามั่นใจในตัวเองขึ้นอีกเป็นกอง จังหวะนั้นเปลี่ยนทุกอย่างเลย เราทะลุไปถึงรอบรองชนะเลิศทันที (ชนะ 2-1) และ ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซ่น ก็เริ่มเป็นฝ่ายหัวเราะบ้าง เพราะในตอนแรกไม่มีใครคิดด้วยซ้ำว่าเราจะได้สักแต้มในรอบแบ่งกลุ่ม” เลาดรู๊ป ผู้พี่กล่าว 

เส้นทางที่รออยู่ เดนมาร์ก ต้องพบกับ เนเธอร์แลนด์ ที่นำโดยด้วยกลุ่มนักเตะชุดคว้าแชมป์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว  อาทิ มาร์โก ฟาน บาสเท่น และนักเตะดาวรุ่งที่กำลังเล่นได้ดีสุด ๆ อย่าง เดนนิส เบิร์กแคมป์ 

หากไม่ผ่านทีมอย่าง ฝรั่งเศส และ อังกฤษ มาก่อน โอกาสที่นักเตะเดนมาร์กจะถอดใจมีสูงมาก พวกเขาไม่น่าสู้แชมป์เก่าได้ … แต่ตอนนี้ เดนมาร์ก ไม่จำเป็นต้องกลัวใครแล้ว ชัยชนะอีก 2 นัด จะทำให้พวกเขากลายเป็นแชมป์ ตอนนี้พวกเขามั่นใจสุดขีดว่าถ้าพวกเขาทำตามแผนที่วางไว้ อดทนตั้งรับ เล่นเกมยาว และสวนให้แม่น … พวกเขามีโอกาสชนะได้ทุกทีม

บอลรับตำรับน็อกเอาต์

การเล่นฟุตบอลทัวร์นาเมนต์มีเสน่ห์อยู่อย่างหนึ่ง คือเมื่อถึงรอบน็อกเอาต์แล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ทีมที่รู้จักตัวเองและรู้จักคู่แข่งดีที่สุด คือทีมที่อันตรายที่สุด ซึ่ง เดนมาร์ก น่าจะเป็นทีมแบบนั้น

พวกเขารู้ว่าพวกเขาจะใช้อาวุธลับด้วยการเล่นเกมบุกใส่เหมือนกับเกมปะทะฝรั่งเศสไม่ได้อีกแล้ว เพราะ เนเธอร์แลนด์ ได้เห็นวิธีการเข้าทำแบบ เดนมาร์ก มาแล้ว ดังนั้น เดนมาร์ก ต้องกลับคืนสู่สามัญ นั่นคือการเล่นด้วยเกมรับและความอดทนอีกครั้ง … ไม่มีนักเตะคนไหนชอบเล่นเกมรับ แต่บางครั้งเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ ใช้กลยุทธ์ที่ถูกต้องและเหมาะสมกับศักยภาพของตัวเองที่สุด



Photo : www.bt.dk

“หลังจากชนะฝรั่งเศส เราเริ่มจะรู้จักความกดดันบ้างแล้ว เราจะต้องเจอกับแชมป์เก่า และนั่นทำให้เราประหม่ากันพอสมควร เรากดดันยิ่งกว่าการเล่นกับฝรั่งเศส เราจับเข่าคุยกันอีกครั้งและพบว่าเราต้องกลับสู่สิ่งที่เราถนัดที่สุด คือการเล่นเคาน์เตอร์อีกครั้ง” ไบรอัน เลาดรู๊ป กล่าว 

