จากบทนำกำเนิดหงส์เล่ม1


จากบทนำกำเนิดหงส์เล่ม1

ถ้าแบ่งช่วงเวลากันตามทศวรรษ ผมเกิดกลางยุค 70 เริ่มติดตามฟุตบอลช่วงปลายยุค 80 และคลั่งไคล้เกมลูกหนังหนักหน่วงอะดรีนาลีนฉีดพล่านในยุค 90

    เริ่มรู้จักและจดจำนักฟุตบอลก็ตั้งแต่ยุค 80 แล้วก็ตามเชียร์ลิเวอร์พูลเรื่อยมาจนถึงวันนี้

    นักฟุตบอลย้ายเข้า นักฟุตบอลย้ายออก นักฟุตบอลที่เติบโตขึ้นมาจากทีมเยาวชน

    คนที่เข้ามาเพื่อชุบตัว คนที่เข้ามาเพื่อเตรียมไปต่อ คนที่เข้ามาเพื่อเป็นตำนาน

    ในยุคของผมมาจนถึงวันนี้มันก็ต้องเป็น เอียน รัช – จอห์น บาร์นส์ – ปีเตอร์ เบียร์ดสลี่ย์ – บรูซ กร็อบเบล่าร์ – รอนนี่ วีแลน – สตีฟ แม็คมานานมาน – ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ – เจมี่ เร้ดแน็ปป์ – ไมเคิ่ล โอเว่น – แกรี่ แม็คอัลลิสเตอร์ – สตีเว่น เจอร์ราร์ด – ชาบี อลอนโซ่ – เปเป้ เรน่า – ลูคัส เลว่า – เฟร์นานโด ตอร์เรส – หลุยส์ ซัวเรซ – ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ – โมฮาเหม็ด ซาลาห์ และอีกมากมายนับนิ้วรวมกันไม่หมด

    เช่นเดียวกับผู้จัดการทีม ในยุคของผมก็ได้รู้ได้เห็นได้ดื่มด่ำบ้างดำดิ่งบ้างกับการทำงานของกุนซือแต่ละคน

    บางคนทำงานได้เยี่ยม บางคนไม่เข้าตาเท่าไหร่ บางคนก็เข้ามาเพียงแค่กอบกู้สถานการณ์ระยะสั้นๆ

    มีทั้งคนที่ได้จารึกชื่อว่าเป็นผู้จัดการทีมของลิเวอร์พูล และมีทั้งคนที่ได้รับการจารึกต่อท้ายว่านี่แหละผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่แห่งแอนฟิลด์

    ในยุคของผมก็ต้องเป็น เซอร์เคนนี่ ดัลกลิช ราฟาเอล เบนิเตซ และ เจอร์เก้น คล็อปป์ ที่เป็นที่รักเหลือเกิน

    มันก็เป็นไปตามยุคสมัยและเจเนอเรชั่น ยุคใครก็ยุคเขา ความรู้สึก “อิน” หรือจริงจังกับทุกอย่างที่เป็นลิเวอร์พูลของแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับยุคของเขาคนนั้น ส่วนใหญ่จะอินมากตอนที่เป็นวัยรุ่น

    —————–

จากบทนำกำเนิดหงส์เล่ม1

    เมื่อได้รับมอบหมายให้แปลและเรียบเรียงเรื่องราวสารพัดสารพันของสโมสรลิเวอร์พูลจากวันแรกจนถึงวันนี้ในซีรี่ส์ยาว “กำเนิดหงส์” ผมต้องพาตัวเองไปขลุกอยู่กับเรื่องราวแต่หนหลัง ย้อนกลับขึ้นไปไกลถึงวันที่พวกเราทุกคนในปัจจุบันยังไม่ลืมตาดูโลก

    ไม่ใช่ยุคของเรา ไม่ใช่ยุค 80, 90, 2000 หรือ 2010

    ไม่ใช่กระทั่งวันเวลาก่อนหน้ายุคของเราสัก 2 ทศวรรษช่วงยุค 60 และ 70 ที่ยังพอจะคุ้นเคยและรับรู้เรื่องราวมาบ้าง

    หากมันย้อนขึ้นไปไกลถึงศตวรรษก่อน ในปีถือกำเนิดของสโมสรลิเวอร์พูล 1892 หรือเมื่อ 129 ปีที่แล้ว และอันที่จริงยังย้อนขึ้นไปไกลกว่านั้นอีกด้วยต้นกำเนิดของลิเวอร์พูลมีที่มาที่ไปจากเอฟเวอร์ตัน คู่ปรับในศึกเมอร์ซี่ย์ไซด์ดาร์บี้

    ย้อนไปจนถึงวันที่โบสถ์เซนต์ โดมิงโก้ สร้างเสร็จเมื่อปี 1870 ด้วยซ้ำ แม้กระทั่งตัวโบสถ์ก็ยังไม่หลงเหลือร่องรอยอยู่อีกแล้ว ณ ปัจจุบัน

    แล้วผมก็ได้รับรู้ว่า ความรู้สึกคลั่งไคล้และอารมณ์ร่วมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเราในยุคของเรา มันก็เคยเกิดขึ้นมาตลอดในหน้าประวัติศาสตร์

    มีนักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์ มีผู้จัดการทีมที่แฟนบอลกระโดดโลดเต้นยามได้มาคุมทีมให้ มีปัญหาวิกฤติทั้งในสนามและนอกสนาม

    มีงานแห่ฉลองต้อนรับวีรบุรุษ

    สิ่งต่างๆ ที่เราได้เห็นและสัมผัสในวันเวลาของเรา มันเกิดขึ้นเช่นกันเมื่อร้อยยี่สิบปีก่อน ร้อยปีก่อน เจ็ดสิบปีก่อน หรือสี่สิบปีที่แล้ว

    คล้ายวงล้อแห่งวัฏจักร มันหมุนของมันไปเรื่อย มีดี มีแย่ มีรอยยิ้ม มีน้ำตา

—————–

จากบทนำกำเนิดหงส์เล่ม1


    ในวันที่แฟนบอลลิเวอร์พูลรู้ว่าทีมสามารถโน้มน้าวให้ ทอม วัตสัน เข้ามาเป็นกุนซือในแอนฟิลด์ได้เมื่อปี 1896 ทุกคนไชโยโห่ร้องเพราะความหวังจะเห็นทีมคว้าแชมป์มีโอกาสเป็นจริง

    คล้ายกับวันที่เดอะค็อปปรีดาปราโมทย์ตอนที่แต่งตั้ง เจอร์เก้น คล็อปป์ ไหมครับ ความรู้สึกดีใจของเราในตอนนั้น เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อร้อยกว่าปีก่อน

    ผู้รักษาประตูอย่าง อลีสซง เบ็คเกอร์ กับปราการเหล็กอย่าง เฟอร์กิล ฟาน ไดค์ ที่เป็นรากฐานแห่งความมั่นคงต่อยอดสู่ความสำเร็จในวันนี้ ย้อนกลับไปในเวลานั้นถ้าลิเวอร์พูลไม่มี แซม ฮาร์ดี้ อเล็กซ์ ไรส์เบ็ค หรือ เอลิชา สกอตต์ ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้แชมป์มาเชยชมเช่นกัน

    เพียงแค่เราในวันนี้ไม่เคยรู้ หรือแม้เคยเห็นผ่านตาก็อาจไม่สนใจเพราะเป็นเรื่องอดีตนานมาแล้วไม่ได้หมายความว่ามันไม่มีอยู่จริงหรือไร้ความหมาย

    ในทางตรงกันข้าม เรื่องอดีตที่ไม่ได้ชวนให้รู้สึก “อิน” เท่าเรื่องปัจจุบันนั้นสำคัญและน่าศึกษา คล้ายเราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง ได้รู้ที่มาที่ไปของทีมที่เรารัก

    กว่าจะมาเป็นลิเวอร์พูลฟุตบอลคลับในวันนี้ จุดเริ่มต้นของเรามาจากไหน เราผ่านอะไรมาบ้าง และเราคิดอย่างไรในแต่ละช่วงเวลา

    เมื่อได้ขลุกอยู่กับข้อมูลเก่าๆ ทั้งจากหนังสือ นิตยสาร สื่อต่างๆ รวมทั้งเว็บไซต์ทั้งหลายที่นำมาเรียบเรียงประกอบกันเป็นวัตถุดิบและฐานข้อมูลในการผลิตซีรี่ส์ “กำเนิดหงส์” ผมก็ได้พบว่าเรื่องอดีตของลิเวอร์พูลฟุตบอลคลับนั้นโลดโผนโจนทะยานไม่น้อยเลย

จากบทนำกำเนิดหงส์เล่ม1

    มันมีสีสันฉูดฉาดทีเดียวล่ะครับ เริ่มต้นจากการทะเลาะเบาะแว้ง การชิงเหลี่ยมและแตกหัก การชิงดีชิงเด่น และการขวนขวายเพื่อเอาชนะ 

    -มีบันทึกกันเอาไว้ถึงขั้นบทสนทนาในห้องประชุมเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1892 ใครพูดอะไร อารมณ์ร้อนแรงทะลักจุดเดือดขนาดไหน บรรยากาศภายในห้องเป็นอย่างไร ก่อนที่จะได้บทสรุปเป็นมติประวัติศาสตร์ เอฟเวอร์ตันย้ายออกจากสนามแอนฟิลด์ และ จอห์น โฮลดิ้ง ต้องหาทีมฟุตบอลทีมใหม่

-การตัดสินใจเลือกชื่อ Liverpool แทนชื่อ Everton ที่พยายามขโมยมาใช้

-การสร้างทีมลูกหนังขึ้นมาใหม่ของโฮลดิ้งโดย จอห์น แม็คเคนน่า ขุนพลคู่ใจของเขา

-เมอร์ซี่ย์ไซด์ดาร์บี้ครั้งแรก ซูเปอร์สตาร์คนแรก สุดยอดโค้ชผู้ควรจารึกชื่อเป็นตำนานของสโมสรคนแรก

-อกหักในวันสุดท้าย คว้าแชมป์ในวันสุดท้าย ตกชั้น แล้วก็เลื่อนชั้นกลับขึ้นมาเป็นแชมป์

-กระทั่งใครเลยจะรู้ว่าลิเวอร์พูลที่เริ่มต้นจากลีกท้องถิ่นจะโชคดีได้เข้าร่วมฟุตบอลลีกเพราะการถอนตัวของทีมอื่น และได้เลื่อนชั้นขึ้นสู่ดิวิชั่นหนึ่งเป็นครั้งแรกด้วยการชนะทีมที่ในอนาคตจะกลายเป็นคู่ปรับตลอดกาลอย่าง นิวตัน ฮีธ หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

-แล้วใครเลยจะรู้อีกว่า ลิเวอร์พูล กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยร่วมกันสร้างความอับอายให้กับวงการด้วยการล้มบอล

-ทั้งยังเรื่องที่สัมผัสความรู้สึกของผู้คนอีกเล่า อัฒจันทร์ Spion Kop อันยิ่งใหญ่กลับมีที่มาจากความสูญเสียของชาวเมืองลิเวอร์พูล และมันถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดยคอลัมนิสต์คนหนึ่ง

    ทั้งหมดนี้มีอยู่ใน “กำเนิดหงส์” เล่ม 1 ที่วางจำหน่ายแล้วโดย Siamsport หาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป เซเว่นอีเลฟเว่น และช่องทางออนไลน์ทั้งเว็บไซต์ aladinonline แอดไลน์ @aladinonline และแอดไลน์ @siamsportshop ครับ

    สำหรับใครที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์เป็นทุนเดิม ผมเชื่อว่า “กำเนิดหงส์” จะยิ่งทำให้คุณเต็มอิ่มไปกับเรื่องราวของสโมสรแห่งนี้ ใครที่จินตนาการเก่งๆ พาตัวเองย้อนเวลากลับไปในวันที่เสียงเชียร์ปลุกเร้าของแฟนบอลกระหึ่มบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของสวนสาธารณะสแตนลี่ย์ พาร์ค ฝั่งตรงข้ามถนนกับอัฒจันทร์ฝั่งแอนฟิลด์ โร้ดสแตนด์ในปัจจุบันคงจะยิ่งอิ่มเอม มีความสุข

    นี่เป็นเพียงเล่มแรกเท่านั้นเองนะครับในจำนวนซีรี่ส์ 12 เล่ม หรืออาจจะมากกว่านั้น

    ผมรวบรวมข้อมูลที่มี พยายามค้นหารายละเอียดเพิ่มเติม และนำมาเรียบเรียงกลั่นกรองเป็นเนื้อหาที่ละเอียดครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    กระทั่งในยุคที่ย้อนกลับไปร้อยกว่าปีก่อน ผมก็ได้พบว่าข้อมูลมีให้เลือกใช้มากมายมหาศาล แม้ในบางเรื่องที่อยากจะรู้แต่ไม่สามารถหาได้จริงๆ ก็เถอะ มันยังมีข้อมูลอื่นๆ ให้หยิบมาใช้ได้อีกเยอะ

    ความจริงแล้ว กำเนิดหงส์ เล่ม 1 นี้ผมวางช่วงเวลาเอาไว้ว่าจะเป็นเรื่องราวของลิเวอร์พูลตั้งแต่วันก่อตั้งในปี 1892 ไปจนถึงปี 1959 ที่ บิลล์ แชงค์ลี่ย์ ก้าวเข้ามาสู่แอนฟิลด์

    ตัดจบที่ตรงนั้นน่าจะสวยงาม พอเล่ม 2 ก็เข้าสู่ยุคของแชงค์ลี่ย์ที่ย่อมจะเป็นเนื้อหาเข้มข้นขึ้นและทันการรับรู้ของแฟนบอลมากขึ้น อาจจะแยกเป็น 2 เล่มก็ได้

    แต่เมื่อเขียนออกมาแล้วจริงๆ ผมพบว่าเนื้อหาในช่วงเกือบ 70 ปีแรกของสโมสรตั้งแต่ 1892 ถึง 1959 นั้นก็มีเรื่องที่น่าเก็บบันทึกเอาไว้ไม่น้อย ทั้งวิธีการ วิธีคิด และการต่อสู้ของสโมสรในแต่ละฤดูกาล

    ที่สำคัญคือผมอยากให้ “กำเนิดหงส์” สามารถเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีให้กับทุกคนในเชิงสถิติและประวัติศาสตร์ อยากรู้เมื่อไหร่ก็หยิบออกมาเปิดดูได้เมื่อนั้น

จากบทนำกำเนิดหงส์เล่ม1

    ในทุกเล่มจึงจะมีรายชื่อและสถิติของนักฟุตบอลลิเวอร์พูล จำนวนเกมที่เล่น จำนวนประตูที่ยิงในแต่ละรายการ การย้ายเข้า-ย้ายออก รวมถึงผลการแข่งขันทุกนัดทุกรายการในแต่ละฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับเล่มนั้นๆ

    อย่างเช่นในเล่มนี้ก็จะมีสถิติแต่ละฤดูกาลตั้งแต่ 1892/93 จนถึง 1922/23 ที่ลิเวอร์พูลป้องกันแชมป์ดิวิชั่นหนึ่งได้เป็นทีมที่ 5 ในประวัติศาสตร์เวลานั้น

    เช่นเดียวกับสถิติและเกียรติประวัติต่างๆ ทั้งทีมและตัวบุคคลซึ่งจะมีอยู่ในทุกเล่ม อัพเดทข้อมูลล่าสุดตามวันที่เขียนเสร็จเล่มนั้นๆ (อย่างในเล่ม 1 นี้เพิ่งจะสิ้นสุดสถิติไม่แพ้ใครในเกมลีกที่แอนฟิลด์เอาไว้ที่ 68 นัด)

    ด้วยเนื้อหาที่พยายามหารายละเอียดของเหตุการณ์ต่างๆ มาเพิ่มเติม บวกกับสถิติและเกียรติประวัติทั้งหลาย ความตั้งใจเดิมที่จะรวบเรื่องราวระหว่างปี 1892 ถึง 1959 เอาไว้ในเล่มเดียวจึงต้องแยกออกเป็น 2 เล่ม

เล่ม 1 คือปี 1892 ถึง 1923 วางจำหน่ายแล้ว

เล่ม 2 คือปี 1923 ถึง 1959 จะวางจำหน่ายในอีกไม่กี่สัปดาห์หลังจากเล่มนี้

    ยุค บิลล์ แชงค์ลี่ย์ ที่เดิมทีวางเอาไว้ว่าเป็นเล่ม 2 จึงต้องขยับไปเป็นเล่ม 3 ซึ่งยังกำหนดไม่ได้ว่าจะวางแผงเมื่อไหร่นะครับ แต่ในเรื่องความเข้มข้นนั้นเชื่อว่าดูจากการรวบรวมข้อมูลในเล่ม 1 และ 2 แล้วน่าจะสนุกไม่น้อยเลย

    คนทำก็สนุกไปด้วยล่ะครับ เหมือนได้เติมไฟในการค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน เราได้รู้จักสโมสรลิเวอร์พูลมากขึ้น คนอ่านก็ได้รู้จักมากขึ้น เก็บสะสมเอาไว้เป็นเหมือนบันทึกแห่งสโมสรฟุตบอลที่เราเชียร์

    มั่นใจว่าในรูปเล่มที่เป็นหนังสือนั้น ซีรี่ส์ “กำเนิดหงส์” นี้ละเอียดและน่าเก็บสะสมเป็นอย่างมาก

    ขอบคุณสำหรับทุกการสนับสนุน แล้วพบกันต่อในเล่มหน้านะครับ

Photo: Adisorn Jackie Piungya

ตังกุย

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร

Add friend ที่ @Siamsport