CHELSKI WAY – สยามกีฬา


CHELSKI WAY

นับตั้งแต่โคตรมหาเศรษฐีชาวรัสเซียอย่าง โรมัน อบราโมวิช หรือที่สื่อมวลชนชาวไทยนิยมเรียกเขาสั้นๆ ว่า “เสี่ยหมี” เข้ามาควบคุมกิจการสโมสรฟุตบอล เชลซี เมื่อเดือนมิถุนายน 2003

    เชลซี ก็แปลงร่างเป็นทีมระดับพญายักษ์ของอังกฤษที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

แชมป์พรีเมียร์ลีก 5 สมัย

แชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2 สมัย

แชมป์ ยูโรปา ลีก 2 สมัย

แชมป์ เอฟเอ คัพ 5 สมัย

แชมป์ ลีก คัพ 3 สมัย

    เกียรติประวัติและความสำเร็จเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจาก โรมัน อบราโมวิช สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าของ ผู้จัดการทีม 3 คนเสกให้พวกเขาเป็นแชมป์ลีกสูงสุดของอังกฤษ โชเซ่ มูรินโญ่ (3 สมัย), คาร์โล อันเชล็อตติ และอันโตนิโอ คอนเต้

CHELSKI WAY


ผู้จัดการทีม 2 คนเสกให้พวกเขาเป็นเจ้ายุโรป  โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ กับ โธมัส ทูเคิ่ล สิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างคือทั้งคู่เข้ามาคุมทีมในระหว่างฤดูกาล) และผู้จัดการทีม 2 คนเสกให้พวกเขาเป็นแชมป์ถ้วยเล็กยุโรป  ราฟาเอล เบนิเตซ กับ เมาริซิโอ ซาร์รี่

     ก่อน “ซูเปอร์เสี่ย” จะเข้ามาเป็นเจ้าของสโมสรแห่ง สแตมฟอร์ด บริดจ์ – เชลซี เป็นเพียงทีมที่โด่งดังในระดับหนึ่งเท่านั้น ความนิยมทั้งในอังกฤษ และทั่วโลกเป็นรองทีมในราชธานีเดียวกันอย่าง อาร์เซน่อล และ สเปอร์ส 

    เพราะนับแต่ก่อตั้งสโมสร เมื่อปี 1905 เชลซี เคยได้แชมป์ลีกสูงสุดเพียงครั้งเดียว เมื่อปี 1955 แชมป์ เอฟเอ คัพ 3 สมัย แชมป์ ลีก คัพ 2 สมัย และแชมป์ คัพ วินเนอร์ส คัพ 2 สมัย

CHELSKI WAY

    อันที่จริง เชลซี พยายามสร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นทีมระดับท็อปของเมืองหลวงลูกหนังตั้งแต่ในยุคที่มี เคน เบตส์ และ แม็ทธิว ฮาร์ดิ้ง เป็นเจ้าของทีมแล้ว

    พวกเขาเป็นสโมสรแรกๆ ในอังกฤษที่คว้าตัวดาวดังชาวต่างชาติจาก กัลโช่ เซเรีย อา มาเสริมทัพ เพื่อต่อกรกับพวกขั้วอำนาจเก่าอย่าง แมนฯ ยูไนเต็ด, อาร์เซน่อล และลิเวอร์พูล

    ย้อนกลับไปในยุค 90’s ณ ขณะโน้น สมรภูมิแข้งที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมดาราอันดับหนึ่งของโลกคือ กัลโช่ เซเรีย อา ดาวดังจากทั่วทุกสารทิศต่างไปชุมนุมกันที่ อิตาลี

    ตอนนั้น พรีเมียร์ลีกอาจเป็นฟุตอลลีกที่ได้รับความนิยมมากกว่าก็จริง ด้วยความบันเทิงเหมือนดูหนังแอคชั่นที่ยิงกันสนั่นจอ แต่ถ้าพูดถึงศูนย์รวมนักเตะระดับ “มหาดารา” มันต้อง กัลโช่ เซเรีย อา เท่านั้น

    ขอบอกว่า เชลซี นี่แหละเป็นผู้เปิดตลาดในดึงสตาร์ดังจากลีกอื่น แต่ในยุคแรกของควาพยายาม ดาวเตะต่างชาติส่วนใหญ่ใน กัลโช่ ที่ยอมเลื้ดยตูดมาค้าแข้งในลีกที่ฮาร์ดคอร์ของอังกฤษ มักจะอยู่ในช่วง “ขาลง” แล้ว

    ยกตัวอย่าง รุด กุลลิท, จานลูก้า วิอัลลี่, จานฟรังโก้ โซล่า หรือ ฟาบริซิโอ ราวาเนลลี่ พวกเขาสับตีนมาที่เหมืองหลวงแห่งลูกหนังหลังพุ่งถึงจุดสูงสุดของตัวเองไปแล้ว ก่อนที่พรีเมียร์ลีกจะสถาปนาตัวเองเป็นศูนย์รวมดาวดังอันดับหนึ่งในเมืองมนุษย์ 


    ขณะในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของ แมนฯ ยูไนเต็ด พวกเขาคว้าแชมป์ใหญ่ๆ อย่างพรีเมียร์ลีกได้ 5 สมัย และแชมป์ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก อีก 1 สมัย จากผู้จัดการทีมเพียงคนเดียวเท่านั้นคือ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

CHELSKI WAY

    มองเห็นความแตกต่างของคำว่า “วิถี” ของ เชลซี กับ แมนฯ ยูไนเต็ด ไหมครับ ???

    วิถีของปีศาจแดงคือวิถีที่ถูกปลูกฝังโดยผู้จัดการทีมเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น คือ เซอร์ แมตต์ บัสบี้ กับ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน 

    ทั้งคู่สร้างทีมด้วยผู้เล่นที่เป็นหยดอสุจิของท่านซาตานผสมผสานกับดาวดังที่กระชากตัวเข้ามา เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนในระยะยาวเกิน 20 ปีจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน (มากเกินไป)

    ต่อเมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งผู้จัดการทีม มันจึงเกิดอาการ “ซินโดรม” คือใครก็เสกให้ แมนฯ ยูไนเต็ด พุ่งชนความสำเร็จในระดับสูงไม่ได้จนกว่าจะเจอบรมกุนซืออย่างพ่อปู่บัสบี้และคุณป๋าเฟอร์กี้อีกครั้ง

    ส่วนวิถีของ เชลซี ที่ โรมัน อบราโมวิช เป็นผู้ปลูกฝังนั้นเป็นอีกอย่าง ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นวิถีแบบ “เถ้าแก่” ซะมากกว่า วิถีของ “เสี่ยหมี” นั้นง่ายๆ ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนเพื่อนทรยศอะไร

    ขั้นแรกทุ่มเงินซื้อตัวผู้เล่นระดับดาวดัง และดึงผู้จัดการทีมดีๆ มาร่วมทีม 

    ถ้าพุ่งชนความล้มเหลว (ในสายตาของผู้เป็นเถ้าแก่) ก็เปลี่ยนผู้จัดการทีมใหม่ แล้วก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จนั่นแหละ

    ค่าเฉลี่ยของอายุผู้จัดการทีมจึงตกอยู่ที่ประมาณ 2 ปี โดยวนเวียนอยู่กับการแต่งตั้ง ปลดออก แต่งตั้ง ปลดออก ซ้ำไปซ้ำมา แต่สามารถช่วยให้ประสบความสำเร็จได้

    เชลซี มีขุมกำลังที่อุดมด้วยคุณภาพจากความมั่งคั่งของ โรมัน อบราโมวิช ขณะที่ตำแหน่งผู้จัดการทีมก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

    สไตล์การเล่นก็ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าจะเป็นแบบไหน สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามหัวเรือใหญ่ที่มาเป็นกุนซือนั่นแหละ ชัดเจนหน่อยก็ตอน โชเซ่ มูรินโญ่ เข้ามาเป็นผู้จัดการทีม

    ช่วงแรกของการสร้างอาณาจักรเชลสกี้ เจ้าของสโมสรใช้ความร่ำรวยทะลุชั้นบรรยากาศโลกของตัวเองกว้านซื้อผู้เล่นค่าตัวแพงพร้อมประเคนค่าเหนื่อยมหาศาล 

    ก่อนจะค่อยๆ ปรับตัวจนกลายเป็นทีมที่ร่ำรวยด้วยผลประกอบการของตัวเองในเวลาต่อมา ด้วยทีมบริหารและจัดการที่เก่งฉกาจเรื่องการตลาดจนนำมาซึ่งความสมดุลย์ของระบบ  

    นอกจากนี้ยังสร้างรากฐานของทีมจากระบบเยาวชนควบคู่กันไป

    กระนั้นอำนาจสูงสุดยังคงขึ้นอยู่กับเจ้าของสโมสรแต่เพียงผู้เดียว และนั่นหมายถึงความเด็ดขาด การตัดสินใจของ เชลซี จึงกระชับและฉับไว ไม่เยิ่นเย้อและยืดยาดเป็นสนิมสร้อย หลังจากคว้าแชมป์ยุโรปอย่างยิ่งใหญ่ 

CHELSKI WAY

    เป้าหมายต่อไปของ เชลซี คือกลับมาจ้องมองแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้งพร้อมโขยกบั้นเด้าด้วยความเร็ว 80 ยิกต่อนาที 

    แชมป์ถ้วยใหญ่ยุโรปขบวนล่าสุดแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีขุมกำลังที่แข็งแกร่ง ระบบการเล่นที่ยอดเยี่ยม และกุนซือระดับอ๋อง จุดอ่อนจากเมื่อฤดูกาลก่อนคือกองหน้าตัวเป้าอย่าง ติโม แวร์เนอร์ ที่ผลิตประตูได้น้อยไปหน่อย

    ดังนั้นตำแหน่งที่พวกเขาต้องการคือหัวหอกตัวเป้าที่ถล่มตาข่ายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำเหมือนที่เคยมี ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา หรือ ดิเอโก้ คอสต้า ปัญหาคือมันดันมีอาถรรพย์ของกองหน้าค่าตัวแพงที่ซื้อมาแล้วมักเล่นไม่ค่อยออก 

    อังเดร เชฟเชนโก้ กับ เฟร์นานโด ตอร์เรส คือตัวอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ โดยมี ติโม แวร์เนอร์ เป็นหลักฐานรายล่าสุด วิธีแก้ง่ายๆ ตามแบบฉบับ เชลซี ก็คือเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เหมือนเปลี่ยนผู้จัดการทีม

    ถ้าไม่นับ เออร์ลิ่ง เบราต์ ฮาแลนด์ และ แฮร์รี่ เคน ที่หลายทีมจับจ้อง กองหน้าตีนพระกาฬในนาทีนี้ก็คือเด็กเก่าของพวกเขาอย่าง โรเมลู ลูกากู นี่แหละ

    หลังแปลงร่างเป็นตู้เย็นในเครื่องแบบปีศาจแดง “พี่ตู้” มีอันต้องระเห็จไปอยู่ประเทศอื่น แล้วยิงกระจายจนช่วยให้ทีมงูใหญ่พุ่งเข้าชนและวิ่งเข้าใส่ความสำเร็จระดับ “สคูเด๊ตโต้”

    รายงานข่าวกล่าวว่า เชลซี จะ “เอานะ” โรเมลู ลูกากู โดยยื่นข้อเสนอเป็นเงินมากกว่า 100 ล้านปอนด์ เรียนตามตรงว่าค่าตัวมหาศาลขนาดนี้ย่อมทำให้ อินเตอร์ มิลาน หวั่นไหวมิใช่น้อย

    แถมท้าทายมากสำหรับ “พี่ตู้” ที่จะกลับมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในพรีเมียร์ลีก ดูทรงแล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร โรเมลู ลูกากู จะคัมแบ็คกลับมาที่ เดอะ บริดจ์ และพรีเมียร์ลีกอีกครั้ง

    อืมมมมมมม…ว่าแล้วลองจินตนาการถึงผังการเล่นของ เชลซี และฤดูกาลใหม่ดูนะครับ 

CHELSKI WAY

เซ็นเตอร์แบ็ค 3 ตัว ชูลส์ คุนเด้ – ติอาโก้ ซิลวา – อันโตนิโอ รือดิเกอร์

วิงแบ็ค 2 ข้างอย่าง รีซ เจมส์ กับ เบน ชิลเวลล์

มิดฟิลด์ดตัวกลาง 2 คน เอ็นโกโล่ ก็องเต้ กับ จอร์จินโญ่

หน้า 3 ตัว ไค ฮาแวร์ตซ์ – โรเมลู ลูกากู – เมสัน เมาต์

    แล้วไหนจะอะไหล่ราคาแพงอย่าง ฮาคิม ซีเย็ก, คริสเตียน พูลิซิช และติโม แวร์เนอร์ หากปรับระบบเป็น 4-2-3-1 หรือ 4-3-3 ก็แค่เอาเซ็นเตอร์แบ็ค ออกไปสักคนแล้วขยับ เมสัน เมาต์ เข้ามาตรงกลางพลางใส่ ติโม แวร์เนอร์, คริสเตียน พูลิซิช หรือ ฮาคิม ซีเย็ก คนใดคนหนึ่งเป็นกองหน้ากึ่งปีก 

    สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ โธมัส ทูเคิ่ล จะได้ทำงานแบบเต็มตัวตั้งแต่เริ่มฤดูกาลพร้อมด้วยขุมพลังที่เพียบพูนด้วยเสน่ห์และแสนดี

    จริงๆ แล้วจะว่าไป วิถีของ ‘เสี่ยหมี’ ก็ไม่ต่างจากวิถีของปีศาจแดงสักเท่าไหร่หรอก คือถูกกำหนดแนวทางโดยคนเพียงคนเดียวแบบผูกขาด

    แตกต่างกันตรงที่ของ แมนฯ ยูไนเต็ด คือกุนซือผู้ยิ่งใหญ่ ส่วนของ เชลซี คือเจ้าของทีมผู้ยิ่งใหญ่

บอ.บู๋

อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสาร

Add friend ที่ @Siamsport

เพิ่มเพื่อน