สมเกียรติ กิตติธรกุล ประธานสโมสรฟุตบอล กระบี่ เอฟซี :กรรมการกลางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ คมชัดลึก “ว่า รู้สึกหนักใจแทน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย หลังจากที่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำพิพากษาให้ “สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ” ชำระเงินให้แก่ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) : “บริษัทสยามสปอร์ตฯ” รวม 450 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย มีผลภายใน 30 วัน
กรรมการกลางสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากพิจารณาจากคำพิพากษาของ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ เท่ากับว่า “สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ” ต้องถือปฏิบัติ ต่อคู่กรณีคือ “บริษัทสยามสปอร์ตฯ” และหากพิจารณาจากกระบวนการของศาลแล้ว เท่ากับว่าเรื่องสิ้นสุดลง แน่อนว่าวงเงินที่สมาคมกีฬาฟุตญต้องชำระคืนให้กับ อีกฝ่ายอยู่ในอัตราที่สูงมาก
เขา กล่าวว่า ที่ผ่านมา “สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ” อยู่ในภาวะที่ยากลำอย่างยิ่ง นับตั้งแต่การ เจรจาเพื่อหาพันธมิตรรายใหม่ เข้ามารับดำเนินการ เป็นผู้ถ่ายทอดสดฟุตบอลอาชีพ และฟุตบอลทีมชาติ ซึ่งกลายเป็นว่าการเจรจาระหว่าง สมาคมกีฬาฟุตบอล กับบริษัทเอกชนคู่สัญญาดังกล่าว ต้องยกเลิกไป โดยปริยาย มีผลกระทบมาถึงฐานรายได้ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่พึ่งพารายได้หลักจากการบริหารสิทธิประโยชน์ และเมื่อศาลมีคำพิพากษาว่า ด้วยเรื่องการถูกฟ้อง จาก “บริษัทสยามสปอร์ตฯ”ก็ยิ่งสร้างกดดันให้กับองค์มากยิ่งขึ้น โดยส่วนตัวแล้ว ขอเป็นกำลังใจให้กับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ต่อการฝ่าฟัน ปัญหาเหล่านี้
สมเกียรติ กิตติธรกุล ประธานสโมสรฟุตบอลกระบี่ เอฟซี
สำหรับความเป็นมาในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ระหว่าง “บริษัทสยามสปอร์ตฯ” กับ“สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ” เป็นคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขดำที่ ทป.32/2560 , 79/2560 คดีหมายเลขแดงที่ ทป.142/2562 , 143/2563 ระหว่าง บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชนฯ) โจทก์ กับ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ที่ 1 กับพวกรวม 20 คน จำเลย
บมจ.สยามสปอร์ต ซินดิเคต เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ กับพวก ในเดือนพฤศจิกายน 2561 จากกรณีที่สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง นายกสมาคมฯ บอกเลิกสัญญาบริหารสิทธิประโยชน์ ที่ทางบมจ.สยามสปอร์ตได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมฟุตบอลฯ ในสมัยนายวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคม ให้เป็นผู้บริหารสิทธิประโยชน์ ตั้งแต่ปี 2556-2565 โดยขอให้สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,401,220,807.15 ( ล้านบาท)
ต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 โดยพิพากษาให้ สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่บมจ.สยามสปอร์ตฯ จำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง และให้สยามสปอร์ตฯ คืนเงินจำนวน 240 ล้านบาท แก่บริษัทซีนีเพล็กซ์ จำกัด จำเลยที่ 20 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559
ก่อนหน้านี้ บริษัทสยามสปอร์ตฯ ทำสัญญาสิทธิประโยชน์กับสมาคมกีฬาฟุตบอล ( ยุคนายวรวีร์ มะกูดี เป็นนายกสมาคม ในปี 2556-2560 ) และถูกบอกเลิกในสมัย พล.ต.อ.สมยศ ทำให้บริษัทสยามสปอร์ต ฯได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสมาคมกีฬาฟุตบอล เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.2560 เป็นจำนวนเงิน 1,400 ล้านบาท โดยระบุถึงการถูกบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
ขณะที่สมาคมกีฬาฟุตบอล ได้ฟ้องกลับบริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท เช่นกัน โดยระบุว่าสยามสปอร์ตไม่ได้จ่ายเงินค่าตอบแทนลิขสิทธิ์ร้อยละ 5 ตามเงื่อนไขของสมาคมกีฬาฟุตบอล เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยก่อนเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบบอล ในปี 2559 นั้น พบว่าบริษัทสยามสปอร์ตฯได้รับเงินค่าลิขสิทธิ์แล้ว 240 ล้านบาท แต่ไม่ได้จ่ายให้สมาคมกีฬาฟุตบอล
ต่อมาศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง นัดทั้ง 2 ฝ่าย ฟังคำพิพากษา ( 23 สิงหาคม 2562 ) และมีคำตัดสินว่าสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ไม่มีเหตุในการยกเลิกสัญญา ทำให้สมาคมกีฬาฟุตบอลต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับ บริษัท สยามสปอร์ต 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่ง สมาคมกีฬาฟุตบอล และบริษัทสยามสปอร์ตฯ สามารถยื่นอุทรณ์ต่อคำสั่ง ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง ภายใน 30 วัน ( ในขณะนั้น )
ด้านบริษัทสยามสปอร์ตฯได้ยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กระทั่งวันนี้ ( 15 ก.ค. ) ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ มีคำพิพากษา แก้เป็นให้ สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จ่ายให้ บริษัทสยามสปอร์ต 450 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (27 มิ.ย. 60) ถึงวันที่ 10 เม.ย 64 และดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เม.ย 64 เป็นต้นไป โดยให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน