รักษ์โลก หรือแค่ ลวงโลก? เจาะลึกคำกล่าวอ้าง “ฟุตบอลโลก 2022” จะ เป็นกลางทางคาร์บอน

ฟุตบอลโลก 2022 ที่ กาตาร์ จะ ‘เป็นกลางทางคาร์บอน’ ได้จริงอย่างที่เจ้าภาพและ FIFA อ้างได้หรือไม่ เมื่อทุ่มงบลงทุนสูงครั้งประวัติศาสตร์?

“FIFA World Cup Qatar 2022 จะเป็นบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เป็นกลางทางคาร์บอน” นี่คือคำมั่นสัญญาที่ทางผู้จัดอย่าง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) และ กาตาร์ ให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกเอาไว้เมื่อ 3 ปีก่อน ในฐานะเจ้าภาพบอลโลกชาติแรกที่มาจากตะวันออกกลาง และเป็นประเทศที่เล็กที่สุดที่เคยจัดบอลโลก

ถ้าย้อนไปบอลโลก 4 ปีก่อน หลายคนคงได้รู้จักชื่อเมือง Kaliningrad ของรัสเซีย เพราะนี่คือเมืองที่ตั้งอยู่ไกลโพ้นและโดดเดี่ยวจากแผ่นดินใหญ่รัสเซียไปทางตะวันตกเป็นระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร หรือประมาณจากกรุงเทพเชียงใหม่ ถูกกั้นเอาไว้ด้วยเพื่อนบ้านอย่างลิทัวเนีย โปแลนด์ และเบลารุส 

แล้วถ้าถอยหลังไปอีก 4 ปี บราซิลก็เคยสร้างสนามเพื่อจัดแข่งขันบอลโลกกลางป่าอเมซอน และโดยทั่วไปแล้วการแข่งขันบอลโลกจะถูกจัดขึ้นกระจายไปตามเมืองต่าง ๆ ของประเทศเจ้าภาพ หมายความว่าในบอลโลกครั้งที่ผ่านมาจะต้องมีการเดินทางไกล ๆ เกิดขึ้นไม่มากก็น้อยเพื่อชมการแข่งขันทั้งทัวร์นาเมนต์ 

แต่ในการแข่งขันคราวนี้ กาตาร์ประกาศว่า สนามกีฬาทั้ง 8 แห่ง จะต้องอยู่ภายในรัศมี 50 กิโลเมตรจากใจกลางกรุงโดฮา และเข้าถึงได้ด้วยขนส่งสาธารณะและรถบัสที่จัดเตรียมไว้เพื่อลดปริมาณการเดินทางที่เกิดขึ้น

ตอนนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่ทั้งหน่วยงานรัฐและบริษัทน้อยใหญ่ต่างพากันประกาศความตั้งใจสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) จนแม้แต่การแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งสามารถดึงดูดแฟนบอลเกือบ 3 ล้านคนทั่วโลกให้หลั่งไหลเข้ามาอย่างบอลโลก ก็ยังต้องประกาศความตั้งใจดังกล่าวออกมาเหมือนกัน

นอกจากจัดสนามแข่งขันให้อยู่ใกล้และเข้าถึงได้ผ่านขนส่งสาธารณะ คณะกรรมการจัดการแข่งขันยังเสนอวิธีการอื่น ๆ เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสร้างสนามชั่วคราวจากคอนเทนเนอร์ที่สามารถถอดไปใช้ในประเทศอื่นได้ ให้บริการรถบัสไฟฟ้า ออกแบบอาคารที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ไปจนถึงการใช้ระบบทำความเย็นที่ประหยัดพลังงานกว่าเดิม 40%

FIFA World Cup Qatar 2022 การลงทุนครั้งประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นคำถาม

FIFA ประกาศในรายงานว่า มีการปล่อยคาร์บอนรวม ๆ 3.6 ล้านตัน นับตั้งแต่เริ่มสร้างสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกจนจบการแข่งขัน โดยทางผู้จัดจะทำการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

แต่หากลองย้อนดูงบลงทุนที่แต่ละประเทศใช้ในการจัดบอลโลกครั้งก่อน ๆ จะพบแนวโน้มบางอย่างที่น่าสนใจ 

    • ปี 2002 ลงทุน 7,000 ล้านเหรียญ (ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้)
    • ปี 2006 ลงทุน 4,300 ล้านเหรียญ (เยอรมนี)
    • ปี 2010 ลงทุน 3,600 ล้านเหรียญ (แอฟริกาใต้)
    • ปี 2014 ลงทุน 15,000 ล้านเหรียญ (บราซิล)
    • ปี 2018 ลงทุน 11,600 ล้านเหรียญ (รัสเซีย)
    • ปี 2022 ลงทุน 220,000 ล้านเหรียญ (กาตาร์)

จากการรายงานของสื่อหลายสำนัก นี่คือตัวเลขที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ และยังแพงกว่าฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิลเกือบ 1400% นั่นหมายความว่าน่าจะมีการก่อสร้าง การขนส่ง และปล่อยมลพิษมหาศาล แถมโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ก็เริ่มสร้างมาตั้งแต่ปี 2010 หลังจากได้สิทธิ์จัดบอลโลก แล้วจึงเพิ่งมาประกาศว่าอยากจะจัดงานแบบเป็นกลางทางคาร์บอนในอีก 10 ปีให้หลัง

พอข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดูผิดสังเกต ประกอบกับว่าที่ผ่านมา กาตาร์และคณะผู้จัดถูกตั้งคำถามในประเด็นอื้อฉาวหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาก่อสร้างสนามบอลโลก การแบนปลอกกัปตันทีมแขนสีรุ้งที่เป็นการรณรงค์เรื่องความหลากหลายเชิงสัญลักษณ์ หรือแม้กระทั่งการโดนประธาน FIFA คนเก่าออกมาแฉว่าได้เป็นเจ้าภาพอย่างไม่โปร่งใสโดยมีอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสอย่างนิโคลาส์ ซาร์โกซี เข้ามาเอี่ยว 

  • Budweiser อดขายเบียร์-ลงโฆษณา ในสนามฟุตบอลโลก หลังเจ้าภาพกลับลำนาทีสุดท้าย

ทำให้งานนี้ บรรดาสื่อใหญ่ระดับโลกหลายเจ้า องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ ออกมาตั้งคำถามกับกาตาร์เรื่อง Greenwashing หรือการฟอกเขียวให้คนเชื่อว่าการแข่งขันสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าความเป็นจริงเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง

ซึ่งแม้แต่ดาวเตะอย่าง Morten Thorsby จากสโมสร Union Berlin ในศึกบุนเดสลีกา ก็ยังออกมาลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกถึง FIFA ร่วมกับเพื่อนร่วมอาชีพคนอื่น ๆ เพื่อเรียกร้องให้ FIFA ยกเลิกคำกล่าวอ้างเกินจริงที่ว่าบอลโลกครั้งนี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน

sssกองกลางชาวนอร์เวย์ ของสโมสร Union Berlin

พยายามรักษ์โลกหรือพยายามลวงโลก?

แม้ว่าทางผู้จัดจะพยายามติดป้ายว่าการแข่งขันครั้งนี้ “เป็นกลางทางคาร์บอน” แต่เอาเข้าจริง ในบรรดาสนามแข่งขันทั้งแปด มีถึง 7 แห่ง ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่จากศูนย์ แถมมีระบบปรับอากาศในสนามเสร็จสรรพ และยังต้องสร้างระบบขนส่งทั้งรถไฟใต้ดินและถนน 8 เลนเชื่อมต่อสนาม

ในขณะที่รัสเซีย เจ้าภาพเมื่อ 4 ปีก่อน ก็ยังสร้างสนามใหม่แค่ครึ่งเดียวของทั้งหมดตอนจัดฟุตบอลโลก ยังไม่นับว่าการแข่งขันนี้มีแฟนบอลกว่า 3 ล้านคนที่ต้องเดินทางตลอดการแข่งขัน มีการนำเข้าหญ้าสนามฟุตบอลที่จะต้องเลี้ยงดูด้วยน้ำทะเลกลั่นจืดเป็นหมื่นลิตร ทำให้คำกล่าวอ้างเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนของเจ้าภาพตกอยู่ในคำถาม

Carbon Market Watch (CMW) หน่วยงานไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมที่จับตาในเรื่องตลาดซื้อขายคาร์บอน จะมีบทบาทสำคัญในการเข้ามาทำการศึกษาโปรเจ็กต์ฟุตบอลโลก 2022 และออกรายงานชี้ถึงรอยรั่วในคำกล่าวอ้างของผู้จัด 

โดยหนึ่งในเจ้าหน้าที่ด้านนโยบายขององค์กรออกมาประกาศว่า ฟุตบอลโลก ไม่มีทางเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ แม้จะพยายามแค่ไหนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะสูงแบบมีนัยสำคัญอยู่ดี นี่เป็นธรรมชาติของการแข่งขันที่นำพาแฟนกีฬาจากทั่วโลกมาไว้ที่เดียวกัน”

พยายามแทบตาย ปล่อยคาร์บอนมากกว่าเก่า

ความตลกร้ายอย่างหนึ่งที่ Carbon Market Watch พูดถึงตั้งแต่ในหน้าแรก ๆ ของรายงาน คือการที่ฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งกินเวลาแค่ 45 วัน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 3.6 ล้านตัน มากกว่าบอลโลกครั้งก่อนกว่า 40% ทั้ง ๆ ที่บอกว่าใช้นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมหลายอย่างในการก่อสร้างและการจัดงาน แถมยังมากกว่าที่ประเทศเล็ก ๆ อย่างไอซ์แลนด์ปล่อยออกมาในเวลา 1 ปี (3 ล้านตัน)

ปัญหาที่ CWM ชี้ให้เห็นคือ ทั้ง ๆ ที่ตอนนี้เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมไปไกลกว่าเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ผลลัพธ์คือเจ้าภาพก่อมลพิษมากกว่าเดิมมหาศาล แล้วค่อยใช้เงินแก้ปัญหาซื้อคาร์บอนเครดิตตามหลัง ทั้ง ๆ ที่สามารถจัดการแข่งขันได้ยั่งยืนกว่านี้ด้วยการไม่สร้างสนามใหม่จำนวนมากอย่างที่ทำอยู่ หรือกระทั่งว่า FIFA สามารถเลือกเจ้าภาพที่พร้อมกว่านี้ได้ มิหนำซ้ำยังหยิบเอาป้ายความยั่งยืนมาใช้ทำการตลาดอีกต่างหาก

ประเมินผลกระทบต่ำเกินจริง

ความน่ากังวลไม่ได้หยุดอยู่แค่ว่าบอลโลกปีนี้ปล่อยมลพิษมากกว่าเมื่อก่อน เพราะตัวเลขดังกล่าวที่ FIFA ยกมา ดูเหมือนจะน้อยกว่าความเป็นจริงด้วยซ้ำ โดย FIFA ระบุในรายงานแสดงผลกระทบของตัวเองว่า ปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาในการแข่งขันปริมาณ 3.6 ล้านตัน จะมีการซื้อเครดิตคาร์บอนมาชดเชยทั้งหมด เพื่อให้รวม ๆ แล้วการแข่งขันนี้ปล่อยคาร์บอนสุทธิที่ศูนย์ 

แต่เมื่อ CMW เข้าไปศึกษาจากหลักฐานที่มีอยู่ ก็ได้พบว่าจริง ๆ แล้ว การแข่งขันครั้งนี้อาจจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 5.2 ล้านตัน ‘สูงกว่าปริมาณที่ผู้จัดจะซื้อเครดิตมาชดเชย’ ส่วน Mike Berners-Lee ผู้เชี่ยวชาญจาก Lancaster University บอกว่า FIFA ประเมินต่ำไปโข เพราะจากการศึกษาเจาะลึกลงไป การแข่งขันอาจปล่อยก๊าซได้มากกว่า 10 ล้านตันเลยทีเดียว

ข้อเท็จจริงตรงนี้ทำให้ Gilles Dufrasne หนึ่งให้ผู้จัดทำรายงานของ CMW ออกมาโจมตี FIFA และผู้จัดว่า “คำมั่นสัญญาเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นไม่ควรค่าให้เชื่ออย่างเด็ดขาด นี่คือตัวอย่างที่โจ่งแจ้งของการลวงโลกว่ารักษ์โลก (greenwashing)”

สร้างมาตรฐานมารับรองผู้ขายเครดิตคาร์บอนเอง

ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ เจ้าภาพอาจจะชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยไปได้ไม่หมดอยู่ดี ต่อให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกแค่ 3.6 ล้านตันตามที่อ้างก็ตาม เพราะเมื่อ CMW เข้าไปดูว่าผู้จัดฟุตบอลโลกซื้อเครดิตคาร์บอนจากไหน ก็พบว่ามีการระบุเอาไว้ในรายงานว่า จะต้องซื้อเครดิตคาร์บอนกว่าครึ่งจากโครงการที่ถูกรับรองโดยมาตรฐานที่ผู้จัดตั้งขึ้นมาเอง ไม่ใช่มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล ซึ่งพอเจาะลงไปก็พบว่าหน่วยงานนี้มีเครดิตคาร์บอนไม่พอขาย

ปกติแล้ว หากเราทำโครงการปลูกป่าหรืออนุรักษ์ป่าไม้ที่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ เราก็สามารถเปลี่ยนเป็นเครดิตโดยให้หน่วยงานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เช่น Gold Standard หรือ Verra ให้เข้ามารับรอง หากช่วยดูดซับได้ 1 ตัน ก็จะได้รับ 1 เครดิต ที่สามารถนำไปขายให้ผู้ปล่อยมลพิษ เช่น ผู้จัดฟุตบอลโลก หรือ ธุรกิจต่าง ๆ เพื่อชดเชยคาร์บอนได้

แต่สิ่งที่กาตาร์ทำคือ ตั้งมาตรฐาน Global Carbon Council (GCC) ขึ้นมาเอง เพื่อรับรองเครดิตให้กับโครงการในภูมิภาคของตนโดยเฉพาะ โดยมีองค์การเพื่อการวิจัยและพัฒนาแห่งภูมิภาคอ่าว (GORD) เป็นผู้ดูแล ประเด็นคือหน่วยงานนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของ Qatari Diar บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของกาตาร์เป็นเจ้าของ

การกระทำนี้ย้อนแย้งหลักการที่ปกติแล้วจะต้องให้บุคคลที่ 3 เข้ามาเป็นผู้รับรองมาตรฐานของโปรเจ็กต์ผลิตเครดิตคาร์บอนเพื่อให้มีความโปร่งใสในการรับรอง เพราะผู้รับรองเครดิตกับเกี่ยวข้องกับผู้ซื้อเครดิตโดยตรง จึงไม่แปลกที่กาตาร์ต้องเจอกับคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือ แถมที่ผ่านมา กาตาร์ก็มีประวัติด้านสิ่งแวดล้อมไม่ดี มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหัวมากที่สุดในโลกอันดับ 2 และยังมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจก๊าซและน้ำมัน

FIFA ระบุในรายงานเองว่าจะซื้อเครดิตของ GCC อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ซึ่งก็คือ 1.8 ล้านเครดิต (จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 3.6 ล้านตัน) ด้วยเหตุผลว่าจะพัฒนาภูมิภาคอ่าวซึ่งประกอบด้วย กาตาร์ บาห์เรน โอมาน ซาอุดีอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ให้ยั่งยืน

แต่เมื่อ CMW เข้าไปเช็กในเว็บไซต์ของ GCC กลับพบว่า มีคาร์บอนเครดิตจำหน่ายเพียง 550,000 เครดิต เท่านั้น และที่เป็นประเด็นเข้าไปอีกก็คือเครดิตคาร์บอนจำนวนไม่น้อยได้มาจากโครงการด้านพลังงานสะอาด

เพราะ ‘โครงการด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่’ เป็นโปรเจ็กต์ที่มาตรฐานสากลอย่าง Verra และ Gold Standard ไม่รับรองเครดิตให้ เนื่องจากปัจจุบันแหล่งพลังงานหมุนเวียนมีจำนวนมากพอจนไม่ได้อยู่ในจุดที่จะลงทุนแล้วเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเท่าโครงการอื่น แถมโครงการดังกล่าวไม่ได้ช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่มีอยู่ได้โดยตรงเหมือนโครงการอนุรักษ์ป่าหรือโครงการดักจับก๊าซทิ้ง จึงเป็นคำถามว่าเอาเข้าจริงแล้วการชดเชยคาร์บอนด้วยเครดิตของ GCC สามารถชดเชยมลพิษที่ก่อได้จริงหรือไม่

ก๊าซเรือนกระจก มาจากการเดินทางของคนดูมากที่สุด จริงหรือ?

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ FIFA ดูน้อยกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญประเมิน คือเรื่องของก๊าซที่ปล่อยออกมาจากการก่อสร้างสนามกีฬาใหม่ 7 สนาม 

เดิมที FIFA เขียนรายงานว่า กิจกรรมที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดมาจากแฟนบอล โดยจะมาจากการเดินทาง 52% (1.76 ล้านตัน) และที่พักอาศัย 20% (7.3 แสนตัน) ส่วนกิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การก่อสร้างสนามถาวร 18% (6.5 แสนตัน) และการก่อสร้างสนามชั่วคราว 4.5% (1.6 แสนตัน) 

แต่ปัญหาคือ CMW บอกว่าก๊าซเรือนกระจกจากการก่อสร้างสนามถาวรอาจสูงถึง 1.6 ล้านตัน พอ ๆ กับมลพิษจากการเดินทาง ผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่า การกระทำของ FIFA เป็นเหมือนเป็นการโยนความผิดให้ผู้เข้าชมกีฬา

มลพิษมหาศาล จากสนามใหม่ที่อาจไม่มีคนใช้

ปัญหาเรื่องสนามไม่ได้จบอยู่แค่มลพิษตอนสร้าง แต่การใช้งานหลังการสร้างก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะต้องไม่ลืมว่ากาตาร์มีประชากรอยู่ราว 3 ล้านคนเท่านั้น แถมก่อนได้สิทธิจัดการแข่งขัน กาตาร์มีสนามขนาดใหญ่ระดับเดียวกับที่สร้างใหม่ขึ้นมาแค่ 1 สนาม เลยเกิดข้อสงสัยว่าสนามใหม่อีก 7 สนาม จะใช้งานคุ้มสร้างหรือไม่ สมกับที่ชูธงเรื่องความยั่งยืนหรือเปล่า

ผู้จัดมีการวางแผนกันว่าหลังจากบอลโลกจะมีการนำสนามไปใช้หลาย ๆ แบบ เช่น เปลี่ยนเป็นคอมมูนิตี้ด้านกีฬา ใช้เป็นสนามเหย้าใหม่ของทีมกีฬาหลาย ๆ ทีม หรือแม้แต่ถอดเอาไปใช้ในประเทศอื่นในกรณีของ Stadium 974 สนามชั่วคราวที่สร้างจากตู้คอนเทนเนอร์

Stadium 974

ในบราซิล สนามกีฬาหลายแห่งที่ถูกสร้างเพื่อฟุตบอลโลก 2014 ถูกใช้งานแบบไม่คุ้มงบสร้าง ถึงขนาดที่บางสนามก็ถูกเอาไปจอดรถบัสด้วยซ้ำ กรณีเดียวกันนี้เกิดขึ้นในแอฟริกาใต้ เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2010 เช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ กาตาร์ก็เคยเจอกรณีสนามร้างหลังโดยตรง เพราะในปี 2015 กาตาร์เคยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ World Handball Championship และได้ทุ่มงบสร้างสนาม Lusail Iconic Stadium ขนาด 15,000 ที่นั่ง แต่หลังจากนั้นสนามก็ถูกใช้งานแบบเต็มที่น้อยครั้ง (ก่อนที่จะกลายมาเป็นหนึ่งในสนามแข่งขันฟุตบอลโลก 2022)

Simon Chadwick ศาสตราจารย์ด้านภูมิรัฐศาสตร์โลกกีฬาจาก SKEMA Businss School ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า แม้แต่ Al Sadd SC หนึ่งในสโมสรฟุตบอลที่คนกาตาร์นิยมมากที่สุด มีสนามเหย้าที่จุคนได้ 15,000 คน ก็มีผู้เข้าชมแมตช์การแข่งขันไม่เกิน 1,000 คน เป็นปกติ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสนามจำนวนมากที่สร้างขึ้นสำหรับบอลโลกถึงไม่ก่อประโยชน์ และยังสร้างโทษแก่สิ่งแวดล้อม

ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ว่า สิ่งก่อสร้างจำนวนมากถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้งานในการแข่งขันฟุตบอลโลกแค่ครั้งเดียว ส่วนการใช้หลังจากนั้นก็เหมือนแค่วางแผนไปพอเป็นพิธี ขัดแย้งกับความยั่งยืนที่ FIFA พยายามโปรโมตอย่างหนัก

ความย้อนแย้งอีกเรื่องของสนามแข่งขันคือการที่สนามชั่วคราวก่อมลพิษในการสร้างมากกว่าสนามถาวร โดยมีข้อมูลในรายงานของ CMW ว่า การสร้างสนามถาวรก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกที่ 270,000 ตัน ในขณะที่การสร้าง Stadium 974 ที่เป็นสนามชั่วคราวกลับก่อมลพิษถึง 438,000 ตัน ซึ่งทำให้ข้อหาที่ว่าผู้จัด ‘ลวงโลกว่ารักษ์โลก’ สนเปลือกนอกมากกว่าผลกระทบจริง ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

กีฬายังเป็นวัฒนธรรมอันเข้มข้น แล้วตรงไหนคือทางออก?

ถึงที่สุดแล้ว Simon Chadwick มองว่า ถ้าอยากลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้จริง ๆ ในการแข่งขันที่ใหญ่ขนาดนี้ ผู้จัดจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ตอนแรก แต่สิ่งที่ FIFA และประเทศเจ้าภาพทำคือสร้างไปก่อน แล้วพอคิดอยากจะรักษ์โลก ก็ค่อยหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองตามหลัง เห็นได้ชัดจากการสร้างสนามจำนวนมากแล้วค่อยคิดว่าจะเอาไปทำอะไรต่อทีหลัง ซึ่งสุดท้ายก็ใช้งานไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป 

เขาวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาว่า “ผ่านไป 10 ปีหลังจากได้สิทธิ์จัดการแข่งขัน (แล้วจึงประกาศว่าจะเป็นกลางทางคาร์บอน) ออกจะช้าไปหน่อยสำหรับการจัดการแข่งขันที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม”

CMW หน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการทำการศึกษาครั้งนี้ ให้คำแนะนำสำหรับการจัดงานขนาดใหญ่ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ก่อนจะพึ่งพาการชดเชยคาร์บอน โดยไม่ต้องเคลมว่าเป็นกลางทางคาร์บอน เพราะ “คำกล่าวอ้างเรื่องนี้มักจะเป็นที่ถกเถียงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในงานใหญ่ ๆ ที่มีการสร้างสนามจำนวนมากและอาศัยการชดเชยคาร์บอนอย่างหนัก (ในการสร้างความเป็นกลาง) อย่างฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์”