5 นาทีแรก เดนมาร์ก ทำเซอร์ไพรส์ได้อีกครั้ง เฮนริก ลาร์เซ่น ยิงได้ในต้นเกมอีกแล้ว จากบอลโต้กลับและโยนให้โหม่งแบบเบสิก ๆ พวกเขาพยายามตั้งรับเพื่อให้สกอร์จบแค่นั้น แต่ เนเธอร์แลนด์ นั้นมีเกมรุกดุดัน เบิร์กแคมป์ ตีเสมอได้ในนาทีที่ 23  แต่เดนมาร์ก คุยเรื่องนี้กันมาก่อนแล้ว พวกเขารู้ว่าจะต้องโดนยิงประตู แต่วิธีการคือ พวกเขาจะเล่นเหมือนเดิม โต้กลับและชวนทะเลาะจนนาทีสุดท้าย 

“เบิร์กแคมป์ ยิงได้ แต่เราไม่สะทกทะท้าน เรารู้ว่าเรามีพลังงานมากพอ (จะยื้อจนหยดสุดท้าย) ก่อนพักครึ่งเราก็ทำได้ ลาร์เซ่น ยิงได้อีกแล้ว เราคิดว่าจะเอาสกอร์นี้แหละ แต่ เนเธอร์แลนด์ นั้นไม่เคยถอดใจเหมือนกัน ก่อนหมดเวลา 4 นาที แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด ยิงตีเสมอ 2-2 แล้วเราก็เล่นกันจนถึงต่อเวลาพิเศษ ก่อนจะจบลงด้วยสกอร์นั้น”  

“ตอนแรกเราคิดว่าเราผิดหวังนะที่โดนยิงท้ายเกมจนพลาดชัยชนะ แต่ผมก็ย้อนมาถึงช่วงก่อนที่จะแข่ง … ตอนนั้นเราคิดว่าแค่ไม่แพ้ก็ดีแล้ว ยันเสมอจนมาถึงการดวลจุดโทษคือเป้าหมายของเรา เพราะเรารู้ว่า ปีเตอร์ ชไมเคิล จะต้องทำได้” เลาดรู๊ป เล่าต่อ 



Photo : www.bt.dk

ชไมเคิล ปัดป้องลูกยิงของ มาร์โก ฟาน บาสเท่น ได้ในการยิงคนที่ 2 ของ เนเธอร์แลนด์ ขณะที่ เดนมาร์ก ซ้อมยิงจุดโทษมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ มือยิงของพวกเขาทั้ง 5 ไม่พลาดเป้าเลยแม้แต่คนเดียว นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ เดนมาร์ก เอาชนะและเข้ารอบชิงชนะเลิศได้แบบช็อกโลก

เดนมาร์ก ที่ทุกคนไม่กล้ามองข้าม 

จากทีมรับเชิญ ตอนนี้พวกเขาไล่เก็บทีมใหญ่ ๆ มาแล้ว 2 นัดติดต่อกันและได้ฉายาว่า “เดนิช ไดนาไมต์” และคู่แข่งในนัดชิงชนะเลิศของพวกเขาคือ เยอรมัน … ทีมอินทรีเหล็กเพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 1990 มา (ในฐานะ เยอรมันตะวันตก ก่อนรวมชาติเป็นหนึ่งใน ยูโร 1992 เป็นรายการแรก) และแกร่งทั่วแผ่น แนวรับมี อันเดรียส เบรห์เม่ กับ เยอร์เก้น โคห์เลอร์ ขณะที่แดนกลางเป็น สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก และ โทมัส เฮสเลอร์  

รูปเกมเป็นไปตามที่ทุกคนคาด เยอรมัน เปิดเกมบุกเต็มพิกัด ยิงแล้วยิงอีก แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงไม่ได้ประตูขึ้นนำ … พวกเขาไม่มีโชค เดนมาร์กโชคดี หรือ ปีเตอร์ ชไมเคิล โหดเกินมนุษย์มนากันแน่ ? 



Photo : www.fifa.com

“ผมเลือกไม่ถูกเลยว่าเป็นเกมที่ดีที่สุดของพวกเราในนามทีมชาติ หรือเป็นเกมที่เยอรมันโชคร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของเขากันแน่” คิม คริสตอฟต์ กองหลังของ เดนมาร์ก กล่าว 

เดนมาร์ก ถูกโค้ช นีลเซ่น กระตุกจิตกระชากใจ เขาพยายามทำให้ลูกทีมเชื่อว่าเกมนี้เราจะเป็นฝ่ายชนะ อย่ากลัวที่จะโดนบุก อย่ากลัวที่จะเสียประตู อย่ากลัวที่จะเข้าปะทะ … ซึ่งประตูแรกของพวกเขาเกิดขึ้นจากการที่ จอห์น ซิเวอเบ็ก แบ็คขวาของทีมเข้าปะทะหนักใส่ เยอร์เก้น โคห์เลอร์ ก่อนที่ เดนมาร์ก จะได้บอลที่ริมเส้นฝั่งขวาและปาดเข้ากลางตามสูตรให้กับ จอห์น เยนเซ่น ยิงประตูสุดสวยให้ เดนมาร์ก ขึ้นนำ 1-0 

เยอรมันพยายามมาก แต่ ชไมเคิล ก็ไม่เคยปล่อยให้ใครยิงบอลผ่านมือเขาได้เลย พอเป็นแบบนั้นมาก ๆ เข้า เดนมาร์ก ก็ยิ่งมั่นใจ พวกเขาเล่นแบบเดิมคือชวนทะเลาะและจัดการประตู 2-0 ในนาทีที่ 78 พอได้ประตูนั้น เยอรมัน พร้อมจะยอมรับความพ่ายแพ้ทันที …

“ผมรู้ได้เลยว่า เยอรมัน กำลังจะยอมแพ้ โดนยิงแบบนี้มันมากเกินไปสำหรับพวกเขาที่ยิงกระหน่ำแทบทั้งเกม เราเอาโชคของคนทั้งโลกมารวมกันที่สนามแห่งนี้ พวกเขาเล่นดีกว่าเรามาก แต่ ปีเตอร์ ชไมเคิล อยู่ในฟอร์มระดับมนุษย์ต่างดาว เขาเก่งหลุดโลกไปแล้ว ลูกโหม่งของ คลิ้นส์มันน์ แรงและพุ่งจะเสียบสามเหลี่ยมอยู่แล้ว แต่เขาปัดออกมาได้ด้วยมือเดียว ทุกคนพูดพร้อมกัน … โอ้พระเจ้า ปีเตอร์ มันไปกินอะไรมาวะเนี่ย” เลาดรู๊ป กล่าว



Photo : www.givemesport.com

เดนมาร์ก จบการแข่งขันครั้งนั้นด้วยการเป็นแชมป์ยุโรป และเป็นแชมป์ครั้งประวัติศาสตร์ พวกเขาให้เครดิต ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซ่น ที่รวมทีมในเวลาแค่ 1 สัปดาห์ และยัดทุกอย่างที่ทำให้ลูกทีมของเขาไม่ได้ลงแข่งขันไปแบบไม่คาดหวังอะไร พวกเขาลงเล่นเพื่อเป็นแชมป์ และทำได้จริง ๆ 

“นี่คือผลงานของทั้งทีมอย่างไม่ต้องสงสัย ผู้เล่นหลายคนมาจาก บรอนด์บี้ สโมสรที่เป็นรากฐานของทีมชาติ พวกเราบางคนอาจจะไปเล่นในต่างประเทศแล้ว แต่เราเอาประสบการณ์ตรงนั้นมาช่วยทุกคน สิ่งสำคัญจริง ๆ โมลเลอร์ นีลเซ่น ที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม”

“เขาคือสุดยอดนักจิตวิทยา เขาหลอกล่อ ล่อลวง และกระตุ้นเราทั้งทางตรงและทางอ้อม เขาพยายามมาก ๆ ที่จะทำให้ทุกคนเชื่อว่าเราจะชนะได้จริง ๆ ทำใหทุกคนเชื่อว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ สามารถเป็นไปได้” เลาดรู๊ป กล่าว

เดนมาร์ก ขนโทรฟี่แชมป์จาก สวีเดน เดินทางกลับบ้าน จากทีมที่ไม่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย, ไม่ฟิต 100% กลายเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ถึงขั้นเป็นแชมเปี้ยน หน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับบอกเล่าเรื่องราวความมหัศจรรย์ระดับปาฏิหาริย์ครั้งแรกของโลกฟุตบอล 



Photo : optus.com.au

“เราเริ่มต้นด้วยความพยายามก่อน ทุกคนรู้ว่านี่คือรายการที่จะไม่มีที่ว่างให้ความผิดพลาด คุณต้องแสดงออกตั้งแต่วันแรกที่การแข่งขันเริ่มขึ้น พวกเราทุกคนลงเล่นพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้า เราสามารถคว้าแชมป์ และบรรลุผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ … มันสุดยอดเกินกว่าจะเป็นเรื่องจริง แน่นอนว่ามันจะฝังใจเราไปจนวันสุดท้ายของชีวิต” ไบรอัน เลาดรู๊ป กล่าวทิ้งท้าย 

ผู้ชนะทำอะไรก็ดูดี … เมื่อถึงวันเป็นแชมป์ คำด่าจากคนทั่วประเทศที่กล้าตัดชื่อ ไมเคิล เลาดรู๊ป ออกจากทีม เปลี่ยนแปลงเป็นการยกย่องว่าคือสุดยอดการตัดสินใจที่ทำให้ทีม ๆ นี้เต็มไปด้วยผู้เล่นที่เคยเป็นลูกทีมของเขาในอดีต ทำให้ทุกคนพร้อมจะเล่นเพื่อโค้ชและสุดท้ายพวกเขาไปถึงตำแหน่งแชมป์ 

สำหรับ โมลเลอร์ นีลเซ่น เขาเป็นสุภาพบุรุษมากพอที่จะไม่ออกอาการสะใจหรือพาดพิง ไมเคิล เลาดรู๊ป หลังจากที่ทีมสร้างประวัติศาสตร์ “เดอะ เกรท เดนส์” เขาไม่พูดอะไรในแง่ลบเลย บทสัมภาษณ์ของ นีลเซ่น ส่วนใหญ่พูดถึงความสามัคคี ความมุ่งมั่น และทัศนคติของนักเตะทั้ง 20 คนที่เขาเลือกมาร่วมทีมทั้งสิ้น 



Photo : thesefootballtimes.co

“เราจะทำยังไงกับทัวร์นาเม้นต์แบบนี้ ? เรามาถึงสวีเดนวันอังคาร และต้องแข่งกับ อังกฤษ ในวันศุกร์ ในช่วงเวลาสั้น ๆ สิ่งสำคัญคือการสอนให้ทีมรู้ว่านี่ไม่ใช่ทริปการท่องเที่ยวของคนที่รับรางวัลแจ็คพ็อต” นีลเซ่น กล่าว 

“เราต้องมีสมาธิเต็ม 100% ในเกมการแข่งขัน แน่นอนลูกทีมของผมทำได้ ทีมชุดนี้เต็มไปด้วยนักเตะที่มีหัวจิตหัวใจเป็นผู้ชนะ … ถ้าคุณคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของโชคชะตา เราโชคดี เยอรมันโชคร้าย ผมว่าอย่าคิดแบบนั้นเถอะมันโคตรจะดูงี่เง่า”

“ผมอยากได้แชมป์ยุโรปตั้งแต่วันแรกที่รู้ว่าเราจะได้มาแข่ง … และผมไม่พูดถึงอะไรที่มันงี่เง่า ๆ เหมือนกับเรื่องโชคชะตาอีก” ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซ่น ผู้ล่วงลับกล่าวทิ้งท้าย