เอาเข้าจริงแล้วคอนเซ็ปต์เรื่อง Carbon Offset ก็ยังตกอยู่ในคำถามด้วยซ้ำว่าเป็นการลดคาร์บอนแค่ในกระดาษ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกจริง ๆ คือ บริษัทหนึ่งปล่อยคาร์บอนออกมาแล้วไปซื้อเครดิตจากโปรเจ็กต์ที่จะ ‘ค่อย ๆ ดูดซับคาร์บอนไปเรื่อย ๆ ในอนาคต’’ แม้ในกระดาษ คาร์บอนอาจจะเท่ากับ 0 แต่ในโลกของความเป็นจริง ก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง ๆ ก่อนจะถูกดูดซับ

ก่อนหน้านี้ งานโอลิมปิก ปี 2020 ที่โตเกียว ก็เคยเจอข้อวิจารณ์แบบเดียวกับฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 4.38 ล้านตัน ทั้ง ๆ ที่อ้างว่าจะเป็นการแข่งขันที่รักษ์โลกที่สุดในประวัติศาสตร์โดยไม่แม้แต่จะแบนแก้วพลาสติกในสนาม

ต่อมา โอลิมปิกส์จึงได้วางแนวทางที่สร้างผลกระทบน้อยลงจากการจัดงาน และออกมาบอกว่า ในอนาคตจะจัดงานในประเทศที่มีสนามและโครงสร้างพื้นฐานพร้อมอยู่แล้ว เช่น ในประเทศที่เคยจัดการแข่งขันกีฬาใหญ่มาก่อน และจะไม่ผลักดันให้เจ้าภาพสร้างสนามที่ไม่มีแผนใช้งานที่ชัดเจนในอนาคต 

อย่างในปีนี้ โอลิมปิกก็เลือกจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวในปักกิ่ง ซึ่งเป็นเมืองที่เคยจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนมาก่อนในปี 2008 ส่วนปี 2026 งานโอลิมปิกในเมืองมิลานและคอร์ติน่าจะมีการสร้างสนามเพิ่มแค่ 1 สนาม และจะไม่สร้างสนามกีฬาเพิ่มเติมอีกในการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอสแองเจลิสในปี 2028

สรุปแล้ว สิ่งที่จะมีผลใหญ่หลวงในการสร้างความยั่งยืนคือการลดขนาดการแข่งขันและสร้างสนามใหม่ให้น้อยที่สุดมากที่สุด ตรงกับคำแถลงของหนึ่งในผู้เขียนรายงานของ Carbon Market Watch ที่ว่า “สนามที่ยิ่งยืนที่สุดก็คือสนามที่ยังไม่ได้สร้าง ผู้จัดงานกีฬานานาชาติจะต้องกระหายที่จะใช้ของเดิมที่มีอยู่ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ท้ายที่สุด กรณีการลวงโลกว่ารักษ์โลกของ ฟุตบอลโลกปี 2022 ที่กาตาร์ แสดงให้เห็นว่ามีวิธีการไม่น้อยที่ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถ ‘ฟอกเขียว’ การกระทำของตัวเองได้ จึงเป็นบทเรียนให้กับเราในฐานะผู้บริโภคและพลเมืองของสังคมในการติดตามและตระหนักอยู่เสมอต่อคำว่า Net-Zero หรือ คำว่ารักษ์โลกจอมปลอม ที่สุดท้ายแล้ว นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์จริง ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นทรัพยากรส่วนร่วมของสังคมอย่างแยบยล

อ่านรายงานเพิ่มเติมได้ที่นี่

  • FIFA: Greenhouse gas accounting report FIFA World Cup 2022
  • Carbon Market Watch: Yellow card for 2022 FIFA World Cup’s carbon neutrality claim

ที่มา – BBC, The Guardian, Bloomberg, DW(1)(2), France24, Fast Company, WIRED, Dezeen (1)(2), Front Office Sport, PIER

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา